หา 'ทายาท' สืบทอดอาณาจักร ‘LVMH’ บททดสอบลูก 5 คนของ 'เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์'
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของ “อาณาจักร LVMH” อาโนลต์กำลังเผชิญภารกิจสำคัญในการวางทายาทผู้สืบทอดต่อจากเขา ซึ่งต้องเผชิญตลาดจีนที่ชะลอตัวลง อีกทั้งต้องรักษาการเติบโตของ LVMH ให้คงอยู่
KEY
POINTS
- “LVMH” อาณาจักรแฟชั่นยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก เป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Bulgari ฯลฯ ด้วยมูลค่ารวม 15 ล้านล้านบาท
- อาณาจักร Lagardères Group เคยยิ่งใหญ่ แต่หลังผู้ก่อตั้งเสียชีวิต สมาชิกครอบครัวบริหารผิดพลาดจนเป็นหนี้สินมากมาย สุดท้ายต้องขายสินทรัพย์ เลิกกิจการบางส่วน และถูกเทกโอเวอร์โดยคนนอก
- ยอดขาย LVMH ในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นตลาดจีนโดยส่วนใหญ่ ปรับตัวลดลง 6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนยอดขายในสหรัฐ และยุโรปเติบโตเพียง 2%
แม้กิจการจะยิ่งใหญ่เพียงใด แต่หากปราศจากผู้สืบทอดที่เปี่ยมศักยภาพแล้ว ก็ยากที่จะรักษากิจการนั้นให้ยั่งยืน นี่คือ “ด่านทดสอบ” ที่หลายอาณาจักรต้องเผชิญเมื่อถึงคราวส่งไม้ต่อสู่รุ่นที่สอง รุ่นที่สาม และความท้าทายนี้กำลังเกิดขึ้นกับ “LVMH” อาณาจักรแฟชั่นยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลก ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ดังอย่าง Louis Vuitton, Christian Dior, Bulgari ฯลฯ ด้วยมูลค่ารวม 4 แสนล้านยูโร หรือราว 15 ล้านล้านบาท
ไม่ได้หมายความว่าอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ระดับนี้จะล้มไม่ได้ Lagardères Group อาณาจักรของฝรั่งเศสที่ประกอบธุรกิจตั้งแต่สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสารข่าว ร้านค้าปลีก สนามบิน ไปจนถึงสถานีรถไฟเข้าสู่ “จุดพลิกผัน” เมื่อ ฌ็อง-ลุค ลาการ์แดร์ (Jean-Luc Lagardère) ผู้ก่อตั้งอาณาจักรดังกล่าวเสียชีวิตกะทันหันในวันที่ 14 มี.ค. 2546 สมาชิกในครอบครัวจึงเข้ามาบริหารต่อ แต่ด้วยการบริหารที่ผิดพลาดและประสบปัญหาหนี้ Lagardères Group จึงต้องขายสินทรัพย์และตัดธุรกิจบางส่วนออก อีกทั้งยังถูก วินเซนต์ บอลลอเร (Vincent Bolloré) แห่ง Vivendi บริษัทโฮลดิ้งด้านสื่อ เข้าเทกโอเวอร์จนเป็น “ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด” ในอาณาจักรแทน
เหตุการณ์นี้ได้ติดตาเบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) เจ้าของ LVMH เพราะเขาเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งใน Lagardères Group และไม่ต้องการให้ LVMH เผชิญชะตากรรมแบบเดียวกัน
- เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (เครดิต: AFP) -
ในปีนี้ อาร์โนลต์ ก็เข้าสู่วัย 75 ปีแล้ว เหลืออีก 5 ปีก็จะถึงวาระเกษียณของบริษัท แม้ว่าเขาไม่ต้องการพูดถึงทายาทอาณาจักรต่อคนนอกเท่าไร แต่ 1 ใน 5 ของลูกเขาต้องขึ้นมานำบริษัทแทน พร้อมแบกรับโจทย์ใหม่ที่ต่างจากเดิม ไม่ว่าตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของ LVMH ชะลอตัวลง รวมถึงการต้องคิดไอเดียแฟชั่นใหม่ ๆ เพื่อรักษาการเติบโตต่อ
