หน้าฉากคว่ำบาตร แต่หลังฉาก 7 แบงก์ใหญ่ยุโรป ‘จ่ายภาษีให้รัสเซีย’ เพิ่ม 4 เท่า

หน้าฉากคว่ำบาตร แต่หลังฉาก 7 แบงก์ใหญ่ยุโรป ‘จ่ายภาษีให้รัสเซีย’ เพิ่ม 4 เท่า

“โลกตะวันตก” กำลังสนับสนุน “รัสเซีย” ทางอ้อมหรือไม่ เมื่อ “7 แบงก์ใหญ่ยุโรป” ทำกำไรจากรัสเซียได้มากกว่าช่วงก่อนสงครามถึง 3 เท่า จนสร้างรายได้ทางภาษีให้รัฐบาลหมีขาวสูงถึง 31,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนสงครามถึง 4 เท่า

KEY

POINTS

  • 7 แบงก์ใหญ่ยุโรปทำกำไรจากรัสเซียรวมกันราว 1.1 แสนล้านบาทในปี 2566 ซึ่งมากกว่าปี 2564 หรือช่วงก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนถึง 3 เท่า
  • กำไรที่เพิ่มขึ้น 3 เท่านี้ นำมาซึ่งรายได้ทางภาษีให้รัฐบาลเครมลินแห่งรัสเซียสูงถึง 31,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนสงครามถึง 4 เท่า
  • ธนาคารสหรัฐ Citigroup และ JPMorgan ก็สร้างรายได้ทางภาษีให้แดนหมีขาวด้วย โดย Citigroup จ่ายภาษี 53 ล้านดอลลาร์ ส่วน JPMorgan จ่ายภาษีให้รัสเซีย 6.8 ล้านดอลลาร์
     

ใน “ฉากหน้า” ที่สหภาพยุโรป (EU) ประกาศกร้าวว่า ไม่คบค้าสมาคมกับรัสเซีย ทั้งดำเนินนโยบายคว่ำบาตรประเทศนี้อย่างหนัก เพื่อตอบโต้การบุกยูเครน

แต่ล่าสุด หนังสือพิมพ์ Financial Times ได้รายงาน “สิ่งที่ย้อนแย้ง” ขึ้นว่า 7 แบงก์ใหญ่ยุโรป” อันได้แก่ ธนาคาร Deutsche Bank, Raiffeisen Bank International, UniCredit, ING, Commerzbank, Intesa Sanpaolo และ OTP ยังคงประกอบธุรกิจในรัสเซีย อีกทั้ง 7 แบงก์นี้ได้ทำกำไรจากรัสเซียรวมกันมากกว่า 3,000 ล้านยูโรหรือราว 1.1 แสนล้านบาทในปี 2566 ซึ่งมากกว่าปี 2564 หรือช่วงก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครน 3 เท่า

ด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น 3 เท่านี้ จึงนำมาซึ่งรายได้ทางภาษีให้รัฐบาลเครมลินแห่งรัสเซียสูงถึง 800 ล้านยูโร หรือราว 31,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนสงคราม 4 เท่า

หน้าฉากคว่ำบาตร แต่หลังฉาก 7 แบงก์ใหญ่ยุโรป ‘จ่ายภาษีให้รัสเซีย’ เพิ่ม 4 เท่า - เทียบกำไรและภาษีที่แบงก์ยุโรปจ่ายให้รัสเซียระหว่างปี 2566 กับช่วงก่อนสงคราม (เครดิต: Financial Times) -

สำหรับภาษีที่เหล่าธนาคารยุโรปจ่ายให้รัฐบาลรัสเซีย คิดเป็น 0.4% ของรายได้งบประมาณที่ไม่ใช่ส่วนน้ำมันสำหรับปี 2567 และนี่ช่วยให้รัสเซียสามารถหล่อเลี้ยงสงครามยืดเยื้อในยูเครนต่อไปได้

