สหรัฐเริ่มตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในโคนมตั้งแต่จันทร์หน้า
รัฐบาลสหรัฐจะเริ่มตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในโคนมที่ขนย้ายข้ามรัฐตั้งแต่จันทร์หน้าเป็นต้นไป หลังไข้หวัดนกกลับมาระบาดรอบใหม่ และลามจากฟาร์มสัตว์ปีกไปฟาร์มโคนม
รัฐบาลสหรัฐจะบังคับตรวจไข้หวัดนกในโคนมที่มีการขนย้ายระหว่างรัฐ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันจันทร์หน้า (29 เม.ย.) ขณะที่ทางการยกระดับการรับมือกับการระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งส่งผลกระทบต่อซัพพลายนมในสหรัฐ
นายทอม วิลแซ็ค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของสหรัฐ (USDA) กล่าวเมื่อวานนี้ (24 เม.ย.) ว่า ห้องแล็บทั้งหมดและสัตวแพทย์ประจำรัฐทุกแห่งในประเทศจะต้องรายงานผลการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนก โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจเพิ่มเติม
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มาตรการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งมีรายงานพบใน 8 รัฐและในฟาร์มโคนม 33 แห่งนับตั้งแต่ตรวจพบครั้งแรกในปลายเดือนมี.ค.ที่รัฐเท็กซัส โดยบุคคลที่สัมผัสกับวัวมีผลการตรวจเชื้อเป็นบวกและมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ
ดร.ไมเคิล วอโรบี นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าวว่า จากข้อมูลใหม่พบว่า การติดเชื้อไวรัส H5N1 ในโคนมเกิดขึ้นจากเหตุการณ์การแพร่เชื้อเพียงครั้งเดียวจากนกสู่วัวในช่วงปลายปี 2566 โดยน่าจะเป็นช่วงเดือนธ.ค.
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) รายงานเมื่อวันอังคาร (23 เม.ย.) ว่า พบอนุภาคของไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในตัวอย่างนมพาสเจอร์ไรซ์ที่ซื้อมาจากร้านขายของชำ แต่นมดังกล่าวยังคงปลอดภัยต่อการบริโภคโดยมนุษย์ เนื่องจากผ่านการฆ่าเชื้อแบคทีเรียและไวรัสด้วยความร้อนที่อุณหภูมิสูงมาแล้ว
นายวิลแซ็ค กล่าวว่า ซัพพลายนมของสหรัฐปลอดภัย "โดยอาศัยข้อมูลที่เรามีอยู่ในขณะนี้" พร้อมเสริมว่ายังไม่พบเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนนมที่มีอนุภาคเชื้อไข้หวัดนกนั้นหลุดเข้าสู่ซัพพลายเชนนมเชิงพาณิชย์ โดยมาจากวัวที่ไม่แสดงอาการซึ่งตรวจพบว่าติดเชื้อ
นายวิลแซ็คยังกล่าวด้วยว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อในวัวกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,000 ตัวในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ด้านกระทรวงเกษตรสหรัฐ ระบุว่า โคนมจะต้องมีผลตรวจเป็นลบสำหรับไวรัสไข้หวัดใหญ่ influenza A ซึ่งรวมถึงไข้หวัดนก จากห้องแล็บที่ได้รับอนุมัติก่อนที่จะทำการขนส่งข้ามรัฐ โดยเจ้าของโคนมที่ผลการตรวจเป็นบวกจะต้องให้ข้อมูลทางระบาดวิทยา รวมถึงการติดตามการเคลื่อนย้ายสัตว์
เบื้องต้นกระทรวงเกษตรสหรัฐมีแผนที่จะมุ่งเน้นการตรวจหาเชื้อในโครีดนม
นายวิลแซ็ค กล่าวเสริมว่า หากผลการตรวจออกมาเป็นบวก จะห้ามให้มีการเคลื่อนย้ายโคเป็นเวลา 30 วันและจนกว่าผลการตรวจจะเป็นลบ
ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าโคนมจะเป็นสัตว์ที่สามารถฟื้นตัวจากไข้หวัดนกได้ ไม่ร้ายแรงถึงตายเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับไก่และไก่งวง
"ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐพบการแพร่ระบาดระหว่างวัวในฝูงเดียวกัน การแพร่ระบาดจากวัวสู่สัตว์ปีก การแพร่ระบาดระหว่างฟาร์มโคนมที่เกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนย้ายวัว และวัวที่ไม่แสดงอาการทางคลินิกแต่มีผลตรวจเชื้อเป็นบวก" นายวิลแซ็คกล่าว
ด้านสำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า การกลับมาระบาดอีกครั้งของไข้หวัดนกในโรงงานสัตว์ปีกทั่วสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เมื่อไม่นานมานี้ ได้ส่งผลให้ราคาไข่พุ่งทะยานขึ้นอีกครั้ง
เดวิด แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ด้านอาหารประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาไข่พุ่งขึ้นอย่างมากนั้น เป็นเพราะโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) ที่เกิดขึ้นในฟาร์มไข่และส่งผลให้ไก่ล้มตาย อีกทั้งยังทำให้การผลิตไข่ลดน้อยลงด้วย
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่า มีไก่ไข่ในสหรัฐกว่า 14 ล้านตัวล้มตายลงในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2566 เนื่องจากติดเชื้อไข้หวัดนก และในช่วง 30 วันที่แล้ว มีไก่กว่า 8 ล้านตัวในฟาร์มเลี้ยงของสหรัฐยังคงติดเชื้อไข้หวัดนก
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทแคล-เมน ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ตัดสินใจระงับการผลิตชั่วคราว และกำจัดไก่มากกว่า 1 ล้านตัวที่โรงงานแห่งหนึ่งหลังจากโรคไข้หวัดนกแพร่ระบาด
แนน-เดิร์ก มัลเดอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากธนาคารโรโบแบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการเกษตร เปิดเผยว่าหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป รัสเซีย แอฟริกาใต้ อินเดีย และไนจีเรีย ต่างก็เผชิญกับราคาไข่ที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์