สหรัฐเล็งสกัด 'AI จีน' รอบใหม่ คราวนี้จ่อคว่ำบาตรเครือข่ายชิป 'หัวเว่ย'

สหรัฐเล็งสกัด 'AI จีน' รอบใหม่ คราวนี้จ่อคว่ำบาตรเครือข่ายชิป 'หัวเว่ย'

สื่อนอกชี้รัฐบาลสหรัฐเตรียมขึ้นบัญชีดำเครือข่ายบริษัทผลิตชิปของ 'หัวเว่ย' พร้อมกดดันชาติพันธมิตรร่วมแบน หวังเตะตัดขาความก้าวหน้าด้าน 'AI' ของจีน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องในวันนี้ (20 มี.ค.) ว่า รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กำลังพิจารณาเตรียม "ขึ้นบัญชีดำ" บริษัทเซมิคอนดักเตอร์จีนหลายแห่งที่เชื่อมโยงกับบริษัท "หัวเว่ย เทคโนโลยี่" (Huawei Technologies) หลังจากที่หัวเว่ยมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้ว
 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถือเป็นการยกระดับความเข้มข้นในการจำกัดและลดทอนความพยายามด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ด้วยการเพิ่มแรงกดดันต่อหัวเว่ย ที่แม้จะเผชิญมาตรการคว่ำบาตมานานหลายปี แต่ก็ยังสามารถกลับมาผลิต "ชิปสมาร์ตโฟน" ได้อย่างเหนือความคาดหมายของสหรัฐในปีที่แล้วกับ Huawei Mate 60

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าบริษัทจีนที่อาจได้รับผลกระทบคือ บริษัทที่สมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (SIA) ระบุไว้ในรายงานก่อนหน้านี้ว่าเป็นโรงงานผลิตชิปที่หัวเว่ยเข้าซื้อหรือกำลังสร้างขึ้น และอาจถูกสหรัฐขึ้นบัญชีดำ อาทิ ชิงเต่า ซือเอิน (Qingdao Si'En), สเวย์ชัวร์ (SwaySure) และเซินเจิ้น เผินซุน เทคโนโลยี (Shenzhen Pensun Technology) 

นอกจากนี้ รัฐบาลสหรัฐกำลังชั่งใจว่าจะคว่ำบาตรบริษัท ฉางซิน เมมโมรี เทคโนโลยีส์ (ChangXin Memory Technologies) ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำชั้นนำของจีนอีกด้วย

นอกจากบริษัทที่ผลิตชิปให้โดยตรงแล้ว สหรัฐยังอาจคว่ำบาตรบริษัทที่ให้ความช่วยเหลือหัวเว่ยทางอ้อม เช่น บริษัทเซินเจิ้น เผิงจิ้น ไฮเทค (Shenzhen Pengjin High-Tech) และบริษัทซีแคเรียร์ (SiCarrier) ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอาจช่วยให้หัวเว่ยเข้าถึงเครื่องมือในการผลิตชิปได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะดำเนินการหรือไม่

สหรัฐเล็งสกัด \'AI จีน\' รอบใหม่ คราวนี้จ่อคว่ำบาตรเครือข่ายชิป \'หัวเว่ย\'

'ขึ้นบัญชีดำ' อาวุธเด็ดปีกของสหรัฐ

แหล่งข่าวระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องการขึ้นบัญชีดำ (Entity list) มีหลักฐานเพิ่มเติมที่เชื่อมโยงบริษัทเหล่านี้เข้ากับหัวเว่ยหรือไม่

อย่างไรก็ตาม สหรัฐมีอำนาจในการคว่ำบาตรธุรกิจที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นภัยความมั่นคงของชาติในอนาคต และเจ้าหน้าที่รัฐ "ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าบริษัทนั้น ๆ เคยทำกิจกรรมที่เป็นอันตรายหรือผิดกฎหมายในอดีตหรือไม่"

นอกจากแผนขึ้นบัญชีดำรอบใหม่แล้ว รายงานยังระบุด้วยว่า รัฐบาลสหรัฐกำลังกดดันชาติพันธมิตรซึ่งรวมถึง "เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น" ให้เพิ่มข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของจีนอีกด้วย โดยหัวเว่ยเป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นหัวใจสำคัญของการคว่ำบาตรนี้ เช่นเดียวกับที่เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลจีนในการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีตะวันตก

ทั้งนี้ เมื่อปี 2562 สหรัฐเคยขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยมาแล้ว ทำให้บริษัทไม่สามารถซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐได้หากผู้ขายไม่ได้รับ "ใบอนุญาตส่งออกพิเศษ" จากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ 

ข้อจำกัดดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจสมาร์ตโฟนของหัวเว่ย อย่างไรก็ตาม ในเดือนส.ค. 2566 หัวเว่ยได้เปิดตัวสมาร์ตโฟน Mate 60 ที่ขับเคลื่อนด้วย "ชิป 7 นาโนเมตร" ที่ผลิตในจีน โดยเริ่มวางจำหน่ายในช่วงที่นางจีนา เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เดินทางเยือนประเทศจีนพอดี

ชิปดังกล่าวผลิตโดยบริษัท เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชันแนล คอร์ปอเรชัน (SMIC) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน แต่ก็ยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งอุปกรณ์จากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตชิปอย่างเอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง (ASML Holding) ของเนเธอร์แลนด์ รวมถึงซัพพลายเออร์จากสหรัฐอย่าง แอพพลายด์ แมททีเรียลส์ (Applied Materials) และแลม รีเสิร์ช (Lam Research) 

การใช้อุปกรณ์เหล่านี้ ซึ่งซื้อมาก่อนที่ข้อบังคับควบคุมการส่งออกของสหรัฐและเนเธอร์แลนด์จะมีผลบังคับใช้ แสดงให้เห็นว่า จีนยังคงไม่สามารถทดแทนชิ้นส่วนจากต่างประเทศได้ทั้งหมด แม้ว่ารัฐบาลจีนกำลังพยายามสร้างห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศแบบครบวงจรก็ตาม