ภารกิจหินนายกฯใหม่สิงคโปร์ ในวันที่เศรษฐกิจโลกซึมหนัก
สิงคโปร์ภายใต้การนำของลี เซียนลุง เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมีรายได้หลักจากการส่งออก และการลงทุนภายในประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง
นิกเคอิ เอเชีย นำเสนอบทความเกี่ยวกับสิงคโปร์ในวันที่มีผู้นำคนใหม่ โดยระบุว่า “ลอว์เรนซ์ หว่อง” นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ที่จะเริ่มเข้ามาบริหารประเทศในเดือนพ.ค.นี้ ต้องรับมือความท้าทายหลายด้านทั้งปัญหาอัตราการเกิดใหม่ในสิงคโปร์ที่ต่ำมาก การพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งจนสามารถต้านทานปัจจัยลบจากทั่วโลกได้ และการแข่งขันอย่างขับเคี่ยวในภูมิภาคอาเซียน
พร้อมทั้งระบุถึง “ดิเวีย ลาวดอน” วัย 31 ปีที่ทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซึ่งเกิดและโตในสิงคโปร์แต่กำลังคิดไปใช้ชีวิตในต่างแดนเพื่อหนีปัญหาค่าครองชีพในบ้านเกิดเมืองนอนที่สูงขึ้นเรื่อยๆแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่มีบุตรก็ตาม
ลาวดอน แต่งงานกับสามีชาวอังกฤษที่พบรักกันในสิงคโปร์เมื่อปี 2565 มองว่าการมีบ้านสักหลังในสิงคโปร์ต้องใช้เงินเยอะมาก จึงวางแผนที่จะไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของฝ่ายสามี
“ฉันมักจะรู้สึกเสมอว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลให้เงินเรา รัฐบาลมักมีวิธีเอาคืนจากเราทุกครั้งไป ไม่เคยเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าเลยสักครั้ง ประกอบกับต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านต่างๆในสิงคโปร์แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”ลาวดอน กล่าว
มุมมองของพนักงานบริษัทเทคโนโลยี วัย 31 ปีผู้นี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายด้านประชากรศาสตร์ในสิงคโปร์และแรงกดดันด้านอื่นๆทั้งในประเทศและปัจจัยภายนอก ที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคกิจประชาชน(พีเอพี)ที่มีหว่องเป็นหัวหน้าต้องเผชิญเพื่อทำให้สิงคโปร์คงสถานะหนึ่งในฮับเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคนี้ต่อไป
หว่อง ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ว่าการกระทรวงการคลัง จะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และเป็นนายกฯคนที่ 4 ของประเทศ หลังจากนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ลงจากตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์ ในวันที่ 15 พ.ค.ที่จะถึงนี้
ความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ถือเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองของสิงคโปร์ ที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไม่ได้มาจากคนในตระกูลลี โดยผู้นำรัฐบาลคนแรกที่ไม่ใช่บุคคลในตระกูลนี้ คือนายโก๊ะ จ๊กตง ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2533-2547 ต่อจากลี กวนยู หลังจากนั้นลี เซียนลุง บุตรชายของลี กวนยู ก็ขึ้นสู่อำนาจ เมื่อปี 2547
สิงคโปร์ภายใต้การนำของลี เซียนลุง ตลอดระยะเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เน้นไปที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีรายได้หลักจากการส่งออก และการลงทุนภายในประเทศ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีชีวภาพ และการบริการด้านอุตสาหกรรมการเงิน
นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ของลี เซียนลุง ยังเน้นการส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากภายจากภายนอก โดยใช้หลากหลายกลยุทธ์ รวมถึง การเดินหน้าเจรจาและจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี ( เอฟทีเอ ) กับนานาประเทศ
“การเปลี่ยนผ่านความเป็นผู้นำในสิงคโปร์ตอนนี้อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นนิดหน่อย ไม่ใช่แค่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาต่างๆในประเทศให้ดีขึ้นในเร็ววัน แต่สิงคโปร์อาจถูกดึงเข้าไปอยู่ในวังวนความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของบรรดาคู่ปฏิปักษ์”เมเรดิธ ไวส์ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในอัลบานี ให้ความเห็น
ปัญหาเร่งด่วนของสิงคโปร์ที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งแก้ไขคือการแก้ปัญหาประชากรเกิดใหม่ต่ำ โดยรัฐบาลมีนโยบาย Baby Bonus Scheme เพื่อช่วยลดภาระในการเลี้ยงดูบุตรให้กับประชาชนผ่านทาง Baby Bonus Cash Gift ที่รัฐบาลจะให้เงินทั้งพ่อและแม่คนละ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อมีลูกคนแรกและคนที่ 2 และจะให้เงิน 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อมีลูกคนที่ 3 เป็นต้นไป รัฐบาลจะจ่ายเป็นเงินสด 5 งวดในช่วง 18 เดือนหลังจากเด็กเกิด
ต่อมา รัฐบาลสิงคโปร์ ประกาศงบประมาณสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรในปี 2566 โดยจะให้เงินเพิ่มกับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.- 31 ธ.ค. 2566 โดยเพิ่มเงินให้จากเดิม 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้พ่อแม่จะได้เงินจากลูกคนแรกและคนที่ 2 จำนวน 11,000 ดอลลาร์ และได้รับเงินจากลูกคนที่ 3 เป็นต้นไป 13,000 ดอลลาร์
ในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศ หว่อง ถูกคาดหวังว่าจะเดินหน้าบริหารประเทศตามแนวทางของผู้นำในอดีตเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศและเพื่อคงสถานะประเทศในฐานะฮับการเงิน การค้า และเทคโนโลยีชั้นสูงต่อไป ขณะเดียวกันก็สร้างความแข็งแกร่งแก่โครงการสนับสนุนทางสังคมเพื่อรับมือกับปัญหาต่างๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำ
ในการกล่าวสุนทรพจน์เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา หว่อง กล่าวว่า รัฐบาลจะลงทุนกว่า 11,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์กับการวิจัยและการพัฒนา รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) อุตสาหกรรมการเงินและพลังงานสะอาด
ขณะที่การแข่งขันอย่างขับเคี่ยวในภูมิภาคก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่รัฐบาลชุดใหม่ของสิงคโปร์ต้องให้ความสำคัญ โดยสำนักข่าวนิกเกอิเอเชีย รายงานว่า บริษัทข้ามชาติหลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นและยุโรป เริ่มย้ายพนักงานที่ทำงานในสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคออกจากสิงคโปร์แล้วในบางแผนก โดยย้ายพนักงานเหล่านี้ไปประเทศใกล้เคียงแทน เช่น “ไทยและมาเลเซีย” เนื่องจากบริษัทเหล่านี้ต้องการลดต้นทุน หลังค่าเช่าสำนักงานและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในสิงคโปร์แพงขึ้นมาก
รายงานระบุว่า ประเทศไทยและมาเลเซียน่าจะได้รับประโยชน์จากความเคลื่อนไหวนี้มากที่สุด แต่จะเป็นการย้ายพนักงานสำนักงานใหญ่บางแผนก เช่น แผนกขายหรือแผนกวางแผนองค์กร ออกจากสิงคโปร์เพื่อไปทำงานที่ประเทศเหล่านี้แทน ไม่ได้เป็นการย้ายพนักงานไปทั้งหมด
นอกจากนี้ ผลสำรวจเมื่อปี 2566 จากหอการค้ายุโรปยังพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจ 69% เล็งย้ายพนักงานบางส่วนออกจากสิงคโปร์เพื่อหนีต้นทุนในการดำเนินงานที่สูงขึ้นเช่นกัน