“ไออีเอ”คาดตลาดรถอีวีจีนโตแกร่ง ดันยอดขายรถไฟฟ้าโลกแตะ 17 ล้านคัน
เกือบหนึ่งในสามของรถยนต์ที่วิ่งบนถนนในจีน และกว่าหนึ่งในห้าของรถที่วิ่งในสหรัฐและในยุโรปจะเป็นรถอีวีภายในปี 2573
องค์การพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)มองแง่ดีแนวโน้มตลาดรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าโลกในปีนี้สดใส เพราะได้แรงหนุนจากตลาดรถอีวีจีน พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะแตะ 17 ล้านคันในปีนี้ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้น
รายงานคาดการณ์ของไออีเอ ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร(23เม.ย.)ระบุว่า เกือบหนึ่งในสามของรถยนต์ที่วิ่งบนถนนในจีน และกว่าหนึ่งในห้าของรถที่วิ่งในสหรัฐและในยุโรปจะเป็นรถอีวีภายในปี 2573
รายงานของไออีเอ ที่มีชื่อว่า Global EV Outlook 2024 ระบุว่า เฉพาะปีนี้ปีเดียว ประมาณ 20% ของรถยนต์ที่ขายทั่วโลก หรือ 17 ล้านคันจะเป็นรถไฟฟ้า ถือเป็นปีที่มีการผลิตรถอีวีมากที่สุดของกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ ซึ่งขายรถอีวีได้ 14 ล้านคันในปี 2566 เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อนหน้านี้ โดยรถอีวีมีสัดส่วน 18% ของยอดขายรถโดยรวมทั่วโลกในปี 2566 เพิ่มขึ้น 4% จากปี 2565
“แทนที่ยอดขายจะลดลง กลับกลายเป็นว่าการปฏิวัติอีวีโลกกำลังเร่งความเร็วเพื่อเข้าสู่การเติบโตเฟสใหม่ คลื่นการลงทุนด้านการผลิตแบตเตอรี่บ่งชี้ว่าระบบห่วงโซ่อุปทานของอีวีมีความคืบหน้าและเป็นไปตามแผนของบรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ต้องการเพิ่มกำลังการผลิต ด้วยเหตุนี้ เราจึงคาดการณ์ว่าสัดส่วนของรถอีวีที่วิ่งบนถนนทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว”ฟาธิห์ ไบรอล ผู้อำนวยการบริหารของไออีเอ ระบุ
กว่าครึ่งของรถอีวีผลิตโดยค่ายรถจีนในปี 2566 เทียบกับรถยนต์ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่มีแค่ 10% จีนจึงเป็นผู้ส่งออกรถรายใหญ่ที่สุดในปี2566 และมียิดขายในตลาดต่างประเทศประมาณ 4 ล้านคัน ในจำนวนนี้ 1.2 ล้านคันเป็นรถอีวี
บริษัทจีนอย่างบีวายดี ถือเป็นผู้ชนะรายใหญ่สุดในตลาดรถอีวีที่กำลังเติบโต เพราะความสามารถในการผลิตที่มีมากกว่าของผู้ผลิตจีนและรัฐบาลให้การสนับสนุนจึงทำให้ค่ายรถจีนจำหน่ายรถไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่าและเข้าไปตีตลาดอื่นๆได้ ซึ่งไออีเอ ประเมินว่า 60% ของรถอีวีที่ขายในจีนมีราคาถูกกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาป
การผลิตรถอีวีที่คึกคักในตลาดจีน กำลังสร้างปัญหาให้แก่บรรดาค่ายรถยนต์ในสหรัฐและยุโรป โดยรถที่จีนผลิตส่วนใหญ่ส่งออกไปขายในยุโรปและภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
“ค่ายรถยนต์ยุโรปและสหรัฐรู้สึกกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่อค่ายรถจีนเริ่มส่งออกรถไปขายในตลาดโลกได้มากขึ้น ทำให้ค่ายรถจากทั้งยุโรปและสหรัฐต้องหันมาปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น”รายงานของไออีเอ ระบุ
