Tesla อาจซบ 'ไทย' ลดพึ่งพา 'จีน' กูรูชี้เบนเข็มแหล่งใหม่ ดีทรอยต์แห่งเอเชีย
นักวิเคราะห์ชี้ 'ไทย' อาจดึงดูดค่ายรถอีวีเบอร์ใหญ่อย่าง Tesla ที่ต้องการลดการพึ่งพา 'จีน' หลังสงครามการค้าสหรัฐและจีนดุเดือด กดดันเทสลาหาทางออกเบนเข็มสู่ 'ดีทรอยต์แห่งเอเชีย' ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านซัพพลายเชน
KEY
POINTS
-
รัฐบาลสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีรถยนต์อีวีนำเข้าจากจีนเป็น 4 เท่า สูงถึง 100%
-
เทสลาและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเผชิญวิกฤติยอดขายที่ชะลอตัว ขณะที่จีนบุก EV เปิดตัวรถราคาประหยัด
-
ประเทศไทย "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" มีความพร้อมด้านซัพพลายเชน พร้อมดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยแรงจูงใจด้านภาษีและนโยบาย
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานอ้างมุมมองของนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์หลายคนว่า "ประเทศไทย" ซึ่งเป็นที่รู้จักดีในฐานะ "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" อาจกลายเป็นแหล่งการลงทุนทางเลือกใหม่ของ "เทสลา อิงค์" (Tesla) ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เบอร์ 1 จากสหรัฐ เนื่องจากตอนนี้ Tesla ถูกกดดันในประเด็น “สงครามการค้า”ระหว่างสหรัฐและจีน กำลังส่งผลต่อเทสลาและอีลอน มัสก์ ในหลายๆ ด้าน
“การจำกัดการเข้าถึงตลาด” เป็นหนึ่งในผลกระทบจากสงครามการค้าที่ชัดเจนที่สุด โดยรัฐบาลสหรัฐ ต้องการจำกัดการนำเข้าสินค้าจากจีน รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะรุ่นที่มีราคาต่ำเพียง 10,000 ดอลลาร์
ทำไม 'เทสลา' ต้องเบนเข็มลดการลงทุนใน 'จีน'
‘จีน’ ถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเทสลาเป็นรองแค่สหรัฐ โดยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดถึง 33% จากยอดขายของเทสลาทั่วโลก แต่สถานการณ์ยอดขายในจีนกลับลดลงต่อเนื่อง เฉพาะช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 ยอดขายของเทสลาในจีนร่วงลงไปแล้วถึง 7.64% ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดจากค่ายรถยนต์สัญชาติจีนเอง และการทำ “สงครามราคา” ที่เทสลาหนีไม่พ้นต้องลงมาเล่นด้วย
ความท้าทายเหล่านี้เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผลประกอบการไตรมาสแรกของบริษัทมีกำไรลดลงถึง 55% นำไปสู่การตัดสินใจของบริษัทที่นำโดย “อีลอน มัสก์” ในการเลิกจ้างพนักงานนับหมื่นราย และลดการใช้จ่ายครั้งใหญ่ในแผนกซูเปอร์ชาร์จ
Tesla มีฐานการผลิตหลักในจีน ซึ่งเป็น"กุญแจสำคัญ"ทางการตลาดสำหรับทั้งการผลิตและความต้องการของผู้บริโภค ทำให้มัสก์ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างมากในการปลดล็อกตลาดใหม่ พร้อมเผชิญกับความท้าทายด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังกังวลเรื่อง “ภาษีนำเข้า” สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในจีน โดยมีรายงานว่าในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจประกาศขึ้นภาษีรถยนต์อีวีนำเข้าจากจีนเป็น 4 เท่า จาก 27.5% ไปเป็น 102.5% และหากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีปลายปีนี้ ก็อาจมีมาตรการภาษีกับอีวีจีนที่รุนแรงขึ้น
จุดนี้อาจสะเทือนต่อ"ยุทธศาสตร์"การส่งออกของเทสลาที่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า รถเทสลาที่ขายในแคนาดานั้นนำเข้ามาจากจีน ซึ่งหมายความว่าต้นทุนของรถที่ผลิตในจีนเมื่อขนส่งไปขายในแคนาดาแล้วยังถูกกว่ารถที่ผลิตจากอเมริกาที่มีพรมแดนติดกันเสียอีก
ทำไม 'ประเทศไทย' ถึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
“ประเทศไทย” ได้รับการขนานนามว่า “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” มาหลายปีแล้ว เนื่องจากประเทศไทยมีฐานการผลิตยานยนต์ที่มั่นคง บริษัทรถยนต์นานาชาติหลายแห่ง เช่น โตโยต้า ฮอนด้า และฟอร์ด ต่างก็มีโรงงานในประเทศไทย รวมทั้งมีห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ที่พัฒนาแล้ว ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายรายตั้งอยู่ในประเทศไทย ฐานการผลิตในประเทศไทยจะช่วยให้เทสลาสามารถลดการพึ่งพาจีน และเข้าถึงตลาดเอเชียและตลาดอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นโมเดลจำลองเส้นทางการเติบโตอย่างรวดเร็วของจีน
เครก เออร์วิน นักวิเคราะห์วิจัยจากรอธ แคปิตอล กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นเส้นทางที่เป็นไปได้ จากการมีต้นทุนชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใกล้เคียงกับจีน นำไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาที่แข่งขันได้ ทั้งนี้การที่ไทยมีห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ที่พัฒนาแล้ว ทำให้ง่ายต่อการหาชิ้นส่วนที่จำเป็นสำหรับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนโรงงานของเทสลาในเซี่ยงไฮ้ได้ด้วยเช่นกัน”
เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเติบโตที่รวดเร็วของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่มีราคาไม่แพงและมีประสิทธิภาพ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศกำลังให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทางรัฐบาลสหรัฐกำหนดเงื่อนไขเครดิตภาษีใหม่ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีการผลิตในจีน เช่น เทสลา
ขณะที่“รัฐบาลไทย”เองก็มีการสนับสนุนด้วยเงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้าและดึงดูดผู้ผลิตต่างชาติ โดยทางการไทยได้พูดคุยกับ Tesla อย่างต่อเนื่อง ขณะที่อีลอน มัสก์ กำลังมองหาสถานที่สำหรับโรงงานขนาดใหญ่แห่งต่อไป โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่พิจารณาตลอดสองสามปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอินเดีย
“การส่งออกรถยนต์จากประเทศไทยไปยังตลาดสหรัฐ หรือสหภาพยุโรป (EU) ส่งผลกระทบทางการเมืองน้อยกว่าการส่งออกจากจีน” เซธ โกลด์สตีน นักยุทธศาสตร์ของ Morningstar ซึ่งวิเคราะห์และติดตามผลการดำเนินงานของ Tesla กล่าว
ด้าน สตีเวน ไดเออร์ อดีตผู้บริหารของฟอร์ดและกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา AlixPartners ประจำเซี่ยงไฮ กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านยานยนต์ แรงงาน และนโยบายที่มีอยู่ของไทย ล้วนส่งเสริมศักยภาพให้ไทยสามารถเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ตลาดผู้บริโภคภายในประเทศที่มากพอสำหรับรองรับปริมาณการผลิตในประเทศ
“ในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีหลักการสำคัญว่า “ผลิตที่ไหน ขายที่นั่น” ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งและภาษีศุลกากร รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดรถยนต์ที่กำลังเติบโต และไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์และผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอยู่แล้ว โดยโตโยต้า ฮอนด้า นิสสัน ฟอร์ด จีเอ็ม และเมอร์เซเดส-เบนซ์ ต่างเลือกใช้ประเทศไทยเป็นสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค”
ไทยมุ่งมั่นที่จะเป็น “ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า” ชั้นนำระดับโลก โดยตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 30% ของ จำนวนการผลิตทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และมีการเสนอแรงจูงใจที่สำคัญให้กับผู้ผลิต EV ต่างชาติ รวมถึงการลดภาษีนำเข้าสูงสุด 40% และลดอัตราภาษีสรรพสามิตเหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบเสร็จสมบูรณ์ที่นำเข้ามาในปี 2567 และ 2568 โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเริ่มผลิตในประเทศไทยภายในปี 2570
“หากประเทศไทยกลายเป็นตลาดที่สามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรือชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าได้ในราคาถูกและสามารถส่งออกได้อย่างอิสระ ผมคิดว่าผู้ผลิต EV รายใหญ่หลายรายน่าจะพิจารณาสร้างโรงงานในประเทศไทยซึ่งรวมถึง Tesla ด้วย” โกลด์สตีน กล่าว