“May the Soft Power be with you” ขอพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์จงสถิตอยู่กับท่าน (2)

“May the Soft Power be with you” ขอพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์จงสถิตอยู่กับท่าน (2)

ติดตามต่อตอนที่ 2 ของรายงาน การสร้างซอฟต์พาวเวอร์เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ "ไทย" และ "UK" ให้ความสำคัญ และจุดวัดความสำเร็จนี้ก็อยู่ที่วิสัยทัศน์และการให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้ของรัฐบาล

การสร้างซอฟต์พาวเวอร์เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ไทยและ UK ให้ความสำคัญ จุดวัดความสำเร็จอยู่ที่วิสัยทัศน์และการให้ความสำคัญกับภาคส่วนนี้ของรัฐบาล เม็ดเงินที่จะเพิ่มเข้ามาเพื่อเอื้อให้เกิดการเติบโต สร้างบรรยากาศให้เกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ที่สามารถนำไปใช้แข่งขันบนเวทีโลกได้จริง

ส่องนโยบายรัฐในการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยเทียบ UK

รัฐบาลไทยมุ่งเน้นนโยบายที่จะช่วยเพิ่มอิทธิพลทางวัฒนธรรมและชื่อเสียงของประเทศในเวทีสากล ผ่านโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่น การจัดตั้ง THACCA (Thailand Creative Culture Agency) และการยกระดับทักษะแรงงานด้วยโครงการ OFOS (1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์) เพื่อสนับสนุนการสร้างซอฟต์พาวเวอร์จากชุมชน

นอกจากนี้ยังมีการสร้างศูนย์บ่มเพาะเพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนทุกพื้นที่ รวมถึงการรื้อกฎหมายและทลายอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ร่วมกับภาคเอกชนใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย รวม 60 โครงการ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 8,727.7 ล้านบาท โดย 77% ของงบประมาณทั้งหมดอยู่ในสาขา TOP 5 ได้แก่ อาหาร ภาพยนตร์ กีฬา ท่องเที่ยว และเฟสติวัล

ในขณะเดียวกัน สหราชอาณาจักร (UK) ได้เผยแพร่รายงานชื่อ "Creative Industries Sector Vision" ที่แสดงถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จนถึงปี 2030 เป้าหมายของวิสัยทัศน์นี้ เป็นเรื่องของการพัฒนาความสามารถของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่ง UK ทุ่มงบประมาณกว่า 77 ล้านปอนด์ เพื่อปลดล็อกศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมีตัวอย่างโครงการที่วางไว้ดังนี้

  1. ส่งเสริมผลผลิตทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยรัฐบาลจะจัดสรรเงินทุนเป็นจำนวน 2 ล้านปอนด์ให้กับ London Fashion Week เพื่อสนับสนุนการจัดสัปดาห์แฟชั่น ตั้งแต่ปี 2023-2025 และ 1.7 ล้านปอนด์สำหรับเทศกาลภาพยนตร์ลอนดอนในปี 2024
  2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มูลค่ากว่า 80 ล้านปอนด์ สำหรับโครงการ Research Infrastructure for Conservation and Heritage Science (RICHeS) เพื่อรักษาชื่อเสียงของ UK ในด้านวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
  3. แนะนำกฎบัตร Creative Climate Charter เพื่อแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำ ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ 

ชวนคิด "ไทยพาวเวอร์" ที่ประกอบสร้างได้

จากข้อมูลที่ผ่านมา เป้าหมายของซอฟต์พาวเวอร์ไทยน่าจะโฟกัสไปที่การสร้างอิทธิพลโน้มน้าวเพื่อให้เกิดการซื้อสินค้า เสพคอนเทนต์ และเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งต้องอาศัยการผสานองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้ง การกำหนดวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน การสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต เพิ่มการประชาสัมพันธ์บนเวทีนานาชาติ สร้างแบรนด์หลักประจำชาติ (Nation Brand) ให้เป็นที่รู้จัก การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ และการผลิตสินค้าและบริการที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการสร้างฐานแฟนเพื่อสร้างกระแสการบริโภคซ้ำ

ตัวอย่างโมเดลเพื่อสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ สร้างให้ไทยเป็น "ดินแดนที่น่าเที่ยว น่าอยู่ น่าทำงาน สำหรับกลุ่มคนเพศทางเลือก" สามารถทำได้โดยใช้คอนเทนต์ช่วยสร้างภาพลักษณ์ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบที่สะท้อนถึงความหลากหลายทางเพศ ให้ศิลปินและนักออกแบบสร้างสรรค์ผลงานที่สนับสนุนความเข้าใจเรื่องเพศ จัดเทศกาลที่เฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จัดการแข่งขันกีฬาและพัฒนานักกีฬาเพศทางเลือก และจัดเวทีวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสิทธิที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพบนเวทีโลก

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก รายงาน “May the Soft Power be with you” ขอพลังแห่งซอฟต์พาวเวอร์จงสถิตอยู่กับท่าน ตามลิงก์ https://www.cea.or.th/th/single-research/soft-power-be-with-you