การกระทบกระทั่งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

การกระทบกระทั่งทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

หลายคนคงจะติดตามความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน-อิสราเอล-ฮามาส แต่การกระทบกระทั่งการระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น ผมเกรงว่าอาจกลายเป็นข่าวใหญ่ในครึ่งหลังของปีนี้ก็เป็นได้

เราจะจำได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น ตกต่ำลงอย่างมากในต้นปีที่แล้ว จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายยุติการพูดคุยระหว่างกันในเรื่องที่มีความขัดแย้งกัน เช่น ด้านการค้าและความมั่นคง แต่สหรัฐก็ได้พยายามที่จะเปิดช่องทาง เพื่อให้ได้มีการพูดคุยกับจีนให้ได้ในทุกๆ เรื่องที่มีความสำคัญและมีความขัดแย้งกัน

โดยมองว่า แม้จะมีความเห็นขัดแย้งกันก็ยังจะต้องพูดคุยกันให้ได้ในทุกเรื่อง เพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเลยเถิด จนกระทั่งประเทศขนาดใหญ่ที่เป็นหนึ่งของโลก (สหรัฐ) เสี่ยงที่จะเผชิญหน้ากับประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นที่สองของโลก (จีน) เพราะหากวิกฤติเกิดขึ้นระหว่างสองประเทศที่จีดีพีรวมกันเท่ากับ 40% ของจีดีพีโลก ก็จะต้องกลายเป็นวิกฤติของโลกอย่างแน่นอน

จุดยืนของสหรัฐคือไม่ต้องการให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด (miscommunication) ซึ่งอาจนำไปสู่ความเข้าใจผิด (misunderstanding) และอาจทำให้เกิดการประเมินที่ผิดพลาดได้ (miscalculation)

ในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา สถานะความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ ก็ได้ผ่อนคลายไปในทางที่มีเสถียรภาพ (stabilize) เพราะยังพูดคุยและมีความเข้าใจในท่าทีของกันและกันเป็นลำดับ เริ่มจากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้มีโอกาสพบปะและพูดคุยกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่การประชุมสุดยอดเอเปคที่สหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย.2566

ตามมาด้วยการพบปะและพูดคุยกันระหว่างรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศ เช่น รัฐมนตรีคลังและรัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐ ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของสหรัฐ นาย Jake Sullivan ได้พบปะกับนายหวัง ยี่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนที่ประเทศไทย เมื่อเดือน ม.ค.2567

แต่มา ณ วันนี้ ผมเกรงว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน อาจต้องเจอมรสุมใหญ่อีกรอบหนึ่งภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งลำดับข้อมูลได้ดังนี้

2 เม.ย.2567 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน โทรศัพท์พูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งเป็นการติดต่อการเป็นครั้งแรกหลังจากที่ได้พบปะกันที่สหรัฐ เมื่อเดือน พ.ย.โดยคงจะมีการพูดคุยกันหลายเรื่อง แต่ “เรื่องใหม่” คือการที่ประธานาธิบดีไบเดน แสดงความกังวล คือการค้า-ขายของจีนกับรัสเซียที่มีปริมาณขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากใน 2 ปีที่ผ่านมา

แม้ว่าจีนจะไม่ได้ขายอาวุธให้กับรัสเซีย แต่ก็ขายสินค้าที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการฟื้นฟูศักยภาพทางการทหารของรัสเซีย เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องใช้ในการผลิตอาวุธ และอะไหล่เครื่องบิน เป็นต้น

ที่สหรัฐเรียกว่าเป็น Dual-use คือสามารถใช้ในการผลิตสินค้าทั่วไปหรือใช้ในการผลิตอาวุธก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้สหรัฐเตือนให้จีนลดทอนลงไป มิฉะนั้นแล้ว สหรัฐอาจต้องออกมาตรการคว่ำบาตรนิติบุคคลของจีนที่ทำการขายสินค้าดังกล่าวให้รัสเซีย

4-9 เม.ย.2567 รัฐมนตรีคลังนาง Janet Yellen เดินทางไปที่ประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง ภายในระยะเวลาเพียง 9 เดือน และหลังจากประธานาธิบดีของทั้งสองประเทศได้พูดคุยกันเพียง 2 วัน สะท้อนว่าสหรัฐต้องการจะ “ขยายความ” สาระสำคัญของทั้งสองผู้นำ ซึ่งเมื่ออ่านข่าวการเยือนของ Yellen ก็พอจะสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1.สหรัฐแสดงความเป็นห่วงว่า จีนมีกำลังการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเกินความต้องการของโลกอย่างมาก (เช่น รถไฟฟ้าและแผงโซลาร์เซลล์) ซึ่งเมื่อจีนนำมาส่งออกก็จะเกิดปัญหาสินค้าล้นตลาด และจะกระทบกับอุตสาหกรรมภายในและการจ้างงานในสหรัฐ ดังนั้น สหรัฐจึงเตือนว่า อาจจะเก็บภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันตัว

2.Yellen กล่าวเตือนรองนายกรัฐมนตรีของจีนว่า บริษัทต่างๆ ของจีนอาจได้รับ “กระทบที่มีนัยสำคัญ” (significant consequences) หากจะยังขายสินค้า dual useให้กับรัสเซียต่อไป โดย Yellen กล่าวว่า “President Biden and I are determined to stem the flow of material that is supporting Russia’s industrial base and helping it to wage war against Ukraine”

ที่สำคัญคือ Yellen ได้เสริมท้ายด้วยว่า “I also reinforced that any banks that facilitate significant transactions that channel military dual-use goods to Russia’s defense industrial base expose themselves to the risk of US sanctions”

ประเด็นหลังนี้สำคัญมาก เพราะเป็นการขู่ว่าธนาคารพาณิชย์ของจีนที่ค้าขายกับรัสเซีย อาจถูกกีดกันจากการทำธุรกรรมที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เช่นที่สหรัฐได้ทำไปแล้วกับธนาคารของรัสเซียและอิหร่าน

หลังจากนั้นอีกไม่นาน นาย Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ ก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีนเมื่อ 24-26 เม.ย. และตอกย้ำเรื่องนี้ทั้งกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และกับรัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง ยี่ (และมีประเด็นอื่นๆ ด้วย) แต่ที่สำคัญคือ ประเด็นการ “ลงโทษ” ธนาคารของจีนนั้นเป็นประเด็นหลัก

เพราะข่าวสาระในประเทศสหรัฐนั้น รายงานว่าทำเนียบขาวกำลังร่างคำสั่งประธานาธิบดี เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการให้อำนาจกระทรวงการคลังสหรัฐ ห้ามไม่ให้ธนาคารของจีนที่ทำธุรกรรมเพื่อส่งเสริมการขายอุปกรณ์ dual-use ให้กับรัสเซีย โดยจะถูกห้ามไม่ให้เข้าถึงเงินดอลลาร์

ซึ่งจะทำให้ธนาคารดังกล่าว ถูกปิดกั้นจากการทำธุรกิจการค้าและการเงินระหว่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่ยังใช้เงินดอลลาร์

ผมหวังว่า จีนกับสหรัฐจะสามารถหาทางประนีประนอมกันในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆได้ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น ความสัมพันธ์ของสองประเทศนี้ จะต้องตกต่ำไปอีกอย่างแน่นอน ส่วนประเทศไทยนั้นในขั้นแรกคงจะ “โดนหางเลข” จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นสำหรับแผงโซลาร์ที่ประเทศจีนผลิตในไทยเพื่อส่งออกให้กับสหรัฐ ตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไปครับ