สงครามยึดเมียวดีกับชีวิตคนชายแดน | กรุณา ใจใส
ในช่วงเวลานี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์สงครามภายในประเทศเมียนมา ระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมากับทหารกลุ่มต่อต้าน หลังจากเกิดการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ.2564 การสู้รบโดยอาวุธระหว่าง 2 ฝ่ายทวีความรุนแรงมากขึ้น
สหประชาชาติประมาณการว่าทำให้เกิดผู้ลี้ภัยหนีการสู้รบไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมกว่า 59,700 คน และมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 2,574,500 คน หรือมากกว่านั้น
นอกจากคนเมียนมาแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามยังมีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นด้วย เช่น คนไทยพลัดถิ่นที่บ้านห้วยส้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ อยู่ในเขต จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ห่างจากชายแดนไทยที่ อ.แม่สอด ประมาณ 10 กิโลเมตร มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่หลายพันคน มีภาษาพูดและวิถีวัฒนธรรมแบบคนภาคเหนือ และมีการรักษาวัฒนธรรมเหล่านี้ไว้อย่างเหนียวแน่น
หมู่บ้านนี้ก่อตั้งมากว่า 200 ปีแล้ว ก่อนที่จะมีการแบ่งเขตแดนประเทศด้วยแม่น้ำเมย ทำให้คนไทยกลุ่มนี้อยู่อาศัยในเขตประเทศเมียนมา และยังมีการไปมาหาสู่กับพี่น้องเครือญาติฝั่งไทย ทั้งแม่สอด แม่ระมาด ลำปาง เชียงใหม่ น่าน ฯลฯ
ในการสู้รบครั้งนี้พื้นที่บ้านห้วยส้านได้รับผลกระทบโดยตรง บ้านเรือนถูกระเบิดได้รับความเสียหาย แม้จะอพยพหนีออกมาได้ทันแต่ก็เกิดการสูญเสียอย่างมาก
หลังจากที่ได้รับข่าวจะมีการสู้รบในพื้นที่เมียวดี หลายคนข้ามชายแดนมาอาศัยบ้านญาติ และอยู่กันมานานหลายเดือนก่อนกลับไปดูบ้าน บ้างก็พบว่าบ้านเรือนถูกงัด และบางครอบครัวพบว่าบ้านถูกระเบิดไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีคนไทยพลัดถิ่นและชาวเมียนมาอีกมากที่ไม่สามารถข้ามแดนมาได้และต้องหนีไปอยู่วัดไทยในบริเวณชายแดนฝั่งเมียนมา หรือปลูกสร้างเพิงริมแม่น้ำติดชายแดนไทยเพื่ออยู่อาศัย ขาดแคลนทั้งอาหาร น้ำ และยารักษาโรค บางจุดอยู่รวมกันถึง 1,500-2,000 คน
ความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ต้องหนีภัยสงครามครั้งนี้ นอกจากสิ่งที่เห็นจากภาพว่าต้องมาอยู่อาศัยและใช้ชีวิตอย่างยากลำบากแล้ว ยังพบว่ากลุ่มผู้เปราะบางอย่างผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวก็ไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
บางคนเสียชีวิตระหว่างการหนีภัยสงคราม อีกทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดระหว่างอยู่ที่เพิงพัก ไม่มีทั้งน้ำสะอาด หรือเครื่องมือช่วยเหลือใดๆ นอกจากนี้พบว่าเด็กเล็กมีภาวะขาดสารอาหารรุนแรง การเจริญเติบโตไม่เป็นไปตามวัย ซึ่งจะเป็นปัญหาระยะยาวในอนาคต
การช่วยเหลือที่นอกเหนือจากแผนการรับมือของรัฐที่ได้เตรียมการไว้แล้ว ยังมีกลุ่มภาคประชาสังคมและหน่วยงานในองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ที่ส่งความช่วยเหลือเฉพาะหน้าเร่งด่วน
เช่น มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน (Help without frontier) ที่มีการช่วยเหลือในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่มีการสู้รบหลังรัฐประหาร โดยมีการจัดเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
เช่น ข้าวสาร เกลือ น้ำมัน พริกแห้ง ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เสื่อสำหรับปูนอน ฯลฯ และติดตั้งเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่พักพิงที่มีแหล่งน้ำ เพื่อการช่วยเหลือระยะยาวและลดปริมาณขยะพลาสติก
นอกจากนี้ภาคสังคมอย่างพระครูพินิตธรรมวิธาน (บุตรา) วัดมงคลนิมิต ต.แม่กาษา อ.แม่สอด ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีภัย เปิดครัวประกอบอาหาร นำอาหารและของใช้จำเป็นไปช่วยเหลือชาวเมียนมาและคนไทยพลัดถิ่นในหมู่บ้านห้วยส้าน จ.เมียวดี ด้วย
การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นหัวใจในการอยู่ร่วมกันของพลเมืองโลก สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมานั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ประชาชนผู้เดือดร้อนเหล่านี้เป็นผู้เลือก แต่ต้องเผชิญกับชะตากรรมความยากลำบากในการใช้ชีวิต การมองเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในสถานการณ์เช่นนี้นับเป็นสิ่งสำคัญ
หากประเทศไทยประกาศว่าจะเป็นพื้นที่ระเบียงมนุษยธรรมชายแดนไทย-เมียนมา เราก็ต้องแสดงให้เห็นจุดยืนที่เข้มแข็งที่จะดำรงสันติภาพกับประชาชนชาวเมียนมาอย่างแท้จริง.