"เจอโรม พาวเวล" ไม่ฟันธงดัชนี PPI บ่งชี้เงินเฟ้อดีดตัวต่อเนื่อง
เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ฟันธงดัชนี PPI บ่งชี้เงินเฟ้อดีดตัวต่อเนื่อง พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐแข็งแกร่ง โดยจีดีพีขยายตัวไม่ต่ำกว่า 2%
นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า แม้ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในวันนี้(14พ.ค.)ดูเหมือนบ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้น แต่ดัชนีดังกล่าวก็ส่งสัญญาณแตกต่างกันไป เนื่องจากองค์ประกอบบางรายการแสดงสัญญาณผ่อนคลายลง
"แม้ว่าเงินเฟ้อได้ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในปี 2566 แต่อัตราการปรับตัวลงดังกล่าวได้ชะลอตัวอย่างมากในปีนี้ ทำให้เฟดต้องกลับมาพิจารณาใหม่เกี่ยวกับทิศทางการดำเนินนโยบาย เราไม่คาดว่านี่จะเป็นหนทางที่ราบรื่น แต่เงินเฟ้อได้ปรับตัวสูงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ ทำให้เราต้องใช้ความอดทน และปล่อยให้นโยบายที่เข้มงวดทำงานต่อไป โดยเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับปัจจุบันยาวนานกว่าที่คาดไว้" พาวเวล กล่าวในการประชุมประจำปีของสมาคมธนาคารต่างชาติที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ในวันนี้
อย่างไรก็ดี นายพาวเวลไม่คาดว่าเฟดจะทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต ประจำเดือนเม.ย.ในวันนี้
ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.2% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 1.8% ในเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมี.ค.
ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 2.1% ในเดือนมี.ค.
อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี PPI พื้นฐาน ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนเม.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% หลังจากปรับตัวลง 0.1% ในเดือนมี.ค.
นอกจากนี้ นายพาวเวลยังแสดงความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัว 2% หรือมากกว่า ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐปรับตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะตลาดแรงงาน ขณะที่ภาคครัวเรือนมีสถานะทางการเงินที่มั่นคง
นายพาวเวลกล่าวว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคและการลงทุนในภาคธุรกิจยังคงรักษาความแข็งแกร่งไว้ได้ แม้เผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานในหลากหลายอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานกำลังส่งสัญญาณกลับสู่ภาวะสมดุลที่ดีขึ้น และกำลังเผชิญภาวะตึงตัวเหมือนในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่มีสิ่งบ่งชี้ว่าอุปสงค์และอุปทานกำลังเริ่มปรับตัวใกล้เคียงกันมากขึ้น