สงครามกลางเมือง "เมียนมา" กับกลยุทธ์รับมือของไทย
สงครามกลางเมืองใน เมียนมากำลังดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดกองกำลังผสมของฝ่ายต่อต้านที่นำโดยกลุ่มกะเหรี่ยง KNU ได้เข้ายึดเมียวดี (เมืองคู่แฝดเศรษฐกิจตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) จนส่งผลให้กองทัพเมียนมาต้องเร่งระดมพลและยุทโธปกรณ์เพิ่มเพื่อชิงเมืองคืน
สงครามตลอดแนวแม่น้ำเมยและสาละวินจึงยังไม่มีทีท่าจะยุติลงในเร็ววัน ขยับออกไปนอกรัฐกะเหรี่ยง รัฐบาลทหารเมียนมากำลังถูกฝ่ายต่อต้านและกองทัพชาติพันธุ์อีกสารพัดกลุ่มรุมกระชับวงล้อมโดยบุกตะลุยจากเขตชายแดนเพื่อบีบรัดเจาะทะลวงเข้าพื้นที่ใจกลางของประเทศอันมีกรุงเนปิดอว์เป็นจุดศูนย์กลางแห่งอำนาจ
ถึงแม้ทหารเมียนมาจะยังรักษาเมืองยุทธศาสตร์เอาไว้ได้หลายเมือง (เช่น ตองอู แปร และมิตถิลา) แต่การรบแพ้สะสมแบบต่อเนื่องของทหารเมียนมา ทำให้สถานการณ์ข้างฝ่ายรัฐบาลทหาร มิน อ่อง หล่าย ดูไม่ค่อยสู้ดีนัก
ในภาคเหนือของเมียนมา กองทัพคะฉิ่น (KIA) เข้าควบคุมถนนจากเมืองบามอ (ไม่ไกลจากชายแดนจีน) ลงมาเมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ ทางด้านตะวันตก กองทัพอาระกัน (AA) ไล่ตีฐานทหารเมียนมาจากเขตชายทะเลขึ้นจรดเขตภูเขาตรงชายแดนอินเดีย
ส่วนปีกตะวันออก กองทัพกะเหรี่ยง KNU กองทัพกะยา (KNPP) ผสมกับกองทัพประชาชน (PDF) ได้เคลื่อนกำลังโจมตีฐานทหารเมียนมาตามเมืองรายทาง เช่น เมียวดี พะอัน ผาปูน และลอยก่อว์อย่างต่อเนื่อง
ทว่าจนถึงบัดนี้แล้ว รัฐบาลทหารเมียนมาก็ยังไม่ยอมยกธงขาวยอมแพ้ทั่วประเทศ แต่กลับประกาศเกณฑ์ทหารเพิ่มและใช้อาวุธหนักเข้าถล่มฝ่ายต่อต้านแบบดุดันในบางพื้นที่ สงครามกลางเมืองในเมียนมาจึงอาจยืดเยื้อต่อไปอีก
เพราะกองทัพเมียนมายังเดินหน้าสู้รบต่อ ส่วนฝ่ายต่อต้านก็กำลังฮึกเหิมและไม่ยอมอ่อนข้อต่อทหารเมียนมา หรือหากจะมองอีกแง่ สถานการณ์อาจเข้าสู่ช่วงจังหวะพลิกผันที่จะได้เห็นผู้ชนะและผู้แพ้อย่างเด่นชัดในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้
กระนั้นก็ตามไม่ว่าฉากทัศน์สงครามเมียนมาจะออกมาเช่นไร ประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนทางบกติดกับเมียนมาราว 2,400 กิโลเมตร ย่อมได้รับแรงกระทบจากสถานการณ์สู้รบในเมียนมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทยท่ามกลางพลวัตความขัดแย้งในเมียนมา ผู้เขียนขอเสนอกลยุทธ์การรับมือแบบเชิงรับผสมเชิงรุกซึ่งเรียกกันว่า กลยุทธ์ 4 ลู่ 2 แกน ผสมกลยุทธ์ "ม.ส.ก.พ.”
กลยุทธ์ 4 ลู่ 2 แกน หรือ 4 Tracks & 2 Cores เกิดจากการนำผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการเมืองเมียนมาหลังรัฐประหารพร้อมกับโครงสร้างภูมิศาสตร์การเมืองแถบชายแดนไทย-เมียนมามาวิเคราะห์บูรณาการร่วมกันจนได้สาระหลักดังนี้
ลู่ 1 หมายถึง การดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐเมียนมาตรงพื้นที่ใจกลางประเทศนั้น รัฐบาลไทยควรเทน้ำหนักความสัมพันธ์ไปที่รัฐบาลทหารเมียนมาเหมือนเดิมก่อน
เพราะถึงแม้กรุงเนปิดอว์และเมืองยุทธศาสตร์รายรอบจะเริ่มถูกโอบล้อมจากฝ่ายต่อต้าน แต่ ณ วันนี้ ทหารเมียนมายังรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ทางแถบนี้เอาไว้ได้
ลู่ 2 หมายถึง การดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐเมียนมาตรงพื้นที่ชายแดน เช่น แม่สอด-เมียวดี โดยให้ไทยเพิ่มช่องทางติดต่อพัฒนาความร่วมมือกับกองกำลังชาติพันธุ์และรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยมากขึ้น
เพราะกลุ่มต่อต้านมีชัยชนะเหนือทหารพม่าในพื้นที่ทางแถบนี้แล้ว หากแต่ไทยยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับทหารเมียนมาในพื้นที่ต่อไปอีกสักระยะ เพราะสถานการณ์สู้รบยังผันผวนไม่แน่นอน
ลู่ 3 หมายถึง การติดต่อร่วมมือกับรัฐมหาอำนาจและองค์กรระดับโลก เช่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติซึ่งเข้าไปมีบทบาทในเมียนมาในหลายมิติ
อาทิ เศรษฐกิจความมั่นคงชายแดน ผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์และความช่วยเหลือมนุษยธรรม โดยไทยต้องถ่วงดุลกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอกเหล่านี้อย่างเหมาะสม
ลู่ 4 หมายถึง การติดต่อร่วมมือในเวทีอาเซียนเพื่อแก้ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมา รัฐไทยควรกระชับความสัมพันธ์พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ สปป.ลาว อย่างใกล้ชิด เพราะ สปป.ลาว ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปีนี้และเป็นรัฐเพื่อนบ้านกับทั้งไทยและเมียนมา
แต่ขณะเดียวกัน ไทยควรรักษาความสัมพันธ์กับรัฐสมาชิกอาเซียนอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย (ประธานอาเซียนปีที่แล้วและเป็นรัฐที่มีอำนาจสูงในระดับภูมิภาค) และมาเลเซียกับฟิลิปปินส์ (ซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีถัดไปตามลำดับตัวอักษร)
ส่วนแกน 1 หรือ แกนใน หมายถึง การกำหนดอาณาบริเวณเพื่อปกป้องอธิปไตยแห่งรัฐตามรูปทรงแผนที่ขวานทองของประเทศไทย ซึ่งให้ไทยวางกำลังทหารตั้งรับตามแนวชายแดนอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดอธิปไตยและเส้นเขตแดนอันเป็นผลจากการสู้รบที่ดุเดือดในเมียนมา
แกน 2 หรือ แกนนอก หมายถึง ให้ไทยกำหนดอาณาบริเวณใหม่ที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตประเทศไทย โดยให้มองออกไปข้างหน้าตามพื้นที่หรือเส้นทางสำคัญในเมียนมา เพื่อให้ไทยมีแผนเชิงรุกสำหรับปกป้องผลประโยชน์ของไทยล่วงหน้าหรือมีบทบาทรุกเข้าไปในพื้นที่ส่วนหน้ามากขึ้น (แทนที่จะเป็นฝ่ายตั้งรับปัญหาเพียงอย่างเดียว)
ยกตัวอย่างเช่น บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่มีอิทธิพลของว้าแดงและจีนเทาเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้เกิดผลกระทบต่อไทยหลายด้าน อาทิ ปัญหายาเสพติดและการล้ำเส้นเขตแดน ดังนั้น ไทยจึงควรคิดวิธีการที่เหมาะสมในการรุกเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้บ้าง
