สงกรานต์และซุปไทยในสายใยไทย - บังกลาเทศ | World Wide View

สงกรานต์และซุปไทยในสายใยไทย - บังกลาเทศ | World Wide View

ไทยและบังกลาเทศมีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน ทั้งการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ที่จัดขึ้นในช่วงสงกรานต์เหมือนกัน และมีอาหารการกินที่คล้ายกัน เนื่องจากอิทธิพลทางวัฒนธรรมในสมัยก่อน

บังกลาเทศเพิ่งมีการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนมกราคมปีนี้ และได้นาง Sheikh Hasina เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 และเป็นนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศที่เยือนไทยอย่างเป็นทางการคนแรกในรอบ 21 ปี ระหว่างวันที่ 24 - 29 เมษายน 2567 

ในโอกาสที่นายกฯบังกลาเทศมาเป็นแขกของรัฐบาลไทย คนไทยน่าจะได้รู้จักประเทศนี้มากขึ้นโดยเฉพาะในด้านความเกี่ยวดองทางวัฒนธรรมที่ทำให้คนไทยและคนบังกลาเทศเป็นเหมือนญาติห่าง ๆ ที่ไม่ค่อยได้เจอกันทั้งที่บ้านอยู่แค่ซอยถัดไป 

คนไทยไม่ค่อยรู้กันว่าบังกลาเทศเป็นอีกประเทศที่ฉลองปีใหม่เบงกาลีในช่วงสงกรานต์เช่นกัน เพราะใช้ปฏิทินสุริยคติที่แพร่หลายในชมพูทวีปมาแต่โบราณแบบเดียวกัน ต่างกันแค่ไม่ได้เล่นสาดน้ำดับร้อน มีแค่การเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องและการตั้งขบวนแห่ในย่านเมืองเก่าธากาที่เรียกว่ามงคลศุภยาตรา

คนบังกลาเทศเรียกปีใหม่เบงกาลีว่า Pohela Boishakh แปลว่าวันแรกแห่งเดือน Boishakh ซึ่งตรงกับกลางเดือนเมษายนถึงกลางเดือนพฤษภาคมตามปฏิทินสากล คนไทยเรียกเดือนนี้ว่าวิสาขะ และเรียกวันขึ้น 15 ค่ำ ในเดือนนี้ว่าวันวิสาขบูชา

สงกรานต์เป็นเพียงหนึ่งในหลายตัวอย่างที่สะท้อนรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่ไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่วมกับเอเชียใต้

ปีใหม่บังกลาเทศ

แม้ไทยกับบังกลาเทศมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการเพียง 50 กว่าปีเท่านั้น แต่ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่มีมาก่อนนั้นน่าจะช่วยให้คนไทยและบังกลาเทศรู้สึกคุ้นเคยกันได้ไม่ยาก เพราะต่างก็รับอิทธิพลของอารยธรรมอินเดีย คตินิยมแบบฮินดู และภาษาสันสกฤต

แม้ชาวบังกลาเทศมากกว่าร้อยละ 90 เป็นมุสลิม แต่ยังมีคติแบบฮินดูแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอาจเป็นลักษณะเฉพาะตัวของความเป็นเบงกาลีที่ครอบคลุมทั้งบังกลาเทศและรัฐเบงกอลตะวันตกในอินเดีย นอกจากปฏิทินแบบฮินดูที่ใช้นับวันปีใหม่เบงกาลีแล้ว ชื่อวันประจำสัปดาห์ยังเรียกตามเทพนพเคราะห์ฮินดูเหมือนคนไทย เช่น วันพุธคือ “พุธวาร” วันพฤหัสบดีคือ “พฤหัสบดีวาร”

ความที่บังกลาเทศอยู่ใกล้กับต้นแหล่งวัฒนธรรมชมพูทวีป การทำความรู้จักวัฒนธรรมเบงกาลีจะช่วยให้เรียนรู้บางแง่มุมของวิถีไทยที่เราไม่รู้ความเป็นมา และทำให้เห็นการถ่ายทอดข้ามวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น เช่น อาหารการกิน ที่เรารับอิทธิพลของเอเชียใต้มาไม่น้อย

ขอยกตัวอย่างเครื่องเทศชนิดหนึ่งที่คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า “ลูกเอ็น” ในกาพย์เห่เรือชมเครื่องคาวหวานที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์มีตอนหนึ่งว่า “ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น” หมายถึงข้าวหมกใส่กระวาน ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่ขาดไม่ได้ในเอเชียใต้รวมทั้งบังกลาเทศ ภาษาเบงกาลีและฮินดีเรียกกระวานว่า เอลาจี (elachi) ซึ่งคนสมัยโน้นคงออกเสียงไม่ถนัดเลยเรียกแต่พยางค์แรกจนกลายเป็นลูกเอ็น นอกจากนี้ ยังมียี่หร่าที่คนไทยเรียกตามต้นฉบับทั้งในภาษาเบงกาลีและฮินดี

เมื่อหลายร้อยปีก่อน ไทยรับเครื่องเทศและอาหารหลายชนิดจากเปอร์เซียและเอเชียใต้มาเป็นส่วนหนึ่งของสำรับกับข้าว เช่น ข้าวหมก มัสมั่น อาจาด ในปัจจุบันอาหารไทยกลับกลายเป็นหนึ่งในอาหารต่างชาติที่คนบังกลาเทศชอบทาน โดยเป็นผลจากที่มีคนบังกลาเทศนิยมไปรักษาพยาบาลและท่องเที่ยวที่ไทยมาหลายสิบปี เมื่อปี 2562 ในช่วงก่อนโควิด มีสถิติว่าคนบังกลาเทศไปเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 1.4 แสนคน และใช้จ่ายถึง 6,700 ล้านบาท เมนูที่แพร่หลายตามร้านอาหารและรถเข็นข้างถนนในบังกลาเทศมีชื่อว่า Thai Soup น่าจะมีแรงบันดาลใจจากต้มยำ มีทั้งแบบน้ำใสและน้ำข้น นับเป็นประจักษ์พยานของการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความชื่นชอบประเทศไทยในบังกลาเทศ

ซุปไทยในบังกลาเทศ

การเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศครั้งนี้มีการหารือหลายประเด็น ซึ่งสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมน่าจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกเป็นเสมือนญาติที่เกี่ยวดองกันและพร้อมผลักดันความร่วมมือให้คืบหน้าอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย