"ไบแนนซ์"หวนจดทะเบียนในอินเดีย หวังกลับมาเริ่มดำเนินงานอีกครั้ง

"ไบแนนซ์"หวนจดทะเบียนในอินเดีย  หวังกลับมาเริ่มดำเนินงานอีกครั้ง

เจ้าหน้าที่อาวุโสจากไฟแนนเชียล อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต(เอฟไอยู)หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของอินเดีย เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (10 พ.ค.) ว่า ไบแนนซ์ ได้จดทะเบียนกับเอฟไอยู เนื่องจากไบแนนซ์ต้องการที่จะเริ่มกลับมาดำเนินการในอินเดียอีกครั้ง

ไบแนนซ์ ถูกห้ามไม่ให้ดำเนินการในอินเดียในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบในประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามของเอฟไอยูต่อการซื้อขายสกุลเงินคริปโทฯ ของต่างชาติที่ดำเนินงานในอินเดียโดยไม่ได้จดทะเบียน

อินเดียกำหนดให้ผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเสมือน เช่น แพลตฟอร์มซื้อขายคริปโทฯ ต้องลงทะเบียนกับเอฟไอยูและต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดภายใต้กฎระเบียบในการต่อต้านการฟอกเงินของประเทศ

นายวิเวก อัคการ์วาล ผู้อำนวยการของเอฟไอยู กล่าวว่า เมื่อไบแนนซ์ลงทะเบียนกับเอฟไอยูแล้ว ก็จะสามารถเริ่มกลับมาดำเนินการต่อได้หลังจากจ่ายค่าปรับสำหรับการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดก่อนหน้านี้

การเคลื่อนไหวในอินเดียมีขึ้นหลังจากช่วงปลายเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ผู้พิพากษาศาลสหรัฐอนุมัติให้ไบแนนซ์ จ่ายค่าปรับรวม 4.3 พันล้านดอลลาร์ในข้อหาละเมิดกฎหมายการฟอกเงิน

ผู้พิพากษา ริชาร์ด โจนส์ แห่งศาลแขวงสหรัฐในรัฐวอชิงตัน อนุมัติข้อตกลงยอมความระหว่างไบแนนซ์กับอัยการของรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าปรับ 1.8 พันล้านดอลลาร์และริบเงินอีก 2.5 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4.3 พันล้านดอลลาร์

รัฐบาลสหรัฐระบุในบันทึกการพิจารณาคดีว่าไบแนนซ์ทำกำไรจากระบบการเงินของสหรัฐโดยไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ และเป็นผลให้อาชญากรใช้แพลตฟอร์มการซื้อขายของไบแนนซ์เพื่อโอนย้ายเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์ที่ถูกขโมยมา รวมถึงรายได้ที่ผิดกฎหมาย

รัฐบาลสหรัฐระบุว่า บทลงโทษดังกล่าวถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมากับธุรกิจบริการด้านการเงินในสหรัฐ และเหมาะสมกับความรุนแรงในการกระทำผิดทางอาญาของไบแนนซ์