นอกจากนั้น เพื่อให้รับมือกับปัญหาการอพยพของชาวเมียนมาที่หนีภัยการสู้รบได้ทันท่วงที รวมถึงเพื่อรับมือกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจและในด้านอื่นๆ ผู้เขียนจึงขอเสนอกลยุทธ์ "ม.ส.ก.พ.” ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
ม. หรือ มนุษยธรรม: ให้ไทยประกาศความช่วยเหลือมนุษยธรรมต่อประชาชนเมียนมาโดยไม่เลือกฝักเลือกฝ่าย ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อชาติไหน ให้ไทยเน้นรักษาอาการบาดเจ็บของผู้ป่วยตามหลักมนุษยธรรมพื้นฐานโดยให้สอดคล้องกับหลักฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน ซึ่งระบุเรื่องการดูแลช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในเมียนมาไว้ชัดเจน
ทั้งนี้ ไทยไม่ควรอนุญาตให้คนที่ถืออาวุธหรือสมาชิกกองกำลังกลุ่มต่างๆในเมียนมาเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของไทยเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องมนุษยธรรม
ส. หรือ สันติภาพ/เสถียรภาพ: ไทยควรเล่นบทบาทเป็นผู้อำนายความสะดวกในการไกล่เกลี่ยเจรจาเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกองทัพเมียนมากับฝ่ายต่อต้านและเพื่อกรุยทางไปสู่การสร้างสันติภาพและการรักษาเสถียรภาพตามแนวชายแดน
ในเบื้องต้น ไทยควรวางตัวเป็นกลาง พูดคุยรับฟังปัญหากับคู่ขัดแย้งทุกๆกลุ่มที่มีฐานที่มั่นรบพุ่งตามตะเข็บชายแดนพร้อมใช้กลยุทธ์แบบผ่อนสั้นผ่อนยาวทีละขั้นทีละตอน (Piecemeal Approach)
กล่าวคือ ให้คู่ขัดแย้งมาตกลงหาข้อยุติในประเด็นที่ตึงเครียดน้อยก่อน เช่น ให้ยุติการสู้รบบางจุดที่ใกล้กับพื้นที่เศรษฐกิจของไทย จากนั้นจึงค่อยไล่ระดับไปสู่ประเด็นที่เข้มข้นขึ้นตามห้วงเวลาที่เหมาะสม อาทิ การจัดวงพูดคุยทางการเมืองระหว่างคู่ขัดแย้งในเรื่องการออกแบบระบบการเมืองการปกครองในเมียนมา
ก. หรือ กลไกการทำงาน: รัฐบาลไทยควรสร้างกลไกการทำงานเพื่อรับมือกับสงครามกลางเมืองในเมียนมาโดยเฉพาะ ยกตัวอย่างเช่น การให้สำนักสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
พร้อมด้วยกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กระทรวงการต่างประเทศ และประชาคมข่าวกรอง เป็นแกนหลักในการจัดทำยุทธศาสตร์และมาตราการรับมือกับปัญหาในเมียนมา
แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ตัวแทนจากภาคส่วนอื่นๆ เข้าร่วมในคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาเมียนมาให้รอบด้านตรงจุดขึ้น อาทิ การเชิญนักวิชาการ หน่วยงานสาธารณสุข ตัวแทนภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมมาร่วมอยู่ในคณะทำงาน
พ. หรือ พัฒนาอย่างยั่งยืน: ไทยควรหาแนวทางใช้ทรัพยากรจากคนเมียนมาที่มีทักษะแรงงานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน อาทิ เมื่อมีผู้อพยพเข้ามาพักพิงชั่วคราว ควรลงทะเบียนเก็บบันทึกประวัติและวุฒิการศึกษาอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ บุคคลที่มีทักษะการทำงานที่โดดเด่นในด้านใดซึ่งพอจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยหรือการพัฒนาพื้นที่ชายแดน ทางการไทยก็ควรจัดหาลู่ทางการทำงานให้ตามเหมาะสม เช่น การอำนวยความสะดวกให้ประกอบอาชีพเป็นล่ามหรือครูสอนภาษาพม่า ตลอดจนภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นต้น
ถึงแม้ว่าไฟสงครามกลางเมืองในเมียนมาจะร้อนระอุและยังไม่มอดดับลงเร็ววัน แต่การปรับใช้ กลยุทธ์ 4 ลู่ 2 แกน ผสม กลยุทธ์ "ม.ส.ก.พ.” น่าจะช่วยเบิกทางให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับปัญหาเมียนมาได้แบบมีชั้นเชิง.