Fitness Trends แนวโน้มใหม่เมื่อผู้บริโภค ไม่ได้หวังแค่ “หุ่นดี”
เทรนด์ใหม่ในวงการฟิตเนส ตั้งแต่อุปกรณ์ Wearable device ที่ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม สถานที่ออกกำลังกายที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ ธุรกิจเหล่านี้กำลังเร่งปรับตัว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทุกช่วงวัยและไลฟ์สไตล์
การบังคับตัวเองให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายดูเหมือนเป็นเรื่องยากสำหรับหลาย ๆ คน แม้ปัจจุบันจะมีเครื่องมือและแอปพลิเคชั่นมากมายที่ช่วยเตือนให้เราเคลื่อนไหว แต่สุดท้ายแล้วมันก็ขึ้นอยู่กับวินัยของเราเอง ตลาด Digital Fitness & Well-Being แม้จะเติบโตต่อเนื่องมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังสามารถขยายตัวขึ้นได้อีก
รายงานจาก Statista คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2024 ตลาดนี้จะสร้างรายได้สูงถึง 93.56 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก และจะเติบโตต่อไปอีกราว 7.83% ภายในปี 2028 นี่เป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าผู้คนพร้อมที่จะลงทุนเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของตนเอง
ประเทศที่เป็นผู้นำในตลาดนี้คือ "จีน" ด้วยเพราะมีประชากรเป็นจำนวนมาก และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการดูแลตัวเองได้ในราคาถูก ส่วนไทยเองก็มีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน แม้มูลค่าตลาดจะเพียงแค่ 1.4% เมื่อเทียบกับจีน
WGSN ได้เผยเทรนด์การออกกำลังกายใหม่ที่เน้นการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้เราจะได้เห็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพักผ่อน การฟื้นฟูจิตใจ และการรักษาสุขภาพให้ยืนยาว การเข้ายิมจึงไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ปั้นหุ่นเพรียวอีกต่อไป แต่ยังต้องสร้างประสบการณ์ทางอารมณ์ควบคู่ไปด้วย
แบรนด์ทั้งหลายจึงมีโอกาสในการสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพที่กำลังเปลี่ยนแปลง การลงทุนในสุขภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกวัย ทั้งกลุ่มเบบี้บูมเมอร์วัย 60-70 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายเพื่อการมีอายุที่ยืนยาว และกลุ่มมิลเลนเนียลที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยกลางคน ฟิตเนสจึงมีโอกาสที่จะขยายบริการด้านการฟื้นฟู (Recovery services) ตอบโจทย์การดูแลสุขภาพระยะยาว ด้วยนวัตกรรมและการออกแบบที่ล้ำสมัย
Hyper-Personalization: การผสานเทคโนโลยีทางการแพทย์เข้ากับโปรแกรมการออกกำลังกายเปิดโอกาสให้ฟิตเนสธรรมดาสามารถให้บริการที่เข้าถึงความต้องการและสุขภาพของแต่ละบุคคลได้อย่างแม่นยำ การใช้ข้อมูลสุขภาพจากอุปกรณ์สวมใส่ในการออกกำลังกาย (Wearable devices) ช่วยให้ผู้ฝึกสอนสามารถออกแบบโปรแกรมการฝึกที่สอดคล้องกับสภาพร่างกายและเป้าหมายทางสุขภาพของผู้ใช้บริการได้โดยตรง ตัวอย่างเช่น David Lloyd EGYM ใน UK ได้นำเอาเทคโนโลยี AI มาช่วยปรับน้ำหนักในการฝึกเวทเทรนนิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนามวลกล้ามเนื้อให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
Support feel-good fitness and recovery: การออกกำลังกายและฟื้นฟูที่เน้นให้ผู้คนรู้สึกดีกำลังกลายเป็นเทรนด์หลักในอุตสาหกรรมฟิตเนส คลาสยืดกล้ามเนื้อและปรับการเคลื่อนไหวไม่เพียงแต่ช่วยลดอาการปวดเมื่อย แต่ยังช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้รับการผ่อนคลาย นอกจากนี้การแช่ตัวในอ่างน้ำเย็นหลังการออกกำลังกายก็กลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยฟื้นฟูกล้ามเนื้อและลดการอักเสบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Sweat for longevity: เป้าหมายการออกกำลังกายเพื่อชีวิตที่ยืนยาว ถูกใจกลุ่มบูมเมอร์ที่ต้องการรักษาสุขภาพที่ดีในวัยเกษียณ ฟิตเนสต่าง ๆ จึงต้องปรับบริการ เสนอคลาสที่มีความเข้มข้นต่ำ (Low-impact workouts) เช่น พิลาทิสและโยคะ พร้อมเสริมความตื่นเต้นเพื่อกระตุ้นหัวใจผ่านคลาส เช่น Bungee fitness หรือ Trampoline ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยให้ผู้ใช้บริการรู้สึกดีและปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ยังเสริมสร้างสมรรถนะให้กับชีวิตในระยะยาวด้วย
Offer community and third-space workouts: การสร้างชุมชนและส่งเสริมการใช้พื้นที่สาธารณะเป็นสถานที่ออกกำลังกาย เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตทั่วโลก พื้นที่ดังกล่าวนอกจากจะมีไว้เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูร่างกายแล้ว ยังต้องทำหน้าที่เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และเชื่อมต่อผู้คนในชุมชน การออกแบบพื้นที่ที่ดีสามารถช่วยสร้างความรู้สึกเป็นมิตรได้ รวมไปถึงการออกแบบคลาสที่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสบายใจสำหรับผู้หญิง ผู้พิการ หรือกลุ่ม LGBTQ+ เปิดกว้างให้ทุกคนไม่ว่าจะมีเพศสภาพหรืออายุใด ก็สามารถเข้าถึงการออกกำลังกายได้อย่างเท่าเทียมและมีสุขภาพดีร่วมกัน
การปฏิวัติในโลกของการออกกำลังกายและฟิตเนส ชักชวนเราหันมาให้ความสำคัญกับสมดุลทางจิตใจ การเชื่อมต่อทางสังคม การใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการมีสุขภาพเฉพาะบุคคลที่ดีและยั่งยืน เหล่านี้ล้วนเปิดโอกาสให้กับภาคธุรกิจ สร้างสรรค์งานบริการและประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภควิถีใหม่อย่างเหมาะสม