WMO เผย ปี 66 ‘เอเชีย’ รับเคราะห์ 'สภาพอากาศรุนแรง' มากสุดในโลก

WMO เผย ปี 66 ‘เอเชีย’ รับเคราะห์ 'สภาพอากาศรุนแรง' มากสุดในโลก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก เผย เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศรุนแรงมากที่สุดในโลก และอุณหภูมิในภูมิภาคร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก

สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยวันนี้ว่า เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศรุนแรงในปี 2566 มากที่สุดในโลก ซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วมและพายุ ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) รายงานว่า ผลกระทบจากคลื่นความร้อนในเอเชียรุนแรงมากขึ้น และธารน้ำแข็งละลายจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงทางน้ำของภูมิภาคนี้ในอนาคต

ดับเบิลยูเอ็มโอ ระบุด้วยว่า เอเชียกำลังร้อนขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยอุณหภูมิเมื่อปีก่อนเพิ่มขึ้นสูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในระหว่างปี 2504-2533 เกือบ 2 องศาเซลเซียส

เซเลสต์ เซาโล ผู้อำนวยการดับเบิลยูเอ็มโอ กล่าวในแถลง

“หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ประสบกับปีที่ร้อนจัดเป็นประวัติการณ์เมื่อปี 2566 และเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้ว ตั้งแต่ภัยแล้งและคลื่นความร้อน ไปจนถึงน้ำท่วมและพายุ”

 

ขณะที่รายงาน The State of the Climate in Asia 2023 ย้ำว่า ตัวชี้วัดสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่มีค่าเพิ่มขึ้น เช่น อุณหภูมิผิวโลก, ระดับธารน้ำแข็งละลาย และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น บ่งบอกว่า สังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศในภูมิภาค อาจได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง

“เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ของลมฟ้าอากาศ ภูมิอากาศ และภัยพิบัติจากน้ำมากที่สุดในโลกในปี 2566” ดับเบิลยูเอ็มโอ ระบุ

 

สถิติผลกระทบจากโลกร้อนในเอเชีย

  • ปี 2566 อุณหภูมิใกล้ผิวโลกเฉลี่ยของเอเชีย สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่อันดับ 2 มากกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2534-2563 อยู่ 0.91 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2504-2533 อยู่ 1.87 องศาเซลเซียส
  • สถิติอุณหภูมิสูงส่วนใหญ่อยู่ในแถบไซบีเรียตะวันออกไปจนถึงเอเชียกลาง และจากภาคตะวันออกของจีนไปจนถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นก็มีฤดูร้อนทำลายสถิติใหม่ด้วย
  • อุณหภูมิพื้นผิวทะเลในปี 2566 ในมหาสมุทรเอเชียแปซิฟิกสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
  • เอเชียเกิดภัยพิบัติ 79 ครั้ง จากอันตรายของสภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และ 80% จากตัวเลขดังกล่าวเป็ยภัยพิบัติน้ำท่วมและพายุ ซึ่งส่งผลให้มีคนเสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน และมีประชากรคน 9 ล้านคนได้รับผลกระทบ
  • ฮ่องกงฝนตกมากเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ทุบสถิติสูงสุดนับตั้งแต่บันทึกข้อมูลในปี 2427 โดยมีปริมาณฝน 158.1 มิลลิเมตร ภายใน 1 ชั่วโมงเนื่องจากเกิดพายุไต้ฝุ่น