เมื่อกลางปีที่แล้ว “จิม ฟาร์ลีย์” ซีอีโอของฟอร์ด มอเตอร์ กล่าวว่า บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนคือคู่แข่งหลักในอุตสาหกรรมนี้ แต่ฟอร์ดมีอุปสรรคในการแข่งขันด้านต้นทุนในระดับที่เล็กกว่า
“ผมคิดว่าเรามองว่าจีนคือคู่แข่งรายใหญ่ ไม่ใช่เจเนอรัล มอเตอร์(จีเอ็ม)หรือโตโยต้า และจีนกำลังจะเป็นมหาอำนาจด้านรถอีวี” ฟาร์ลีย์กล่าวในการประชุมสุดยอดด้านการเงินที่ยั่งยืนของมอร์แกน สแตนลีย์
จีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลก มีเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ดีที่สุดและครองตลาดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยฟาร์ลีย์ชี้ว่า บีวายดี , จีลี่ , เกรท วอลล์ , ฉางอัน และเอสเอไอซี เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ของจีน
ฟาร์ลีย์ มีความเห็นว่า การจะเอาชนะผู้ผลิตรถยนต์ของจีนได้ ฟอร์ดจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ใหม่ให้มีความโดดเด่นซึ่งเขาเชื่อว่ามีทางทำได้ หรือไม่ก็ต้องลดต้นทุน
ที่ผ่านมา ฟอร์ด ประกาศแผนลงทุน 3.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าในรัฐมิชิแกน โดยใช้เทคโนโลยีจากซีเอทีแอล (CATL) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจากจีนเพื่อผลิตแบตเตอรีที่มีต้นทุนต่ำ
นอกจากเป็นผู้ผลิตรายใหญ่แล้ว จีน ยังเป็นผู้ซื้อรถอีวีรายใหญ่สุดด้วยเมื่อปีที่แล้ว โดยมีสัดส่วน 60% ของตัวเลขโดยรวมเทียบกับยุโรป 25% และสหรัฐ 10%
อย่างไรก็ตาม การเติบโตของยอดขายรถอีวีไม่ได้อยู่แค่ตลาดหลักๆนี้เท่านั้น ความต้องการรถอีวียังขยายตัวในชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่บางแห่งด้วย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เวียดนาม เป็นประเทศที่มียอดขายรถอีวีขยายตัวเพิ่มขึ้นมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่าตลาดรถยนต์ทั่วไปจะหดตัว โดยรถอีวีมีสัดส่วน 15% ของยอดขายรถยนต์ในปี 2566 วินฟาสต์ ผู้ผลิตรถยนต์อีวีสัญชาติเวียดนาม ผลิตรถอีวีออกมาจำหน่ายในประเทศเป็นหลัก พร้อมทั้งประกาศตัวเป็นคู่แข่งสำคัญของแบรนด์รถอีวีจีนในภูมิภาค เช่น เชอรี่ ออโตโมบิล และบีวายดี ทั้งยังตั้งเป้าผลิตรถอีวีเพื่อส่งออกไปขายในประเทศอื่นๆในเอเชีย เช่น อินเดีย และฟิลิปปินส์
ขณะที่ตลาดรถอีวีในไทยก็ขยายตัวต่อเนื่อง ประมาณ 10% ของรถที่ขายเมื่อปีที่แล้วเป็นรถอีวี เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากปี 2565 แม้ว่าตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศในปี 2566จะซบเซาลง
นอกจากนี้ ไทย ยังตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีด้วย โดยคาดหวังว่าทั้งเชอรี่ และบีวายดีจะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถอีวีในไทย โดยเกรท วอลล์ มอเตอร์และฉางอันเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทยแล้ว
ส่วนอินเดีย และอินโดนีเซีย ซึ่งรถที่ขายได้เมื่อปีที่แล้ว เป็นรถอีวีแค่ 2% แต่รัฐบาลของทั้งสองประเทศนี้ก็หวังที่จะดึงดูดบรรดานักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถอีวี ผ่านมาตรการต่างๆที่เป็นแรงจูงใจ ล่าสุด ทั้งบีวายดี และวินฟาสต์ ต่างมีแผนเปิดโรงงานผลิตในอินโดนีเซียในปี 2567