“เศรษฐกิจคู่ขนาน”หนุนรัสเซีย อยู่รอดจากมาตรการคว่ำบาตร

“เศรษฐกิจคู่ขนาน”หนุนรัสเซีย อยู่รอดจากมาตรการคว่ำบาตร

ตั้งแต่ปี 2565 บริษัทเกือบ 1,400 แห่งประกาศเลิกทำธุรกิจในรัสเซีย แต่หลังจากการสู้รบไปได้สองปี ก็เริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลายแห่งวางจำหน่ายในรัสเซีย

เว็บไซต์อัลจาซีราห์ นำเสนอรายงานชื่อ “เศรษฐกิจคู่ขนาน”ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเพราะเหตุใด รัสเซียจึงบริหารเศรษฐกิจของประเทศมาได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย แม้ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐ 

รายงานนี้ เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในกรุงมอสโก วัย 62 ปีที่บอกเพียงแค่ว่าชื่อ โซยา เธอไปเยี่ยมลูกสาวที่อิตาลีเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว และเห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะซื้อนาฬิกา แอปเปิ้ล วอทช์ ที่อยากได้มานาน ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าในทางการแล้ว แอปเปิ้ลไม่ได้วางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ใดๆในรัสเซียเลย

แอปเปิ้ล ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกที่มีฐานดำเนินงานในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทแรกๆที่ประกาศถอนตัวจากรัสเซียเพื่อตอบโต้การที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ประกาศทำสงครามอย่างเต็มรูปแบบในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ปี 2565 

แต่สัปดาห์ก่อนหน้าเดินทางไปอิตาลี โซยาต้องประหลาดใจอย่างมากที่เห็นว่าตลาดยานเด็กซ์ หนึ่งในตลาดที่มีชื่อของมอสโกซึ่งเธอไปช็อปปิ้งเป็นประจำมีนาฬิกาที่เธอกำลังต้องการจำหน่าย แถมราคาถูกกว่าในอิตาลีด้วย โซยา จึงตัดสินใจซื้อโดยไม่ลังเล มิหนำซ้ำอีกไม่กี่วันต่อมา ได้มีการจัดส่งหมายเลขประจำเครื่องซึ่งเป็นหมายเลขเฉพาะจากผู้ผลิตมาให้เธอที่บ้าน เพื่อยืนยันว่า นาฬิกานี้ผลิตโดยบริษ้ทแอปเปิ้ลในปี 2565 และวางขายในสหรัฐ        

"พนักงานที่ร้านในตลาด อธิบายให้ฉันฟังว่านาฬิกานี้เป็นของแท้ที่ถูกนำเข้ามาในรัสเซียผ่านการนำเข้าสินค้าแบบคู่ขนาน ฉันเคยคิดว่า การซื้อนาฬิกานี้ทางออนไลน์น่าจะง่ายกว่าการซื้อทางออฟไลน์ในประเทศที่เราไม่คุ้นเคย "โซยา กล่าวกับอัลจาซีราห์   
 

ตั้งแต่เดือนก.พ.ปี 2565 มีบริษัทเกือบ 1,400 แห่ง รวมถึงบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ดังระดับโลก ประกาศเลิกทำธุรกิจในรัสเซียเพื่อประท้วงที่กองทัพรัสเซียเปิดฉากทำสงครามกับยูเครน แต่หลังจากการสู้รบดำเนินไปได้สองปี ก็เริ่มเห็นผลิตภัณฑ์ของบริษัทหลายแห่งวางจำหน่ายในรัสเซีย และมีหลายกรณีที่เป็นการวางขายโดยละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอย่างจงใจ

การนำเข้าสินค้าแบบคู่ขนานเข้ามาในรัสเซียดำเนินการโดยความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐบาล และธุรกิจรัสเซียก็จัดตั้งเครือข่ายระบบซัพพลายเชนทางเลือกเพื่อนำเข้าสินค้าควบคุมผ่านทางประเทศที่สาม  โดยบรรดาบริษัทที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ต่างๆไม่สามารถปราบปรามเครือข่ายการกระจายสินค้าอย่างไม่เป็นทางการนี้ได้  

นี่น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกจึงยังคงมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี สามารถรับแรงกดดันจากนานาประเทศได้ดีกว่าที่คาด โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ระบุว่า ในปีแรกของการทำสงคราม ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของรัสเซียลดลงแค่ 2.1% เทียบกับที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 8.5% และหลังจากนั้นเศรษฐกิจรัสเซียก็ขยายตัวมาตลอด

“เศรษฐกิจคู่ขนาน”หนุนรัสเซีย อยู่รอดจากมาตรการคว่ำบาตร
 

ส่วนรายงานวิเคราะห์ของ Bruegel คลังสมองซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ระบุว่า รายได้หลังหักภาษีของรัสเซียลดลงแค่ 1% เมื่อเทียบกับปี 2564 ถือว่าปรับตัวลงน้อยกว่าที่เคยปรากฏในช่วงเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19

Bruegel ยังระบุว่า มูลค่าของสินค้านำเข้าโดยรวมลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงสี่เดือนแรกหลังจากรัสเซียเปิดปฏิบัติการโจมตียูเครนเมื่อเทียบกับช่วงสี่เดือนก่อนหน้านี้ แต่หลังจากนั้นมูลค่าการนำเข้าก็เพิ่มขึ้น

ธนาคารกลางรัสเซีย ระบุว่า ยอดนำเข้าลดลงแค่ 8% แม้ว่าบรรดานักวิจัยอิสระประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่ายอดนำเข้าจะลดลงประมาณ 15-16% ส่วนในปี 2566 ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้น 99.7% ของระดับก่อนเกิดสงคราม

การนำเข้าแบบคู่ขนาน ไม่ได้เป็นเรื่องผิดกฏหมายภายใต้กฏหมายระหว่างประเทศ และเป็นสิ่งที่ทำได้ในบางประเทศที่จำหน่ายสินค้าบางประเภท รวมถึง ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร

“ที่รัสเซียสินค้าจำเป็นอย่างเช่น เวชภัณฑ์ต่างๆมีให้ซื้อหาอย่างไม่ขาดแคลน แต่ตอนนี้ครอบคลุมถึงสินค้าอุปโภค-บริโภคด้วย”จัสติน โนลัน ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนออสเตรเลียจากยูเอ็นเอสดับเบิลยู ซิดนีย์ กล่าว

ในกรณีของแอปเปิ้ล ซึ่งผลิตภัณฑ์หลายประเภทอยู่ในรายการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก เป็นตัวอย่างที่ดีและชัดเจนว่าระบบการนำเข้าแบบคู่ขนานของรัสเซียทำงานอย่างได้ผลอย่างไรในทางปฏิบัติ

re:Store  ร้านค้าปลีกใหญ่สุดของรัสเซียที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล ปิดร้านนานหลายเดือนเพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากแอปเปิ้ลประกาศยุติการทำธุรกิจในรัสเซีย ก่อนจะกลับมาเปิดร้านอีกครั้งในเดือนก.ย.ปี 2565  และเปลี่ยนชื่อเป็น Restore พร้อมทั้งขยายไลน์สินค้า ไม่ได้ขายแค่ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล แต่ขายเครื่องเป่าผม คอนโซลเกมและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอัจฉริยะจากบริษัทอื่นๆด้วย

ด้าน Restore ยืนยันว่า จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลที่เป็นของแท้โดยนำเข้ามาจากจีนและดูไบ

ส่วนที่ตลาดยานเด็กซ์ ที่โซยาไปซื้อแอปเปิ้ลวอทช์นั้นมีลิสต์รายการสั่งซื้อไอโฟนหลายร้อยเครื่องจากบรรดาผู้ค้าปลีกที่จดทะเบียน และในกลุ่มนี้บางแห่งสัญญาว่าจะจัดส่งสินค้าให้ถึงมือลูกค้าภายในเวลาสองชั่วโมง 

โซยา ซื้อนาฬิกาจากบริษัทที่มีชื่อว่า IDstore ซึ่งเสนอขายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลหลากหลายประเภท รวมทั้ง คอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน,นาฬิกาและบริการเคเบิ้ล