‘ปริญญา’ และ ‘วันเกษียณ’ อาจไม่สำคัญอีกต่อไป

เรื่องนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่ มันถูกพูดถึงมาต่อเนื่อง แต่ยังไม่เห็นหนทางที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะกับค่านิยมของสังคมไทยที่ยังให้ความสำคัญกับใบปริญญามากกว่าทักษะและความสามารถ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน "ใบปริญญาจากมหาวิทยาลัย" มักถูกมองว่าเป็นตั๋วรถด่วนมุ่งสู่ความสำเร็จในอาชีพการงาน ครอบครัวจึงมักส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนต่อในระดับปริญญาตรีกันมากขึ้น แต่ในโลกการทำงานจริงวุฒิการศึกษาไม่ได้การันตีทักษะ และความสามารถเสมอไป

ข้อมูลจาก Harvard Business Review ระบุว่าบริษัทใหญ่ๆ อย่างเช่น Google, Delta Airlines และ Accenture กำลังเป็นผู้นำเทรนด์ในการลบข้อกำหนดด้านปริญญาออกจากประกาศรับสมัครงาน เน้นการจ้างงานตามทักษะ และผลงานช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงกลุ่ม Talent ได้อย่างไม่จำกัด เปิดโอกาสให้คนทุกระดับที่มีความสามารถแต่ไม่ได้ผ่านการบ่มเพาะจากมหาวิทยาลัย เข้าทำงานในองค์กรชั้นนำได้

เรื่องการจ้างงานตามทักษะและผลงาน นำร่องโดย "ธุรกิจสร้างสรรค์" มานานแล้ว ด้วยเพราะรูปแบบการจ้างงานที่ไม่เหมือนกับธุรกิจประเภทอื่นๆ

ข้อมูลจาก OECD ระบุว่าแรงงานสร้างสรรค์ทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นคนทำงานฟรีแลนซ์ รองลงมาคือ การทำงานแบบพาร์ตไทม์หรือสัญญาจ้างชั่วคราว ดังนั้นการจ้างงานในกลุ่มนี้จึงมักไม่สนใจกับวุฒิการศึกษา แต่จะพิจารณาจ้างจาก Portfolio และผลงานที่เคยทำเป็นหลัก

กลับมาที่รูปแบบการจ้างแรงงานสร้างสรรค์ของไทย ข้อมูลสถิติโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) พบว่าแรงงานสร้างสรรค์ทั้งหมดกว่า 1 ล้านคน ประมาณ 68.3% ยังคงเป็นลูกจ้างในองค์กรของรัฐ และเอกชนทั้งในรูปแบบ Full-time หรือ Part-time แม้จะมีความแตกต่างกับกระแสโลกอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าอีกไม่นานภูมิทัศน์ของแรงงานสร้างสรรค์ไทยจะเปลี่ยนไป เพราะคนรุ่นใหม่ต้องการ การทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

ทัศนคติของแรงงานในปัจจุบันไม่ได้มุ่งหวังเรื่องความมั่นคงทางอาชีพแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการความยืดหยุ่น ความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว และการทำงานที่ดีขึ้น

ผลสำรวจของ Gartner พบว่า 75% ของผู้สมัครงานต้องการทำงานแบบ Remote Work ที่ไม่ต้องเข้ามานั่งทำงานที่ออฟฟิศ หรือการทำงานแบบไฮบริดที่เข้ามาประชุมทีมได้ในบางวัน

เทรนด์นี้ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม เพราะจากพนักงานเกือบครึ่งที่ร่วมทำการสำรวจ บอกว่ากำลังมองหางานใหม่เพราะต้องการทำงานในองค์กรที่มีความยืดหยุ่นมากกว่านี้ โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ทำงาน การลดจำนวนชั่วโมงทำงาน การลาพักระหว่างปีเพื่อเรียนรู้ หาประสบการณ์ใหม่ๆ หรือดูแลครอบครัวได้ โดยไม่ต้องเสียสละอาชีพการงานของตน เป็นองค์กรในฝันที่แรงงานคนรุ่นใหม่กำลังมองหา

อิทธิพลจากเทรนด์นี้ผลักดันให้ LinkedIn เปิดตัวฟีเจอร์ “Career Break” ซึ่งช่วยให้สมาชิกสามารถระบุช่วงเวลาหยุดพักในประวัติการทำงานของโปรไฟล์ตนเองได้ โดยเปิดให้ระบุเหตุผลถึง 13 ประการ ตั้งแต่การเลี้ยงลูกเต็มเวลา การเดินทาง ไปจนถึงการย้ายที่อยู่ และการเปลี่ยนอาชีพ นั่นแสดงให้เห็นว่าโลกแห่งการทำงานเริ่มเปิดกว้างขึ้น จำนวนเดือนหรือปีในการทำงานที่หายไป ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องปกปิดอีกต่อไป

อีกแนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจคือ “ทำงานไปเรื่อยๆ เหนื่อยเมื่อไรค่อยเกษียณ” จุดสิ้นสุดของเส้นทางอาชีพตามแนวคิดแบบเดิมเริ่มล้าสมัยแล้ว

ข้อมูลจาก Pew Research ระบุว่า 1 ใน 5 (19%) ของชาวอเมริกันที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ถูกจ้างงานเพิ่มขึ้นในปี 2023 แรงงานสูงอายุไม่เพียงแต่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่อำนาจในการหารายได้ของพวกเขายังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ช่วงระหว่างปี 1987-2022 แรงงานที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นถึง 69% แสดงให้เห็นว่าประสบการณ์มีความเชื่อมโยงกับค่าจ้างที่สูงขึ้น

การทำความเข้าใจในแนวโน้มหรือภูมิทัศน์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป จะช่วยให้องค์กรต่างๆ ดึงดูด และรักษาผู้มีความสามารถไว้ในองค์กรได้ เพื่อให้พร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี และโมเดลการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์