'3 บิ๊กเทคจีน' ผนึก OpenAI และ Nvidia ของสหรัฐ ออก 'AI สแตนดาร์ด'ฉบับแรกของโลก
'3 บิ๊กเทคจีน' แอนท์ กรุ๊ป, ไป่ตู้ และเทนเซ็นต์ ผนึก โอเพนเอไอ, ไมโครซอฟท์ และ อินวิเดีย ของสหรัฐ ออก "AI สแตนดาร์ด" 2 ฉบับแรกของโลก มาตรฐานและวิธีการทดสอบ-ความปลอดภัย
"AI สแตนดาร์ด" ฉบับแรกของโลก ที่ออกโดยบริษัทเทคโนโลยีของจีนและสหรัฐ นำโดย 3 บริษัทชั้นนำของจีนอย่าง แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group), ไป่ตู้(Baidu) และเทนเซ็นต์ (Tencent) ได้ร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐ เช่น โอเพนเอไอ (OpenAI) , ไมโครซอฟท์ (Microsoft) และ อินวิเดีย (Nvidia) เพื่อเผยแพร่มาตรฐานสากล 2 ฉบับเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (Generative AI: GenAI) และ โมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Models: LLMs)
กลุ่มบริษัทเหล่านี้ได้เผยแพร่มาตรฐาน 2 ฉบับ ในระหว่างการประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นในเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ดังนี้
- มาตรฐานการทดสอบและตรวจสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์
- วิธีการทดสอบความปลอดภัยของโมเดลภาษาขนาดใหญ่
โดยมาตรฐานสากลฉบับแรกที่ครอบคลุม GenAI และ LLM "โดยเฉพาะ" ซึ่งทั้ง 2 เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ขับเคลื่อน ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งใน ChatGPT ของ OpenAI และ Copilot ของ Microsoft , Ernie Bot แชทบอท AI ของ Baidu รวมทั้ง LLM โมเดลภาษาของ Tencent และ Ant Group
จีนเขียน สหรัฐตรวจสอบ
มาตรฐาน GenAI ฉบับใหม่นี้เขียนขึ้นโดยนักวิจัยจาก Nvidia, Meta Platforms (บริษัทแม่ของ Facebook) และบริษัทอื่น ๆ โดยได้รับการตรวจสอบจากบริษัทต่างๆ รวมถึง Amazon.com, Google, Microsoft, Ant Group, Baidu และ Tencent
แนวทางของ LLM เขียนโดยพนักงานของ Ant Group จำนวน 17 คน และได้รับการตรวจสอบโดย Nvidia, Microsoft, Meta และบริษัทอื่น ๆ พร้อมระบุวิธีการโจมตีที่หลากหลายเพื่อทดสอบความทนทานต่อการถูกแฮ็คของ LLM
ตามรายละเอียดของเอกสารที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ WDTA (World Digital Technology Academy) ระบุว่า มาตรฐาน GenAI นี้ กำหนดกรอบการทดสอบและตรวจสอบความปลอดภัยของแอปพลิเคชัน GenAI
WDTA ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ภายใต้การดูแลของของสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อ “เร่งกระบวนการจัดตั้งบรรทัดฐานและมาตรฐานในโดเมนดิจิทัล”
เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (GenAI) มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและถูกนำไปใช้งานโดยธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไปมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงเรียกร้องให้มีการดำเนินการเพื่อให้เทคโนโลยีนี้มีความปลอดภัย
แซม อัลท์แมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ OpenAI กล่าวว่า การ "ลงทุนในความพยายามด้านความปลอดภัยแบบเต็มรูปแบบ" จะเป็นหนึ่งในลำดับความสำคัญของบริษัท หลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน หลังจากถูกปลดออกจากตำแหน่งไปช่วงสั้น ๆ
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2566 จีนกลายเป็นประเทศแรกที่ออกมาควบคุม GenAI และบริการที่เกี่ยวข้อง โดยออกกฎระเบียบที่กำหนดให้ผู้ให้บริการต้องยึดมั่นใน "ค่านิยมสังคมนิยมหลัก" นอกเหนือจากข้อกำหนดอื่น ๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางการจีนได้อนุมัติให้บริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง รวมถึง Ant, Baidu และ Tencent เปิดให้ใช้งาน LLM เพื่อการค้า
ในขณะที่การควบคุมและออกกฎระเบียบเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพิ่งจะมาบูมกับเทคโนโลยี GenAI แต่จริงๆ แล้ว มาตรฐานและกฎระเบียบระหว่างประเทศเกี่ยวกับ AI มีอยู่ก่อนแล้ว
ยูเนสโก องค์การของสหประชาชาติที่ดูแลด้านวัฒนธรรม ได้นำเสนอ “คำแนะนำว่าด้วยจริยธรรมของปัญญาประดิษฐ์” ในปี 2564 ซึ่งประเทศสมาชิกทั้ง 193 ประเทศได้ยอมรับ
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการมาตรฐาน (ISO) ซึ่งเป็นกลุ่มนอกภาครัฐที่ตั้งอยู่ในเจนีวา มีหน้าที่จัดทำมาตรฐานครอบคลุมสาขาที่หลากหลายตั้งแต่ความปลอดภัยในสถานที่ทำงานไปจนถึงความปลอดภัยด้านไอที ได้เผยแพร่แนวทางที่เกี่ยวข้องกับกี่ยวกับการจัดการระบบ การบริหารความเสี่ยง และระบบที่ใช้เครื่องจักร การเรียนรู้ ระหว่างปี 2565 ถึง 2566
อ้างอิง scmp