ไม่เพียงเหล่าธนาคารยุโรป แม้แต่ธนาคารดังของสหรัฐอย่าง Citigroup และ JPMorgan ก็ทำกำไรไม่น้อยจากรัสเซีย จนสร้างรายได้ทางภาษีให้แดนหมีขาวด้วย โดยในปี 2566 Citigroup ทำกำไร 149 ล้านดอลลาร์ และจ่ายภาษีให้รัสเซีย 53 ล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคาร JPMorgan ทำกำไร 35 ล้านดอลลาร์ และจ่ายภาษีให้รัสเซีย 6.8 ล้านดอลลาร์

ทำกำไรสูงกว่า “ช่วงก่อนคว่ำบาตรรัสเซีย” 3 เท่า

คำถามว่า ท่ามกลางโลกตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย แต่ทำไมธนาคารตะวันตกเหล่านี้ถึงทำกำไรจากรัสเซีย “สูงกว่าช่วงก่อนสงครามถึง 3 เท่า” คำตอบมาจาก 2 สาเหตุ ได้แก่

อย่างแรก ธนาคารเหล่านี้ยังคงไม่ถอนตัวออกจากรัสเซีย เช่น ธนาคาร Raiffeisen Bank International แม้เคยประกาศว่า เตรียมลดขนาดและขายสินทรัพย์ในรัสเซียออกไป แต่ในปัจจุบันยังคงมีธุรกิจในประเทศนี้  

ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุด ธนาคารยุโรปดังกล่าวกลับประกาศรับสมัครงานในรัสเซียเพิ่ม ซึ่งสะท้อนความพยายามขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น

เมื่อธนาคารรัสเซียถูกคว่ำบาตร ห้ามเข้าถึงระบบโอนเงินสากลแบบ SWIFT  จึงกลายเป็น “โอกาสงาม” ของเหล่าธนาคารตะวันตกที่ยังคงไม่ถอนออกจากรัสเซีย ซึ่งช่วยให้เหล่าบริษัทรัสเซียทำธุรกรรมการค้ากับบริษัทตะวันตกได้ โดยแลกกับค่าธรรมเนียม อย่างเช่น ธนาคาร Raiffeisen Bank International มีรายได้ค่าคอมมิชชันและค่าธรรมเนียมสุทธิจากลูกค้ารัสเซียเพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 420 ล้านยูโรในปี 2564 เป็น 1,200 ล้านยูโรในปี 2566

ส่วนสาเหตุที่สอง จากกรณีธนาคารกลางรัสเซียขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงถึง 16% ในปัจจุบัน ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนสงครามเกือบ 2 เท่า เพื่อสกัดไม่ให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ จึงช่วยให้ดอกเบี้ยลอยตัวของสินเชื่อธนาคารเหล่านี้สูงขึ้น นำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง

ด้วย 2 ปัจจัยเกื้อหนุนเหล่านี้ จึงช่วยให้เหล่าธนาคารยุโรปในรัสเซียมีกำไรเพิ่มขึ้น 3 เท่า จนสร้างรายได้ทางภาษีให้รัฐบาลเครมลินสูงถึง 31,000 ล้านบาท

เมื่อมองสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เป็นไปอย่างดุเดือด การคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียไม่ให้เข้าถึงระบบ SWIFT ทำให้ชาวรัสเซียต้องหันไปใช้ธนาคารตะวันตกแทน เพื่อทำการค้ากับโลกภายนอก แน่นอนว่า สิ่งนี้นำมาซึ่งเม็ดเงินมหาศาลไหลเข้าธนาคารเหล่านี้ และขณะเดียวกัน กำไรของธนาคารดังกล่าว ก็เป็นแหล่งรายได้ภาษีสำคัญให้รัสเซีย ในการใช้หล่อเลี้ยงเครื่องจักรสงครามในยูเครน

อ้างอิง: ft, Swift