ถอดรหัสสัมพันธ์เศรษฐกิจวัฒนธรรม ‘ไทย-จีน’ กับทูตหาน จื้อเฉียง

ถอดรหัสสัมพันธ์เศรษฐกิจวัฒนธรรม ‘ไทย-จีน’ กับทูตหาน จื้อเฉียง

นโยบายฟรีวีซ่าไม่ว่าระหว่างประเทศใดย่อมสร้างความยินดีปรีดาให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะนั่นไม่ใช่แค่การทำให้ประชาชนเดินทางไปมาหาสู่กันง่ายขึ้น แต่ยังมีเรื่องของการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ การท่องเที่ยว เศรษฐกิจและวัฒนธรรมตามมา

ในโอกาสที่สมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน จัดงานสัมมนา “ฟรีวีซ่าไทย-จีน สายสัมพันธ์ยั่งยืนเศรษฐกิจมั่งคั่ง” หาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ” มีนัยที่น่าสนใจในหลายประเด็น  รวมถึงผลจากนโยบายฟรีวีซ่า ถอดรหัสสัมพันธ์เศรษฐกิจวัฒนธรรม ‘ไทย-จีน’ กับทูตหาน จื้อเฉียง

  • ฟรีวีซ่า นัยสำคัญเชิงสัญลักษณ์

หาน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมปีนี้ การยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างจีนและไทยมีผลบังคับใช้ ทั้งสองประเทศได้เข้าสู่ยุคปลอดวีซ่า สิ่งนี้ไม่เพียงเอื้อต่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างครอบคลุมในทุกสาขาซึ่งมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์สำหรับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยและภูมิภาคนี้ด้วย 

“ความสัมพันธ์จีน-ไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ประชาชนของทั้งสองประเทศล้วนยินดีกับสิ่งนี้”  ทูตจีนกล่าวและชวนมองไปถึงอนาคตความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ  เริ่มต้นจากความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและไทย 

ทูตกล่าวว่า จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นแหล่งเงินทุนต่างชาติหลักของไทย และเป็นตลาดแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทย ในปี 2566 ยอดมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและไทย อยู่ที่ 126,300 ล้านดอลลาร์  ซึ่งจีนส่งออกให้ไทยคิดเป็นมูลค่า 75,700 ล้านดอลลาร์  และนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 50,600 ล้านดอลลาร์ จีนได้ดุลการค้า 25,100 ล้านดอลลาร์  บริษัทจีนลงทุนโดยตรงในไทยโดยมีมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์  เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 109% นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนไทย 3.52 ล้านคน สร้างรายได้ 196,700 ล้านบาท (ประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์)

  • จีนไม่แสวงหาได้ดุลการค้าไทย 

หานยืนยันว่า การค้าจีน-ไทยเป็นประโยชน์ร่วมกัน สร้างผาสุกแก่ประชาชนทั้งสอง และกระตุ้นการพัฒนาของทั้งสองประเทศ 

“บางคนเห็นว่าไทยขาดดุลการค้าจีนก็ตั้งข้อสงสัยว่าไทยเสียเปรียบและจีนได้เปรียบ ซึ่งการมองเช่นนี้อาจไม่ถูกหลักวิทยาศาสตร์”  หานกล่าวพร้อมอธิบายว่า ปัจจุบันชาวปักกิ่งนิยมนำทุเรียน มังคุด และผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ ของไทยมาเป็นของฝากเวลาไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อน เพราะผลไม้เหล่านี้นอกจากหาได้ยากแล้ว ยังอร่อยอีกด้วย นี่เป็นความสุขที่สินค้าเกษตรของไทยนำมาสู่ผู้บริโภคชาวจีน 

ในอีกด้านหนึ่ง ทุกท่านคงทราบกันดีว่า ตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรในการค้าระหว่างประเทศจะมีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด แต่เฉพาะจีนประเทศเดียวก็ได้นำเข้าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยมากกว่า 40% 

