รู้จักผู้สร้าง 'Canva' ท้าชน Photoshop เขียนโค้ดไม่เป็น แต่เห็นช่องทำเงิน

รู้จักผู้สร้าง 'Canva' ท้าชน Photoshop เขียนโค้ดไม่เป็น แต่เห็นช่องทำเงิน

จากไอเดียสู่ความสำเร็จ เปิดเรื่องราว "เมลานี เพอร์กินส์" หญิงสาวผู้ปฏิวัติวงการออกแบบกราฟิก แม้เธอจะเขียนโค้ดไม่เป็น แต่ด้วยความมุ่งมั่นและไอเดียที่เกิดจากปัญหาจริง เธอสร้าง "Canva" แอปพลิเคชันที่ทำให้การออกแบบกราฟิกเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน

KEY

POINTS

  • จุดเริ่มต้นของการตั้งบริษัท Canva เพอร์กินส์เห็นปัญหาของเหล่านักเรียนที่ใช้เวลาเรียนรู้ Photoshop และ Illustrator นานถึง 1 เทอม และใช้งานยาก
  • ก่อนจะเกิด Canva เพอร์กินส์ยืมเงินจากเพื่อนและครอบครัวราว 1,200,000 บาท ในการก่อตั้งบริษัท “Fusion Books” ก่อน เพื่อทดสอบไอเดียโดยเริ่มจากสร้างแพลตฟอร์มออกแบบหนังสือรุ่น
  • ปัจจุบัน Canva ขึ้นมาเติบโตจนมีรายได้ต่อปีเกือบ 70,000 ล้านบาท และมีผู้ใช้งานกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก

ในบรรดาบริษัทด้านแอปพลิเคชัน ผู้ก่อตั้งบริษัทเท่าที่เห็น ไม่ว่าจะเป็น บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของ Facebook, แจ็ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้ง Twitter ฯลฯ ล้วนเขียนโค้ดเป็น

แต่สำหรับ เมลานี เพอร์กินส์ (Melanie Perkins) แม้เธอเขียนโค้ดไม่เป็นก็ตาม และเผชิญการปฏิเสธจากนักลงทุนนับร้อยครั้ง หลายคนบอกเธอว่าไอเดียของเธอไร้สาระ แต่เธอไม่เคยถอดใจ จนสามารถก่อตั้งบริษัท “แคนวา” (Canva) เจ้าของแอปฯออกแบบรูปอันโด่งดังได้สำเร็จ ด้วยมูลค่ากิจการกว่า 26,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 940,000 ล้านบาท จนสามารถขึ้นมา “ท้าชน” แอปฯ Photoshop เจ้าเก่าที่เคยคุมตลาดแต่งรูป เธอพาบริษัทมาไกลขนาดนี้ได้อย่างไร

รู้จักผู้สร้าง \'Canva\' ท้าชน Photoshop เขียนโค้ดไม่เป็น แต่เห็นช่องทำเงิน

- เมลานี เพอร์กินส์ (เครดิต: Canva) -

เข้าใจ “ปัญหา” ก่อนจะคิดวิธีการ

ในช่วงที่กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัย Western Australia ด้านการสื่อสาร จิตวิทยา และพาณิชย์ เมลานี เพอร์กินส์ใช้เวลาว่างของเธอรับสอนพิเศษด้านการแต่งรูปกราฟิก เธอพบว่านักเรียนที่ใช้ Photoshop และ Illustrator ต้องใช้เวลาเรียนนานถึง “1 เทอม” ถึงจะเข้าใจภาพรวมและพอใช้เป็น อีกทั้งการเลือกลงสี ตกแต่งก็มีตัวเลือกมากมายเต็มไปหมด เธอจึงคิดว่า เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น

ในที่สุด ก็เกิดไอเดียขึ้นว่า ปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ “คนใช้” แต่อยู่ที่ “ตัวซอฟต์แวร์” ที่ซับซ้อนเกินไป โดยเมลานีเล่าถึงจุดเริ่มต้นไอเดียว่า “ผู้คนต้องใช้เวลาตลอด 1 เทอม เพื่อเรียนรู้ว่าปุ่มอยุ่จุดไหนบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องน่าตลก ฉันคิดว่าในอนาคต คงมีระบบออนไลน์และการเชื่อมต่อที่ง่ายขึ้นกว่าเครื่องมือใช้ยากเหล่านี้”

ด้วยเหตุนี้ เพอร์กินส์จึงลาออกจากมหาวิทยาลัยขณะนั้นในวัยเพียง 19 ปี และร่วมกับแฟนหนุ่มที่ชื่อว่า คลิฟฟ์ โอเบรคท์ (Cliff Obrecht) เพื่อตั้งบริษัทแพลตฟอร์มออกแบบที่ใช้งานง่ายตามความฝันของเธอ

แม้ว่าทั้งสองจะไม่มีความรู้การเขียนโปรแกรม แต่ก็พยายามเสาะหาคนเก่ง จนกระทั่งพบกับ เกร็ก มิตเชลล์ (Greg Mitchell) ผู้ก่อตั้ง InDepth บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์มาช่วยงาน และได้ยืมเงินจากเพื่อนและครอบครัวรวม 50,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 1,200,000 บาท เพื่อก่อตั้งบริษัท “Fusion Books” ขึ้นมาในปี 2550 โดยเริ่มจากสร้างแพลตฟอร์มออกแบบหนังสือรุ่นในโรงเรียนก่อน

ผลปรากฏว่าในปีแรกมีโรงเรียนถึง 16 แห่งสมัครใช้ Fusion Books ด้วยความที่แพลตฟอร์มนี้ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน ผ่านไป 3 ปี จำนวนผู้สมัครก็เพิ่มขึ้นกว่า 100 โรงเรียน และในระยะเวลา 5 ปี Fusion Books ก็กลายเป็นแพลตฟอร์มด้านนี้ที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลีย รวมถึงขยายลูกค้าไปถึงนิวซีแลนด์และฝรั่งเศส

หาทุนในซิลิคอน วัลเลย์ ด่านหินกว่าจะเป็น Canva

แม้ว่า Fusion Books ประสบความสำเร็จ แต่เพอร์กินส์ไม่ได้หยุดอยู่เพียงหนังสือรุ่นเท่านั้น เธอฝันถึงการสร้างแอปฯที่สามารถออกแบบตั้งแต่เรซูเม่ ใบปลิว แผ่นพับ นามบัตร ฯลฯ ที่ครอบคลุมแบบ All-in-one และตั้งชื่อแอปฯนี้ว่า “Canva”

รู้จักผู้สร้าง \'Canva\' ท้าชน Photoshop เขียนโค้ดไม่เป็น แต่เห็นช่องทำเงิน - แพลตฟอร์มแคนวาในปัจจุบัน (เครดิต: Canva) -

แต่ความท้าทาย คือ “เงินทุน” ด้วยเหตุนี้ เธอจึงพยายามพิทช์เหล่านักลงทุนเวนเจอร์ แคปิตัลให้ร่วมลงทุน แต่กลับถูกปฏิเสธมากกว่า 100 ครั้ง ซึ่งเพอร์กินส์ได้เล่าว่า ทุกครั้งที่ถูกปฏิเสธ เธอจะเก็บไปพัฒนาการนำเสนอให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็พบว่าแต่เดิมที่นำเสนอว่า Canva มีจุดเด่นอย่างไร ลูกเล่นแบบไหน เธอลองเริ่มเปลี่ยนมานำเสนอถึง “ปัญหา” ที่ทุกคนเคยเจอ ซึ่งปรากฏว่าหลายคนก็เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็น ไม่รู้ว่าจะร่างแบบไหนก่อน เหนื่อยกับการวางโครง ปุ่มให้เลือกมีมากมาย แต่ไม่รู้ว่าต่างกันอย่างไรและควรเลือกปุ่มไหน

เธอจึงนำเสนอว่า Canva เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ไม่ต้องมีความรู้ออกแบบ ก็สร้างแผ่นพับ อินโฟ ฯลฯ ขึ้นมาได้ มีโครงเทมเพลต คู่สี คู่ฟอนต์ให้ เพียงลากและวาง เท่านี้ก็เรียบร้อย ซึ่งเหล่านักลงทุนก็คล้อยตามไอเดียเธอมากยิ่งขึ้น

กว่า 3 ปีของการพิทช์ ในที่สุด บิล ไท่ (Bill Tai) หนึ่งในนักลงทุน VC คนดังแห่งซิลิคอน วัลเลย์ ก็ตกลงร่วมลงเงิน และแนะนำเธอให้รู้จักนักลงทุนคนอื่น ๆ ที่สำคัญเขายังแนะนำเธอให้รู้จักกับ ลาร์ส ราสมุสเซน (Lars Rasmussen) ผู้ร่วมก่อตั้ง Google Maps 

ราสมุสเซนเห็นศักยภาพไอเดียของเธอ จึงเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านเทคนิคให้ Canva และแนะนำเพอร์กินส์ให้รู้จักบุคลากรฝ่ายเทคนิคจาก Google ไม่ว่าจะเป็น แคเมอรอน อดัมส์ (Cameron Adams) และ เดฟ เฮอร์นเดน (Dave Hearnden) ซึ่งเธอสามารถโน้มน้าวพวกเขาทั้งสองให้มาร่วมทีมเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ตามลำดับได้สำเร็จ การได้ฝ่ายเทคนิคเข้ามาร่วม ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนว่า ไอเดีย Canva จะสามารถกลายเป็นรูปธรรมได้จริง

รู้จักผู้สร้าง \'Canva\' ท้าชน Photoshop เขียนโค้ดไม่เป็น แต่เห็นช่องทำเงิน - จากซ้ายไปขวา แคเมอรอน อดัมส์, คลิฟฟ์ โอเบรคท์ และเมลานี เพอร์กินส์ (เครดิต: Canva) -

เงินระดมทุนช่วงแรกที่ได้ คือ ราว 1.6 ล้านดอลลาร์จากเหล่านักลงทุน และ 1.4 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลออสเตรเลีย เนื่องจากเห็นว่าถ้าสิ่งที่เพอร์กินส์ทำสำเร็จ ก็จะสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจประเทศไม่น้อย

ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์ม “Canva” จึงเกิดขึ้นได้สำเร็จในปี 2556  โดยเพอร์กินส์กลายเป็นซีอีโอบริษัทในวัยเพียง 26 ปี ด้วยจุดแข็งที่คนไม่มีพื้นฐานก็เรียนรู้เครื่องมือได้ไม่ยาก สามารถใช้ออกแบบได้ตั้งแต่เรซูเม่ ใบปลิว โปสเตอร์ โบรชัวร์ นามบัตร การ์ดวันเกิด อินโฟ โลโก้แบรนด์ ปกหนังสือ ฯลฯ

หากต้องการเครื่องมือขั้นสูงขึ้น ก็สามารถใช้งาน Canva แบบโปรได้ฟรีนานถึง 30 วัน อีกทั้งถ้าแนะนำเพื่อนให้เข้ามาใช้งานผ่านลิงก์ ก็จะได้รูปภาพจากแพ็กเกจ Pro ฟรีไป 1 ชิ้นทันที กลยุทธ์เหล่านี้จึงทำให้บริษัทเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนในปัจจุบันมีรายได้ต่อปีเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 70,000 ล้านบาท และมีผู้ใช้งานกว่า 150 ล้านคนทั่วโลก

นี่คือเรื่องราวของ “เมลานี เพอร์กินส์” สาวผู้ปิ๊งไอเดียจากปัญหาในชีวิตประจำวัน และออกมาตั้งบริษัทตัวเองเพื่อทำตามความฝัน ไม่มีใครคาดคิดว่า แพลตฟอร์มออกแบบรูปกราฟิกที่มีตระกูล Adobe ครองตลาดอยู่แล้ว จะมี Canva ก็เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งไม่แน่ว่าในชีวิตประจำวันของเรา ปัญหาสินค้าและบริการที่มีอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไข อาจเป็น “ไอเดียที่ดี” ในการต่อยอดเป็นธุรกิจก็เป็นได้   

อ้างอิง: bbccanvainckitrumsocial