เพิ่มทุนวิจัย-ลดเผด็จการ หนุน'เทคโนฯ-เอไอ'จีนแซงสหรัฐ
เพิ่มทุนวิจัย-ลดเผด็จการ หนุน'เทคโนฯ-เอไอ'จีนแซงสหรัฐ โดยจีนจะสร้างระบบเรียนรู้เชิงลึกหรือโมลเดลภาษาขนาดใหญ่ก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีนั้นได้รับความนิยม นี่คือความท้าทายเบื้องต้นของเอไอสัญชาติจีน
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สร้างความกังวลเป็นวงกว้างจนกลายเป็นวาระสำคัญในที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐพยายามจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญของจีน
ดูเหมือนว่าขณะนี้สหรัฐจะเป็นผู้นำในการแข่งขันด้านเอไอ และมีความเป็นไปได้ว่า การจำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ไปยังประเทศจีน อาจขัดขวางความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีนได้ แต่นักวิเคราะห์หลายคนก็มองว่า จีนสามารถตามทันได้ แม้เอไอโซลูชันต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างให้มีความสมบูรณ์
“เคนดรา แชเฟอร์” หัวหน้าฝ่ายวิจัยนโยบายเทคโนโลยี จากไทรเวียม ไชนา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า “บริษัทอินเทอร์เน็ตจีนหลายแห่ง มีความก้าวหน้ามากกว่าบริษัทอินเทอร์เน็ตในสหรัฐ ดังนั้น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงขึ้นอยู่กับว่าคุณวัดจากอะไร"
อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการผลิตอุปกรณ์และชิ้นส่วนประกอบขั้นสูงของจีน คาดว่า ยังคงตามหลังผู้นำเทคโนโลยีของโลกอยู่ 10-15 ปี
ส่วนข้อได้เปรียบที่ดีที่สุดของสหรัฐคือ การมีซิลิคอนวัลเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมสุดยอดผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของโลกจำนวนมาก เป็นบ่อเกิดบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่ง เช่น กูเกิล แอ๊ปเปิ้ล และอินเทล ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินชีวิตในยุคใหม่
“ปาสคาล ฟุง” ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญญาประดิษฐ์ จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮ่องกง กล่าวว่า นักประดิษฐ์ในสหรัฐได้รับการสนับสนุนจากการส่งเสริมวิจัย และนักวิจัยใช้เวลาหลายปีในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยไม่ได้คำนึงว่าการพัฒนาจะได้ผลิตภัณฑ์แบบใด
ตัวอย่างเช่น โอเพนเอไอ ดำเนินธุรกิจในฐานะบริษัทไม่แสวงหาผลกำไรมาหลายปี ทำการวิจัยรูปแบบการเรียนรู้ของเครื่องประมวลผล จนนำไปสู่ผลิตภัณฑ์เอไออย่าง ChatGPT ในที่สุด
ฟุง บอกด้วยว่า “สภาพแวดล้อมของซิลิคอนวัลเลย์เช่นนี้ ไม่เคยมีอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีส่วนใหญ่ของจีนเลย จีนจะสร้างระบบเรียนรู้เชิงลึกหรือโมลเดลภาษาขนาดใหญ่ ก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีนั้นได้รับความนิยม นี่คือความท้าทายเบื้องต้นของเอไอสัญชาติจีน”
ทั้งนี้ นักลงทุนในสหรัฐยังให้การสนับสนุนการผลักดันการวิจัยในประเทศด้วย โดยในปี 2562 ไมโครซอฟท์เผยว่า บริษัทเตรียมทุ่มทุนให้กับโอเพนเอไอราว 1,000 ล้านดอลลาร์
“สัตยา นาเดลลา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไมโครซอฟท์ กล่าวว่า “เอไอเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงเวลานี้ และมีศักยภาพช่วยแก้ไขความท้าทายที่เร่งด่วนที่สุดในโลกได้มากมาย”
ขณะที่เทคโนโลยีจีนได้ประโยชน์จากการมีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และผู้ประกอบการมีความพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีอยู่เสมอ แต่ระบอบเผด็จการของรัฐบาลปักกิ่งสร้างความไม่แน่นอน และยังทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การตรวจสอบของรัฐบาลจะกระทบต่อการพัฒนาแชตบอตเอไอของจีนหรือไม่ แล้วเอไอจะสามารถตอบคำถามที่มีความอ่อนไหวต่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิงหรือไม่ด้วย?
