ราตรีนี้อีกยาวไกล เบื้องหลัง 'เศรษฐกิจกลางคืน' รันเมืองคึกคัก 24 ชั่วโมง
เมื่อหมดแสงอาทิตย์ ชีวิตในเมืองของคนอีกกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นในรูปแบบที่ต่างออกไป ผู้คนจากทุกสารทิศพากันหลั่งไหลเข้าสู่ 'โซนกลางคืนของเมือง' ทั้งทำมาหากินและเสพสีสัน รหัสชีวิตที่ซับซ้อนหล่อหลอมด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ มีเสน่ห์ดึงดูดผู้คนในทุกมุมโลก
Night-time economy หรือ 24-hour Economy คือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงเย็นเรื่อยไปจนถึงเช้าของอีกวัน ครอบคลุมภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งธุรกิจบันเทิง ร้านอาหาร กิจกรรมทางวัฒนธรรม การช็อปปิ้ง และบริการ เศรษฐกิจตอนกลางคืนมีความสำคัญสำหรับเขตเมือง เนื่องจากมีส่วนทำให้เมืองมีชีวิตชีวา สนับสนุนการจ้างงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานของ NTIA: Night-time Economy Report ระบุว่าในปี 2022 เศรษฐกิจยามราตรีในสหราชอาณาจักรสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มรวม (Gross value added: GVA) ถึง 2 ล้านล้านบาท จากผู้ประกอบการแห่งรัตติกาลกว่า 149,000 ราย มีการจ้างงานราว 452,000 ตำแหน่ง
หันกลับมามองเศรษฐกิจกลางคืนของไทย ข้อมูลจาก MONEY LAB ระบุว่ามีมูลค่าราว 192,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1% ของมูลค่า GDP ประเทศไทย แม้ปัจจุบันจะโตไม่เท่ายูเค แต่หากไทยมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน อาจเร่งสปีดขึ้นมาเทียบได้ไม่ยาก
เมืองใหญ่ทั่วโลกเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจยามราตรี เพื่อสร้างชีวิตชีวาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่เมืองของตน การลงทุนในแสงสี เสียง และเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง Projection Mapping หรือ AR/VR กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับสถานบันเทิงยามค่ำคืนให้กลายเป็นจุดดึงดูดสายตาสำหรับนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น
กลไกของงานประจำปีถูกนำมาใช้ทั้งเทศกาลดนตรี การเฉลิมฉลองทางวัฒนธรรม และการจัดวางผลงานศิลปะที่นำเสนอประสบการณ์อันน่าประทับใจ สร้างความแตกต่างและโดดเด่น นอกเหนือจากชีวิตกลางคืนแบบปกติ เช่น เทศกาล "Vivid Sydney" ที่ซิดนีย์ เทศกาล "Fête des Lumières" ในเมืองลิยง ประเทศฝรั่งเศส หรือในไทยอย่างงาน "Awakening" ล้วนเป็นตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์จากช่วงเวลากลางคืนเพื่อสร้างสีสันให้กับเมือง
การจัดงานเหล่านี้ช่วยสร้างชื่อเสียงให้เมืองในฐานะศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ดึงดูด Talent และการลงทุนใหม่ ๆ เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในท้องถิ่นอย่างร้านอาหาร บาร์ โรงแรม และสถานบันเทิง ให้เฟื่องฟูตามไปด้วย
กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการกลายเป็นหนึ่งในเมืองแห่งชีวิตราตรีระดับโลก ด้วยวิสัยทัศน์ในการสร้างเมืองที่คึกคัก ร่วมสมัย ไม่ติดกรอบวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ ปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย และมอบประสบการณ์ยามค่ำคืนที่ยอดเยี่ยม การจะบรรลุเป้าหมายนี้ต้องอาศัยการวางแผนแบบบูรณาการ การสร้างสถานที่และกิจกรรมกลางคืนที่น่าสนใจ การพัฒนาธุรกิจบริการและความบันเทิงให้ได้มาตรฐานระดับสากล ควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย และการพัฒนาโปรเจคสร้างสรรค์ยามค่ำคืนต่าง ๆ เช่น จุดแลนด์มาร์กแสงสี เสียง มัลติมีเดีย ตลาดนัดกลางคืน หรือ เทศกาลศิลปะและดนตรี ล้วนมีส่วนช่วยสร้างเสน่ห์และภาพลักษณ์ให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาตลอด 24 ชั่วโมง ดึงดูดนักท่องเที่ยวท้องถิ่นและชาวต่างชาติ
รัฐบาลไทยตระหนักถึงศักยภาพของเศรษฐกิจกลางคืนและพยายามส่งเสริมผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การอนุญาตให้สถานบริการในเขตสำคัญอย่างกรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ ภูเก็ต และเกาะสมุย เปิดบริการได้ถึงตี 4
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของคนทำงานกลางคืน ทั้งในเรื่องของสุขภาพ ความปลอดภัย และความพึงพอใจในการทำงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลผลิตและคุณภาพการบริการ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมือง อีกประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือการรักษาจุดสมดุลของการบริโภคและความยั่งยืน การพิจารณาถึงผลกระทบทางสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้การเติบโตของเศรษฐกิจกลางคืน เป็นไปอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ
CEA เชิญชวนติดตามอ่านชุดบทความของ "คิด" (https://www.creativethailand.org/) ภายใต้ธีม "เศรษฐกิจกลางคืน - The Night Shift Edition" ฉบับเดือนเมษายน 2567 โดยจะนำเสนอให้เห็นถึงคาแรกเตอร์ของเมืองใหญ่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยหลับใหล แม้ในเวลาที่พระอาทิตย์ตกดิน ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คน สถานที่ เทรนด์ ความท้าทาย และนวัตกรรมที่น่าสนใจ