'มุมไบ' แซงปักกิ่ง เป็นเมืองที่มีเศรษฐีมากที่สุดในเอเชียครั้งแรกในประวัติศาสตร์

'มุมไบ' แซงปักกิ่ง เป็นเมืองที่มีเศรษฐีมากที่สุดในเอเชียครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ข้อมูลเผย "นครมุมไบ" แซงหน้ากรุงปักกิ่งขึ้นแท่นเมืองที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุดในทวีปเอเชียครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ด้านกรุงเทพฯ อยู่อันดับ 7 เป็นรองนิวเดลี

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานข้อมูลลำดับมหาเศรษฐีโลกซึ่งเผยแพร่โดย Hurun Research Institute บริษัทวิจัยจากเซี่ยงไฮ้ วันนี้ (26 มี.ค.67) ว่า นครมุมไบของอินเดียขึ้นแท่นเมืองที่มีมหาเศรษฐีมากที่สุดในทวีปเอเชียที่ 92 คนแซงหน้าปักกิ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

โดยรายชื่อมหาเศรษฐีดังกล่าวนําโดยผู้นําทางธุรกิจอย่าง มูเกช อัมบานี (Mukesh Ambani) จาก Reliance Industries และโกตัม อดานี (Gautam Adani) จาก Adani Group ซึ่งในปีนี้จำนวนมหาเศรษฐีอินเดียเพิ่มขึ้น 94 คน ในภาพจากทั้งหมดในลิสต์ 271 คน

ด้าน รูเพิร์ต ฮูเกเวิร์ฟ ประธานสถาบัน และหัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า "ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจอินเดียเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์"

\'มุมไบ\' แซงปักกิ่ง เป็นเมืองที่มีเศรษฐีมากที่สุดในเอเชียครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ขณะที่จีนยังคงรั้งอันดับต้นๆ ของประเทศที่มีจำนวนมหาเศรษฐีรวมมากถึง 814 คน แม้ว่าจำนวนมหาเศรษฐีแบบพิเศษจะลดลง 155 คนเมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากความปั่นป่วนของเศรษฐกิจ ส่วนในปี 2566 จำนวนมหาเศรษฐีสหรัฐเพิ่มขึ้น 109 คนจากทั้งหมด 800 คน

มหาเศรษฐีอินเดีย

ทั้งนี้ รายชื่อ "มหาเศรษฐีหน้าใหม่" ของอินเดียประกอบด้วย โรฮิกา ไซรัส มิสทรี (Rohiqa Cyrus Mistry) จาก สเตอร์ลิง อินเวสเมนท์ (Sterling Investments) ผู้นำด้านการเงินการลงทุน และ อินา อาชวิน ดานี (Ina Ashwin Dani) จาก เอเชีย เพ้นท์ (Asian Paints) ผู้ผลิตสี และ มิสทรี (Mistry) ภรรยาของไซรัส มิสทรี (Cyrus Mistry) อดีตประธาน ทาทา กรุ๊ป (Tata Group) บริษัทด้านเทคโนโลยีของอินเดีย 

ขณะที่อัมบานียังเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดีย ด้วยทรัพย์สิน 1.15 แสนล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยอดานีที่ 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์

มหาเศรษฐีจีน

ในประเทศจีน จง ซานซาน (Zhong Shanshan) จาก หนงฟู สปริง (Nongfu Spring) ผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดติดอันดับเศรษฐีรวยที่สุดในจีนเป็นปีที่สี่ติดต่อกันด้วยสินทรัพย์ 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ขณะที่เป็นโคลิน หวง (Colin Huang) ผู้ก่อตั้งอีคอมเมิร์ซ พินตัวตัว (Pinduoduo) คือ มหาเศรษฐีอันดับสอง

ความมั่งคั่งของหวงเพิ่มขึ้น 71% เป็น 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์เนื่องจากผลประกอบการเกินความคาดหมายของตลาดในขณะที่ เทมู (Temu) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในต่างประเทศกำลังตีตลาดสหรัฐ และยุโรป

"ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จำนวนมหาเศรษฐีในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญเพราะความปั่นป่วนในภาคอสังหาริมทรัพย์" รายงานระบุ 

มหาเศรษฐีสหรัฐ

สำหรับสถานการณ์ของสหรัฐ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นตัวขับเคลื่อนหลักสําหรับการเติบโตของความมั่งคั่ง ทําให้ เจนเซ่น หวง (Jensen Huang) จากอินวิเดีย (Nvidia) อยู่ใน 30 อันดับแรกด้วยสินทรัพย์ 4.8 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีคนอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของกูเกิล (Google), เมตา (Meta) และ ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ยังเห็น "การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสําคัญ" หลังหุ้นเทคฯ ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

นอกเหนือจากมหาเศรษฐีด้านเทคโนโลยีแล้วสมาชิกใหม่ในรายชื่อคือ เทเลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) ป๊อปสตาร์ระดับโลกด้วยความมั่งคั่ง 1.2 พันล้านดอลลาร์

โดยรายงานระบุว่า "ความมั่งคั่งกว่าครึ่งของเธอเกิดจากค่าลิขสิทธิ์ รวมถึง 190 ล้านดอลลาร์จากการทัวร์คอนเสิร์ต และ 35 ล้านดอลลาร์ จากภาพยนตร์คอนเสิร์ตของเธอส่วนที่เหลือได้รับแรงหนุนจากมูลค่าของแคตตาล็อกเพลง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เธอขายชุดเพลงหกอัลบั้มแรกให้กับแชมร็อก แคปิตอล (Shamrock Capital) บริษัทเพื่อการลงทุนสัญชาติอเมริกันในราคา 300 ล้านดอลลาร์ในปี 2020"

ทั้งนี้ มหาเศรษฐีสหรัฐคิดเป็น 37% ของรายชื่อมหาเศรษฐีทั่วโลก ซึ่งจัดอันดับทั้งหมด 3,279 คนจาก 73 ประเทศ และในภาพรวมจํานวนมหาเศรษฐีทั่วโลกเพิ่มขึ้น 5% และความมั่งคั่งทั้งหมดเพิ่มขึ้น 9%

อ้างอิง

Asian Nikkei 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์