“อีดิธ เหยิง” หุ้นส่วนบริษัทด้านการลงทุนเรซ แคปิตัล คิดว่า ไม่มีชาวจีนคนใดกล้าตั้งคำถามที่สร้างความขัดแย้งผ่านแชตบอต Baidu หรือ Ernie ในช่วงแรก ผู้คนรู้ว่าคำถามเหล่านั้นจะถูกตรวจสอบ ดังนั้น ประเด็นคำถามที่อ่อนไหวเป็นเพียงส่วนน้อยมาก ๆ ของการใช้แชตบอตในจีน
แต่สิ่งที่น่ากังวลยิ่งกว่านั้นคือ การที่สหรัฐพยายามจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน อาจขัดขวางอุตสาหกรรมเอไอจีนในยุคต่อ ๆ ไปได้
ขณะนี้ชิปคอมพิวเตอร์ขั้นสูง หรือเซมิคอนดักเตอร์ เป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและรัฐบาลปักกิ่ง เนื่องจากชิปชนิดนี้ใช้งานกับผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวันหลายอย่าง ทั้งแล็ปท็อป, สมาร์ตโฟน และสามารถนำไปใช้ในปฏิบัติการทางทหารได้ อีกทั้งชิปดังกล่าวยังมีความสำคัญต่อฮาร์ดแวร์ที่ต้องพึ่งพาการเรียนรู้ของเอไอ
ฟุง กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทสัญชาติสหรัฐอย่างอินวิเดีย เป็นผู้นำในการพัฒนาชิปเอไอ และมีเพียงบริษัทจีน 2-3 แห่งที่สามารถแข่งขันกับ ChatGPT ได้ เนื่องจากจีนมีข้อจำกัดในการส่งออกชิป
ส่วนแชเฟอร์ บอกว่า แม้ข้อจำกัดดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน อย่างภาคอุตสาหกรรมเอไอที่ล้ำสมัย แต่จะไม่ส่งผลต่อการผลิตเทคโนโลยีทั่วไป เช่น โทรศัพท์มือถือและแล็ปท็อป เนื่องจากการควบคุมการส่งออก มีเพื่อป้องกันไม่ให้จีนพัฒนาเอไอขั้นสูงเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร
หากจีนจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ จีนจะต้องมีซิลิคอนวัลเลย์เป็นของตนเอง ซึ่งก็คือ วัฒนธรรมการวิจัยที่ดึงดูดผู้ประกอบการมากความสามารถ จากภูมิหลังที่มีความแตกต่างกันเข้ามาทำธุรกิจ
อย่างไรก็ดี รัฐบาลปักกิ่งพยายามปิดช่องว่างการพัฒนาอตุสาหกรรมเทคโนโลยีด้วยกองทุนขนาดใหญ่ โดยเสนอทุนก้อนใหญ่ให้กับบริษัทชิปในจีน แต่จีนมีมาตรการที่รัดกุมเกินไปสำหรับอุตสาหกรรมนี้
แชเฟอร์ กล่าวว่า การจับกุม “จ้าว เว่ยโกว” ซีอีโอบริษัทเทคโนโลยี Tsinghua Unigroup ในข้อหาทุจริต เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ธุรกิจอื่น ๆ ที่รัฐเป็นเจ้าของ ไม่ควรทำการทุจริตเงินของรัฐ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิป แต่สัญญาณดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเอไอจีนอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป