ไทยมี “ผ้าขาวม้า” สกอตแลนด์มี “ทาร์ทัน”ลายทอเหมือนกัน แต่ความดังไม่เท่ากัน
ไทยมี “ผ้าขาวม้า” สกอตแลนด์มี “ทาร์ทัน”ลายทอเหมือนกัน แต่ความดังไม่เท่ากัน ลองถอดวิธีการที่สกอตแลนด์ใช้กับ “ทาร์ทัน” จนดังไปทั่วโลก
ความพยายามที่จะให้ต่างชาติหันมาสนใจใน “ผ้าขาวม้าไทย” ของ นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน เป็นเรื่องน่าชื่นชม ผ้ากว่า 30 ผืนทั่วไทยที่ถูกหยิบนำไปใช้ระหว่างเยือนต่างประเทศ ล้วนมีความหมายกับทั้งผู้ผลิตและผู้พบเห็น แต่มันจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึง 20 เท่าหรือไม่ ลองถอดวิธีการที่สกอตแลนด์ใช้กับ “ทาร์ทัน”
ในโลกแห่งสิ่งทอที่หลากหลายและมีเสน่ห์ “ผ้าขาวม้า” ถือเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมของไทยที่มีเรื่องราวน่าสนใจและยาวนาน คำว่า “ขาวม้า” คาดว่ามีที่มาจากคำในภาษาอิหร่านที่ใช้ในสเปน “คามาร์ บันด์” หมายถึงผ้าคาดเอว โดยได้เข้ามาสร้างความนิยมในแถบนี้ ตั้งแต่อาณาจักรโยนกนาคนคร ผ่านการเดินทางสำรวจโลกของจักรวรรดิสเปน
ในไทยผ้าขาวม้ามีหลากหลายลวดลายการทอซึ่งสะท้อนถึงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนและแพร่หลายไปในทุกพื้นที่ของประเทศ ในเชิงฟังก์ชันผ้าขาวม้าได้กลายเป็นผ้าอเนกประสงค์ที่ไม่จำกัดเพียงเครื่องแต่งกายเท่านั้น แต่ยังถูกใช้สำหรับโพกศีรษะ เช็ดเหงื่อ ปูนอน นุ่งอาบน้ำ หรือผูกเปล
ในอีกซีกโลก ผ้าลายสก็อต หรือ ทาร์ทัน (Tartan) ของสกอตแลนด์เป็นผืนผ้าที่มีเรื่องเล่าอันยาวนานไม่แพ้กัน ต้นกำเนิดของผ้าลายนี้สามารถย้อนกลับไปถึงยุคของชาวเซลติก (Celtic) บรรพบุรุษของชาวสก็อต ที่ใช้ผ้าทอจากขนสัตว์ ประดับตกแต่งด้วยแถบสีต่าง ๆ เพื่อสร้างเป็นเครื่องนุ่งห่ม
ในยุคนั้นลวดลายทาร์ทันอาจจะเรียบง่าย ด้วยการใช้สีย้อมธรรมชาติ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผ้าทาร์ทันเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น กลายไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจและเอกลักษณ์ประจำตระกูล แต่ละลวดลายสามารถบอกเล่าถึงตำนานของครอบครัว ภูมิภาค และประวัติศาสตร์ เปรียบเสมือนเป็นหน้าต่างสู่อดีต
การบริหารจัดการลายผ้าทาร์ทันไม่ได้ถูกปล่อยให้เกิดขึ้นอย่างไร้ทิศทาง รัฐบาลสกอตแลนด์ให้ความสำคัญถึงขั้นตราเป็นกฎหมายผ่าน Scottish Register of Tartans Act 2008ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและรักษามรดกทางวัฒนธรรมของผ้าทาร์ทันให้คงอยู่
เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าชนิดนี้ คือ Scottish Register of Tartans (SRT) เป็นฐานข้อมูลอย่างเป็นทางการสำหรับใช้บันทึกและปกป้องลวดลายผ้าทั้งจากอดีตและร่วมสมัย ดำเนินการโดย National Records of Scotland (NRS) ใช้ขั้นตอนการจดทะเบียนที่มีความเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าลวดลายที่ถูกบันทึกนั้นมีคุณภาพและมาตรฐานที่สูง
อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนไม่ได้หมายถึงการได้รับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาโดยอัตโนมัติ แต่เป็นการบันทึกสถานะของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่อาจเกี่ยวข้อง
ผ้าทาร์ทันยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่ร่วมสมัยไร้กาลเวลาไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์อย่าง Vivienne Westwood หรือ Burberry มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับผ้าลายนี้ วิเวียน เวสต์วูด ซึ่งมีความหลงใหลในประวัติศาสตร์และประเพณีของอังกฤษและสกอตแลนด์ ได้นำผ้าทาร์ทันมาใช้ในหลายคอลเลกชันของเธอ เช่น Anglomania และ On Liberty
ภาพ: viviennewestwood.com
นอกจากนี้ เธอยังร่วมมือกับ Lochcarron of Scotland ซึ่งเป็นโรงทอเก่าแก่ของสกอตแลนด์ในการออกแบบลายผ้าทาร์ทันของเธอเอง มีชื่อว่า MacAndreas
นอกจากความเป็นผ้าแล้ว ทาร์ทัน ยังถูกใช้เป็นตัวแทนสืบต่อวัฒนธรรมและมรดกของสกอตแลนด์ข้างทวีป อย่างในสหรัฐอเมริกามีการจัดงานที่ชื่อว่า “NYC Tartan Day Parade” ทุกวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ณ นครนิวยอร์ก เพื่อเป็นการระลึกถึงบรรพบุรุษชาวสก็อตที่ข้ามทะเลมาตั้งรกรากที่นี่ โดยเฉลิมฉลองผ่านรหัสทางวัฒนธรรมสก็อตที่แข็งแรงทั้งดนตรี การแต่งกาย การเต้นรำ และวิสกี้
ผ้าขาวม้าไทยอาจมีศักยภาพเทียบเท่า หากเราเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการวัฒนธรรมทาร์ทันแบบสกอตแลนด์ การสร้างฐานข้อมูลลายผ้าเป็นก้าวสำคัญในการจำแนกและคุ้มครองลวดลายแบบดั้งเดิม และเปิดรับการครีเอทลายใหม่ ๆ
นอกจากนี้ การใช้ลายผ้าเป็นสิทธิ์ใบอนุญาต (License) ยังเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าและขยายขอบเขตการใช้งานของลายผ้า เปิดโอกาสให้นำไปใช้พัฒนาไลน์สินค้าอื่น ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ Digital Wallpaper หรือการสร้างลวดลายให้กลายแบรนด์ ยกตัวอย่างเช่น Loganair ของสกอตแลนด์ ที่พัฒนาลายผ้าของตัวเอง “Loganair Tartan” และนำไปใช้สร้างภาพจำผ่านชุดของลูกเรือและตกแต่งที่หางเครื่องบิน เป็นต้น
เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ไทยอาจใช้เป็นแนวทางยกระดับสถานะของผ้าขาวม้าให้เป็นที่ยอมรับและน่าสนใจในสายตาโลกได้