  • นำเข้าสินค้าจีนช่วยส่งออกไทย 

นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าจีนมายังไทยที่เป็นสัดส่วนค่อนค้างมาก คือวัตถุดิบและชิ้นส่วน การนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะถูกนำไปผลิตและแปรรูปโดยบริษัทในไทยก่อนที่จะส่งออกด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2566 ไทยนำเข้าแผ่นซิลิคอนจากจีนเป็นมูลค่า 1,295 ล้านดอลลาร์  และส่งออกแบตเตอรี่โซล่าเซลล์เป็นมูลค่า 2,920 ล้านดอลลาร์  การนำเข้าสินค้าจากจีนหมวดนี้โดยแท้จริงแล้วจะช่วยสร้างมูลค่าการผลิตและการส่งออกมากขึ้นให้ไทย 

  • ไทยได้ดุลบริการ

ทูตจีนกล่าวต่อไปว่า เมื่อมองความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องดูภาพรวมของดุลการชำระเงิน นอกจากการค้าสินค้าแล้ว ต้องดูธุรกิจบริการและการลงทุนโดยตรงด้วย ซึ่งสองด้านนี้ไทยได้ดุลอยู่ไม่น้อย 

ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในไทย 5,400 ล้านดอลลาร์ การลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนในไทยมีมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์ สองกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม 

“ผมจำเป็นต้องชี้ชัดว่า จีนไม่แสวงหาการได้ดุลการค้าจากไทย อีกทั้งเปิดรับสินค้าไทยมาโดยตลอดและจะเปิดรับต่อไปในอนาคต”

  • แจงสินค้าจีนไม่ได้ทุ่มตลาดอีคอมเมิร์ซ

ทูตจีนอ้างถึงรายงานข่าวมากมายบนหน้าสื่อและอินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับการส่งออกสินค้าราคาถูกของจีนมายังประเทศไทยจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยที่ผลิตสินค้าที่คล้ายกันและบางส่วนก็เกี่ยวข้องกับการละเมิดครื่องหมายการค้า การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน การหลบเลี่ยงภาษี และการกระทำที่ผิดกฎหมายรูปแบบอื่น ๆ

“ผมอยากแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประการแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศควรดำเนินการภายใต้กฎระเบียบต่างๆ นี่เป็นข้อเรียกร้องที่รัฐบาลจีนมีต่อธุรกิจจีนและพลเมืองจีนที่ไปต่างประเทศตลอดมา เราสนับสนุนให้ฝ่ายไทยปราบปรามปัญหาการนำเข้าสินค้าจีนที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ”

  • ย้ำเศรษฐกิจการค้าต้องเคารพกฎระเบียบ

 ประการที่สอง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้านั้นมีกฎระเบียบทางการค้าและมีการแข่งขันทางธุรกิจเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งควรให้ความเคารพในจุดนี้ ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์บางครั้งอาจมีปัจจัยลบอยู่บ้าง เรื่องที่คนส่วนใหญ่พอใจมักมีคนส่วนน้อยไม่พอใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องมีการควบคุมและจัดการอย่างองค์รวม 

ประการที่สาม นโยบายปลอดภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่สูงของไทยถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นมาตรการที่จำเป็นในการส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ฝ่ายจีนเองก็มีนโยบายคล้ายๆ กัน ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของนักธุรกิจที่ไร้ศีลธรรมสามารถป้องกันได้ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ได้ผลกำไรและป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้น

  • การลงทุนของจีนช่วยไทยพัฒนา

การลงทุนของบริษัทจีนช่วยให้ประเทศไทยพัฒนา ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ไปลงทุนในจีนหลังจีนเริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ และในไม่กี่ปีมานี้ บริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัททุนจีนที่อยู่ในประเทศไทยจากทะเบียนของ สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ปัจจุบันมีมากกว่า 850 บริษัท 

นอกจากบริษัททางการเงินและการบินจำนวนหนึ่งแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในภาคการผลิตหรือการก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาผลิตขึ้นถูกจำหน่ายไปยังทั่วโลก ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้จากการส่งออกของประเทศไทย เพิ่มโอกาสการเก็บภาษีและการจ้างงานให้ไทย และช่วยให้เยาวชนไทยหลายหมื่นคนได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านทักษะทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลในสังคมไทยอย่างแข็งขัน ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นอย่างดี

  • หัวเว่ย อยู่ไทยเพื่อไทย

ดังที่ทุกท่านทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดตัว 5G เชิงพาณิชย์ ขณะนี้กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างเทอร์มินัลอัจฉริยะ โรงพยาบาลอัจฉริยะ เกษตรกรรมอัจฉริยะ และเหมืองอัจฉริยะเพื่อใช้ 5G เสริมพลังให้กับทุกสาขาอาชีพ นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาของไทย และบริษัทจีนก็ได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ 

บริษัท Huawei ในฐานะหนึ่งในบริษัททุนจีนที่เข้ามาในตลาดของไทยในช่วงต้นๆ ได้ยึดมั่นในพันธกิจ “อยู่ไทยเพื่อไทย”หรือ “Grow in Thailand, Contribute to Thailand”และช่วยให้ประเทศไทยสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีการสื่อสารหรือ ICT ระดับชั้นนำของโลก 

นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้ง Huawei ASEAN Academy และได้ฝึกอบรมผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประเทศไทยไปแล้วกว่า 70,000 คนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

  • รถยนต์จีนหนุนไทยศูนย์กลางอีวี 

ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคของยานพาหนะเชื้อเพลิง ทุนส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม บริษัทรถยนต์จีนได้เป็นผู้นำในยุคของรถยนต์ไฟฟ้า บริษัท SAIC ,GWM ฯลฯ ได้ลงทุนและตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายแรกในประเทศไทย ในปี 2566 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในไทยอยู่ที่76,000 คัน ซึ่งประมาณ 80% เป็นแบรนด์จีน

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภา หลายๆบริษัทรถยนต์ของจีนกำลังพยายามผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยปรับให้เข้ากับท้องถิ่น (Localization) พวกเขาจะกลายเป็นพลังใหม่ของการปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนาสู่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของไทย

  • ทุนจีนถูกกฎหมาย ไม่ใช่ ‘ทุนจีนสีเทา’

เมื่อพูดถึงบริษัทจีนที่ลงทุนในไทย มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะแสดงจุดยืน เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่สื่อท้องถิ่นมักกล่าวถึงประเด็น “ทุนสีเทา”และยังมีชาวจีนที่ชื่อตู้ห่าว (ซึ่งในความเป็นจริง บุคคลนี้ได้สัญชาติไทยมาหลายปีแล้ว) ถูกตำรวจจับในข้อหามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมสีเทา ทำให้คำว่า “ทุนจีนสีเทา” กลายเป็นคำที่ใช้กันถี่ในข่าวและการแสดงความเห็นในที่สาธารณะของผู้คน 

ผมเข้าใจว่าคำว่า “ทุนสีเทา” หมายถึงผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด กฎหมายจีนห้ามมิให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสื่อลามก การพนัน และยาเสพติดโดยเด็ดขาด และดำเนินการปราบปรามกิจกรรมเหล่านี้อย่างเด็ดขาด เราสนับสนุนให้ฝ่ายไทยปราบปรามพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ และในความเป็นจริงแล้วหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนและไทยได้ร่วมมือกันในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

  • ทุนจีนเหมือนป่าไม้ ทุนสีเทาแค่วัชพืช

ผมเห็นว่าเราจำเป็นต้องเน้นย้ำว่ากิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทจีนที่ลงทุนในไทยนั้นโดยส่วยใหญ่แล้วถูกกฎหมายและเป็นไปตามข้อกำหนดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ถ้ามีชาวจีนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “อุตสาหกรรมสีเทา”ก็นับว่ามีปริมาณน้อยมาก หากเปรียบการลงทุนของบริษัทจีนในประเทศไทยเป็นเหมือนป่าไม้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ทุนสีเทา” ก็เป็นเพียงแค่ใบหญ้าซึ่งเป็นวัชพืชที่มีพิษเท่านั้น การปกป้องป่าไม้ ไม่ใช่ถางป่าทั้งหมดเพื่อกำจัดวัชพืชที่มีพิษ 

  •   เชื่อมต่อเปิดโลกใหม่ ความร่วมมือจีน-ไทย 

ในปี พ.ศ. 2556 ประธานาธิบดีจีนสี จิ้นผิง ได้เสนอความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประเทศต่างๆ ตามเส้นทางดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา “การเชื่อมต่อ” มีความก้าวหน้าอย่างมาก รถไฟจีน-ลาวจะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 และรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงของอินโดนีเซียเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 

  • เร่งมือรถไฟจีน-ไทย

รถไฟจีน-ไทยเริ่มการก่อสร้างในปี 2560 กล่าวกันว่าความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟจีน-ไทยล่าช้า แต่รัฐบาลไทยก็เน้นย้ำหลายครั้งว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงการนี้ ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่และมีแนวโน้มเร่งดำเนินการให้มีความคืบหน้า 

ในขณะที่การพัฒนาการเชื่อมต่อทางกายภาพ ก็ยกระดับการเชื่อมต่อเชิงนโยบายและกฎระเบียบเช่นกัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ และมีการริเริ่มการเจรจาเพื่ออัพเกรดข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนเวอร์ชัน 3.0 ประเทศที่เกี่ยวข้องยังหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออก การตรวจสอบร่วมกัน และการขนส่งแบบผสมผสานร่วมกัน

  • ไทยศูนย์กลางเชื่อมต่อตลาดจีน

ประเทศไทยตั้งอยู่ในใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นศูนย์กลางของอินโดจีนจึงมีทำเทที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อโครงข่ายของภูมิภาค

ถ้ามองไปข้างหน้าเมื่อรถไฟจีน-ไทยสร้างเสร็จระบบขนส่งระหว่างจีนลาวและไทยจะเชื่อมต่อกันจะทำให้อินโดจีนและแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเชื่อมต่อกับตลาดจีนอันกว้างใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งถึงตอนนั้น การไปมาหาสู่ของผู้คนและโลจิสติกส์จะเป็นอีกภาพหนึ่งและเป็นภาพของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันจะปรากฏอย่างแน่นอน

  •  ปีหน้าฉลอง 50 ปี สัมพันธ์จีน-ไทย

ปีหน้าจีนและไทยจะเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้การพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีก้าวสู่จุดเริ่มต้นใหม่ทางประวัติศาสตร์ 

“ผมอยู่ในกรุงเทพฯ ผมรู้สึกได้ถึงแรงผลักดันที่แข็งแกร่งของความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศพัฒนาเร็วขึ้นและก้าวหน้ามากขึ้นทุกๆ วัน ผมรู้สึกได้ถึงความกระตือรือร้นและความแข็งแกร่งของสังคมไทยและคนไทยในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างจีนและไทยมีความใกล้ชิด ซึ่งนับได้ว่าถูกที่ ถูกเวลาและถูกคน ซึ่งมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปที่ไม่อาจหยุดยั้งและไม่อาจย้อนกลับได้”

  •   ล้านช้าง-แม่โขง หกประเทศหนึ่งวีซ่า

หานกล่าวถึงแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีนทอดยาว 5,000 กิโลเมตร หกประเทศที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ “ดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน” และเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน เมื่อ 8 ปีที่แล้วทั้ง 6 ประเทศเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงด้วยจิตวิญญาณของการพัฒนาเป็นอันดับแรกการปรึกษาหารือที่เท่าเทียมกันและความเปิดกว้างครอบคลุมและประสบผลสำเร็จในหลายๆด้าน 

ขณะเดียวกันไทยได้เสนอความริเริ่ม “หกประเทศหนึ่งวีซ่า” ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้คนจากทุกประเทศในลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขงสามารถสัญจรข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ

“จากมุมมองนี้ผมเชื่อว่าในอนาคตไม่เพียงแต่ผู้คนจะสามารถเดินทางได้อย่างอิสระและสามารถจินตนาการต่อไปได้อีกว่าในอนาคตอันใกล้นี้ สินค้าเงินทุนและข้อมูลข่าวสารต่างๆจะสามารถเดินทางได้อย่างอิสระด้วยเนื่องจากความร่วมมือบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น” 

 จากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มหลักของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงและเป็นประธานหมุนเวียนในปัจจุบัน จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ และพยายามทำงานหนักเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าของภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงต่อไป และรู้สึกตื่นเต้นกับการยกเว้นวีซ่าร่วมกันระหว่างจีนและไทย 

(ภาพจากสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน)