ตะลึง แสงออโรรา พายุสุริยะ คืนที่ 2 อ่อนแรงแต่ยังสวย!
แสงออโรรา ส่องสว่างเหนือท้องฟ้าในวันเสาร์เป็นคืนที่ 2 หลังจากสร้างความตื่นตะลึงให้ผู้คนตั้งแต่สหรัฐ แทสมาเนีย ไปจนถึงบาฮามาสมาแล้วในคืนก่อนหน้า
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน พายุสุริยะ ทรงพลังที่คาดว่าจะมีต่อไปจนถึงวันอาทิตย์ (12 พ.ค.) ก่อให้เกิดแสงประหลาดสีสันตระการตา ปกติมักเห็นได้เหนือท้องฟ้าซีกโลกเหนือจนเรียกกันว่า “แสงเหนือ”
“ผมรู้สึกถึงชีวิตผ่านค่ำคืนแห่งประวัติศาสตร์ในฝรั่งเศส ด้วยอนุภาพแสงอาทิตย์และอารมณ์สร้างพลังให้จริงๆ” เอริก ลากาเดค นักมานุษยวิทยาจาก
Observatoire de Cote d'Azur โพสต์โซเชียลมีเดียหลังชมปรากฏการณ์ในคืนแรก
“หาจุดดีๆ ห่างไกลแสง ฟ้าโปร่งทางตอนเหนือ!” เจ้าตัวแนะนำ
กลางดึกวันเสาร์ (11 พ.ค.) ภาพแสงออโรรา ปรากฏเต็มโซเชียลมีเดีย เมื่อประชาชนในสหรัฐต่างรายงานสิ่งที่ตนพบเห็น แม้ไม่แรงเท่าเมื่อคืนวันศุกร์ (10 พ.ค.)
ตามข้อมูลของศูนย์พยากรณ์สภาพอากาศอวกาศแห่งองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA)
การปลดปล่อยก้อนมวลโคโรนาใหญ่ (CMEs) จากดวงอาทิตย์ครั้งแรกเกิดขึ้นหลังเวลาประมาณ 16.00 น.ของวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลามาตรฐานสากล
หลังจากนั้นได้ยกระดับเป็นพายุสนามแม่เหล็กโลกรุนแรงระดับ G5 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิด “พายุฮาโลวีน” ในเดือนตุลาคม 2546ที่ทำให้ไฟดับในประเทศสวีเดนและสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในประเทศแอฟริกาใต้
พายุเมื่อวันศุกร์ จัดอยู่ในระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด วันเสาร์อยู่ในระดับ G3-G5 คาดว่าวันอาทิตย์จะเพิ่มขึ้นเป็นระดับ G4 และวันจันทร์ (13 พ.ค.) น่าจะอยู่ที่ G3
รอบนี้ไม่มีรายงานความปั่นป่วนใหญ่ในระบบพลังงานและเครือข่ายสื่อสารอย่างที่ทางการกังวลในตอนแรก มีแต่รายงานเบื้องต้นว่าสายส่งไฟฟ้าผิดปกติ การสื่อสารความถี่สูง จีพีเอส และระบบดาวเทียมนำทางอาจคุณภาพลดลง
-
ตื่นเต้นทั้งโลก
แสงสีชมพู เขียว ม่วง เหนือฟากฟ้ายามค่ำคืนสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนทั่วโลกตั้งแต่มงแซ็ง-มีแชลบนชายฝั่งฝรั่งเศส ไปปาเยตต์ ไอดาโฮ ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาถึงรัฐแทสเมเนีย ซึ่งเป็นเกาะของออสเตรเลีย
แสงอาทิตย์เดินทางถึงโลกใช้เวลาแปดนาที แต่ CMEs มาในอัตราที่ช้ากว่านั้น ปัจจุบันเฉลี่ย 800 กิโลเมตรต่อวินาที โดย CMEs เกิดจากจุดดับขนาดใหญ่บนดวงอาทิตย์ซึ่งใหญ่กว่าโลกของเราถึง 17 เท่า ประชาชนสามารถใช้แว่นดูสุริยุปราคาดูจุดดับบนดวงอาทิตย์ได้ในระหว่างวัน
ทั้งนี้ ดวงอาทิตย์กำลังจะถึงจุดสูงสุดของวัฏจักรสุริยะ 11 ปี ที่อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนในบรรยากาศสูงขึ้น
นายเบรนท์ กอร์ดอน จาก NOAA ขอให้สาธารณชนพยายามใช้กล้องมือถือจับภาพท้องฟ้ายามค่ำคืน แม้มองไม่เห็นแสงออโรราด้วยตาเปล่า
“คุณจะตื่นตะลึงกับภาพที่เห็นเทียบกับเมื่อคุณดูด้วยตาเปล่า”