สัญญาณรัฐบาลใหม่ 'อินโดฯ' น่าห่วง ต่างชาติเทขายไม่หยุด ฉุดค่าเงินต่ำสุด 4 ปี
รัฐบาลใหม่ 'อินโดฯ' น่าห่วง แบงก์ชาติเข้าแทรกแซงพยุงค่าเงินที่ร่วงต่ำสุดในรอบ 4 ปี หลังต่างชาติเทขายพันธบัตรต่อเนื่อง ปัจจัยภายนอกกดดัน ปัจจัยภายในน่าห่วง นโยบายประชานิยมฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน
ธนาคารอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงในตลาดเงินตราเพื่อพยุงค่าเงิน”รูเปียห์” หลังจากที่อ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ท่ามกลางการแข็งค่าของดอลลาร์ และนักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก
ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงเกือบ 0.5% ในการซื้อขายช่วงเช้า แตะระดับ 15,963 ต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ขณะเดียวกันกองทุนทั่วโลกเทขายพันธบัตรอินโดนีเซียออกไปประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรก เป็นมูลค่าสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2565
เอดี ซูซานโต ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินทรัพย์ทางการเงินและความมั่นคงธนาคารอินโดนีเซีย เผยว่า สาเหตุหลักที่ค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงมาอย่างหนัก มาจากความต้องการดอลลาร์ที่แข็งแกร่ง จากบริษัทต่างๆ ในอินโดนีเซียต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปจ่ายปันผลให้นักลงทุนต่างประเทศ และเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตร ประกอบกับข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมีนาคมที่สูงกว่าคาดการณ์
นักลงทุนกังวลนโยบาย’ประชานิยม’รัฐบาลใหม่
รวมทั้งนักลงทุนยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแผนการใช้จ่ายอันมหาศาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ที่อาจเป็นภาระต่องบประมาณของประเทศ ในการทำโครงการอาหารกลางวันและนมฟรีมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การขาดดุลงบประมาณของอินโดนีเซียขยายตัว และเป็นอันตรายต่อระดับการลงทุนด้วย
จอน แฮร์ริสัน กรรมการผู้จัดการบริษัทโกลบอลดาต้า ทีเอส ลอมบาร์ด ระบุว่าการใช้งบจำนวนมากทำให้รัฐบาลจะต้องกลับมาใช้มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (fiscal consolidation) ในที่สุด ซึ่งอาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรสกุลเงินรูเปียห์พุ่งขึ้น หรือหมายถึงต้นทุนกู้ยืมพุ่งในประเทศจะพุ่งขึ้นตาม กระทบต่อภาระหนี้ทั้งของรัฐบาลและภาคเอกชน
มิตุล โกเตชะ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์มหภาค FX และ EM ประจำเอเชียของธนาคารบาร์คลีส์ เห็นถึงแรงกดดันระยะสั้นอันเกิดจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ตลาดตราสารหนี้ของอินโดนีเซียที่ซบเซา และความต้องการเงินดอลลาร์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง
ดังนั้นนักลงทุนจะต้องจับตาดู "ดุลบัญชีเดินสะพัด” (current account deficit) ไตรมาสแรกของอินโดนีเซียอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ขาดทุนเพิ่มขึ้น 1.3 พันล้านดอลลาร์ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ขณะที่ "เกินดุลการค้า”ของอินโดนีเซียในเดือนกุมภาพันธ์ลดลงเหลือเพียง 867 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ท่ามกลางภาวะการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทรุดตัวลง
‘เฟด’กดดันสกุลเงินเอเชีย
สกุลเงินเอเชียเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักในเดือนมีนาคม ดัชนีชี้วัดค่าเงินเอเชียของบลูมเบิร์กแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน สาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจากการเดิมพันว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงต่อไปและจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้
โดยส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อสกุลเงินเอเชีย รวมถึงค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซีย อ่อนแรงลงในเดือนมีนาคม สืบเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายการเงินของเฟด
อลัน เลา นักยุทธศาสตร์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากธนาคารเมย์แบงก์ สิงคโปร์ อธิบายว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง กระตุ้นให้ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจชะลอ การผ่อนคลายนโยบายการเงิน ลงในปีนี้ ส่งผลต่อ ความเชื่อมั่น ของนักลงทุนต่อสกุลเงินเอเชีย
อย่างไรก็ตาม เลา ยังชี้ว่าค่าเงินดอลลาร์ ที่แข็งค่าขึ้นและ ความเป็นไปได้ที่เฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม
รวมไปถึงตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดัชนี Jakarta Composite Index ของอินโดนีเซีย ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม สะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อ เศรษฐกิจโลก และ นโยบายการเงิน ของธนาคารกลางต่างๆ
ด้านซูซานโต จากธนาคารอินโดนีเซียแสดงความมั่นใจว่าแรงกดดันต่อค่าเงินรูเปียห์ ยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้และเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราว เนื่องจากผู้ส่งออกยังคงส่งเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ตลาดมากพอที่ทำให้มั่นใจว่ามีสภาพคล่องในระบบเพียงพอ ซึ่งธนาคารกลางเตรียมพร้อมที่จะ”แทรกแซงตลาดตราสารหนี้”หากจำเป็น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
แบงก์ชาติในเอเชียเข้าแทรกแซงพยุงค่าเงิน
ขณะนี้หลายประเทศในเอเชียกำลังประสบปัญหาค่าเงินอ่อนค่าลง ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้จึงเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงิน เช่นเดียวกับธนาคารกลางของอินโดนีเซีย กำลังให้การสนับสนุนค่าเงินรูเปียห์ เช่นเดียวกับธนาคารกลางของญี่ปุ่นและจีน ที่กำลังดำเนินการเพื่อพยุงค่าเงินเยนและหยวนตามลำดับ
ธนาคารอินโดนีเซีย สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดเมื่อเดือนตุลาคม 2566 โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักเพื่อหยุดยั้งค่าเงินรูเปียห์อ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าการธนาคารกลางอินโดนีเซีย เพอร์รี วาร์จิโย ยืนกรานว่า อัตราดอกเบี้ยจะคงที่ในระดับปัจจุบัน ธนาคารกลางจะใช้วิธีการแทรกแซงตลาดและขายพันธบัตรที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินรูเปียห์แทน
ซาเตรีย ซัมบิญจันโตโร นักเศรษฐศาสตร์จาก PT Bahana Sekuritas คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจจะต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์อย่างหนักอีกครั้ง เนื่องจากกำลังเข้าใกล้ช่วงที่สกุลเงินรูเปียห์อ่อนค่า ซึ่งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการแทรกแซง
อ้างอิง bloomberg