- ครอบครัวอาร์โนลต์ โดยอาร์โนลต์กับภรรยาอยู่ตรงกลาง ส่วนจากซ้ายไปขวาเป็น อเล็กซองดร์, เฟรเดริก, ฌอง, เดลฟีน และอองตวน (เครดิต: LEWIS JOLY/SIPA/AP) -
เปิดแผนปั้นลูกสืบทอดบัลลังก์ธุรกิจ
ในการสืบทอดกิจการให้ลูกหลาน ไม่ใช่เพียงการส่งมอบธุรกิจ แต่เป็นการส่งต่อวิสัยทัศน์ มรดก และความฝัน เปรียบเสมือนการหล่อหลอมทายาทให้พร้อมรับความท้าทายและโอกาสในอนาคต ด้วยเหตุนี้ อาร์โนลต์จึงให้ลูกทั้ง 5 คนเรียนรู้งานผ่านการเป็นผู้บริหารในฝ่ายต่าง ๆ เพื่อซึมซับประสบการณ์ดังนี้
- ลูกคนที่ 1 เดลฟีน อาร์โนลต์ (Delphine Arnault) อายุ 49 ปี
ลูกสาวคนโตที่เกิดกับอดีตภรรยา เป็นประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของ Christian Dior Couture ธุรกิจเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเครือ และเป็นกรรมการบริษัท (LVMH Board of Directors) เดลฟีนยังเป็นลูกคนเดียวที่ได้นั่งในกรรมการบริหาร (Executive Committee) ของบริษัทด้วย
- ลูกคนที่ 2 อองตวน อาร์โนลต์ (Antoine Arnault) อายุ 46 ปี
ลูกชายคนโตที่เกิดกับอดีตภรรยา รับผิดชอบฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์ของ LVMH และเป็นรองประธานและซีอีโอของ Christian Dior SE บริษัทโฮลดิ้งด้านสินค้าแบรนด์แฟชั่น (แต่ตัวแบรนด์ Dior อยู่ใต้การดูแลของ LVMH ที่มีเดลฟีนดูแลอยู่)
- ลูกคนที่ 3 อเล็กซองดร์ อาร์โนลต์ (Alexandre Arnault) อายุ 31 ปี
รองประธานบริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ และการสื่อสารของ Tiffany & Co. บริษัทด้านเครื่องประดับ และอัญมณี
- ลูกคนที่ 4 เฟรเดริก อาร์โนลต์ (Frederic Arnault) อายุ 29 ปี
เป็นซีอีโอของ LVMH Watches (ตำแหน่งใหม่) ดูแลธุรกิจแบรนด์นาฬิกาในเครือ LVMH อาทิ Tag Heuer, Hublot และ Zenith ซึ่งเฟรเดริคยังเป็นเพื่อนคนสนิทกับ "ลิซ่า Blackpink" อีกด้วย
- ลูกคนที่ 5 ฌอง อาร์โนลต์ (Jean Arnault) อายุ 26 ปี
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและพัฒนานาฬิกาข้อมือของแบรนด์ Louis Vuitton
ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 เม.ย. ลูกชายของเขาทั้งสอง อเล็กซองดร์ กับ เฟรเดริก ได้ไฟเขียวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเข้าไปอยู่ในคณะกรรมการบริษัทแล้วตามที่ผู้พ่อได้เสนอชื่อให้บอร์ดเมื่อเดือน ม.ค. สะท้อนเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของอาร์โนลต์ ที่ต้องการให้ทายาททั้งสองมีบทบาทสำคัญในธุรกิจมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม บุคคลที่คุ้นเคยกับการดำเนินงานของ LVMH คนหนึ่งมองว่า ตำแหน่งลูกชายทั้งสองในบอร์ดบริษัท ยังไม่สำคัญเท่าลูกสาวคนโตอย่าง เดลฟิน ซึ่งเป็นซีอีโอของ Christian Dior Couture ที่กำกับการดำเนินงานของธุรกิจนี้โดยตรง
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่า ถ้าอาร์โนลต์เกิดเป็นอะไรขึ้นมา อาจมี ‘คนนอก’ เข้ามาบริหารแทนชั่วคราว ก่อนที่ลูก ๆ อาร์โนลต์จะเติบโตและมีประสบการณ์มากขึ้น แต่สำหรับตอนนี้ คนคั่นกลางดังกล่าวอาจไม่จำเป็นอีก เพราะฝีมือลูก ๆ ได้ถึงระดับนั้นแล้ว” นี่คือความเห็นของ เออร์วาน รัมบูร์ก (Erwan Rambourg) หัวหน้าฝ่ายวิจัยลูกค้าของธนาคาร HSBC
นอกจากนี้ อาร์โนลต์ยังร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับลูก ๆ ทั้ง 5 คนเสมอ โดยบนโต๊ะอาหารนั้น บทสนทนาไม่ได้มีเพียงเรื่องครอบครัว แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวทางธุรกิจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านปัญหาต่าง ๆ ที่เผชิญ
อีกทั้งอาโนลต์วางกฎไว้ว่า ในการตัดสินใจที่สำคัญเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นหรือยุทธศาสตร์ของ LVMH สมาชิกในครอบครัวมีเสียงโหวต “เท่าเทียมกัน” และจำเป็นต้องเป็น “เอกฉันท์” เพื่อให้ลูก ๆ เกิดความสามัคคีและขับเคลื่อนบริษัทร่วมกัน
อีกความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ อันโตนิโอ เบลโลนี (Antonio Belloni) กรรมการผู้จัดการของ LVMH ในวัย 69 ปี ซึ่งเปรียบเหมือน “มือขวา” ของอาโนลต์มา 23 ปี ได้ประกาศลงจากตำแหน่ง และ สเตฟาน เบียงคี (Stéphane Bianchi) ซีอีโอแผนกธุรกิจนาฬิกาและเครื่องประดับของ LVMH ในวัย 59 ปีขึ้นดำรงตำแหน่งแทน สะท้อนถึงการผลักดันคนรุ่นใหม่กว่าให้ขึ้นมานำแทน
จ้างมืออาชีพบริหาร VS ลูกหลานในครอบครัวดูแลเอง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยิ่งใหญ่ของ LVMH ที่เห็นทุกวันนี้ นอกจากตัวอาโนลต์แล้ว ผู้จัดการอาณาจักรระดับท็อปไม่ว่า อันโตนิโอ เบลโลนี (Antonio Belloni) วัย 69 ปี, ซิดนีย์ ทอเลดาโน (Sidney Toledano) วัย 72 ปี และ ไมเคิล เบิร์ก (Michael Burke) ในวัย 67 ก็มีบทบาทสำคัญด้วย แต่พวกเขาเข้าใกล้วัยเกษียณแล้ว และนี่คือความท้าทายของบริษัทในการส่งไม้ต่อให้รุ่นถัดไป โดยเฉพาะภายใต้การนำของลูก ๆ อาโนลต์ทั้ง 5 คนแทน
ฟลาวิโอ เชเรดา (Flavio Cereda) ผู้จัดการกองทุนการลงทุน GAM มองว่า ความเสี่ยงของ LVMH คือ อาโนลต์อาจตัดสินใจอย่างมืดบอดด้วยการมอบความรับผิดชอบที่มากเกินไปให้ลูก ๆ แทนที่จะจ้างมืออาชีพจากข้างนอกที่อาจทำหน้าที่ได้ดีกว่า โดยเขามองว่า ลูก ๆ ทั้ง 5 ที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าในส่วนต่าง ๆ ของบริษัท หากตัดลูกคนโตสุด 2 คนแล้ว ลูกคนที่เหลือยังคงมีประสบการณ์น้อยเกินไป
นอกจากประเด็นประสบการณ์แล้ว การรักษาการเติบโตของ LVMH ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ตลาดใหญ่ในจีนชะลอตัวลงด้วยปัญหาเศรษฐกิจซบเซา วิกฤติอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงเผชิญสังคมสูงวัยด้วย โดยยอดขาย LVMH ในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นตลาดจีนโดยส่วนใหญ่ มีส่วนแบ่งมากที่สุดที่ 31% แต่ยอดขายจากภูมิภาคดังกล่าวกลับลดลง 6% ในไตรมาสแรกของปีนี้ ส่วนยอดขายในสหรัฐ และยุโรปเติบโตเพียง 2%
ยังไม่นับรวมปัจจัยอ่อนไหวทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ไม่ว่าความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) อิหร่านกับอิสราเอล และจีนกับสหรัฐ หากเกิดสงครามขึ้น สินค้าแบรนด์เนม จะเป็นอันดับต้น ๆ ที่ลูกค้าตัดสินใจลดการบริโภค ถือเป็น “บททดสอบครั้งสำคัญ” ที่ทายาทอาณาจักร LVMH ต้องฝ่าฟันต่อไป
อ้างอิง: bloomberg, ft, ft(2), lvmh, กรุงเทพธุรกิจ, trainy, statista, reuters