ครั้งแรกรอบ 20 ปี สิงคโปร์ได้นายกฯ ใหม่
ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ สืบต่อ ลี เซียนหลุง
เว็บไซต์อัลจาซีราห์รายงาน ลอว์เรนซ์ หว่อง วัย 51 ปี รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์แทนลี เซียนหลุง บุตรชายคนโตของลี กวนยู นายกฯ คนแรกของสิงคโปร์ ที่ทำหน้าที่มาตั้งแต่ เดือน ส.ค.2547 ซึ่งตั้งแต่ได้รับเอกราชมา 59 ปี สิงคโปร์เพิ่งมีนายกฯ เพียงสี่คนเท่านั้น
หว่องเป็นสมาชิกพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) เช่นเดียวกับนายกฯ คนก่อนหน้า พรรคนี้มีลีผู้พ่อเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นพรรครัฐบาลมาโดยตลอด
หว่องผู้มีบุคลิกสุภาพได้รับเลือกจากเพื่อนกลุ่มผู้นำรุ่นที่ 4 (4G) ให้เป็นนายกฯ สืบต่อจากลี วัย 72 ปี เมื่อเดือน เม.ย.2565 แต่หว่องไม่ใช่ตัวเลือกแรก ก่อนหน้านั้นในปี 2561 เฮง สวีเกียต อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้รับแต่งตั้งให้สืบทอดตำแหน่งนายกฯ
แต่ผ่านมาสองปีครึ่งเฮงสร้างวิกฤติการเมืองเล็กๆ ให้กับสิงคโปร์ ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ด้วยการลาออกจากการเป็นว่าที่นายกฯ อ้างเรื่องอายุและว่าเขาไม่เหมาะกับภารกิจนี้มาตั้งแต่แรก
หว่องแตกต่างจากเพื่อนร่วมพรรคพีเอพีหลายคนตรงที่ไม่ได้มาจากตระกูลดังหรือเข้าโรงเรียนดังของสิงคโปร์ เขาเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐด้วยทุนรัฐบาล เริ่มทำงานในตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์ที่กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม ก่อนเล่นการเมืองในปี 2554
หลังจากเป็นรัฐมนตรีดูแลงานน่าสนใจน้อยอย่างการพัฒนาประเทศ เขาไม่ได้ถูกมองว่าจะเป็นว่าที่นายกฯ แต่โควิด-19 เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง
ในฐานะผู้นำร่วมคณะทำงานโควิด-19 ของสิงคโปร์ หว่องรับหน้าที่แถลงการทำงานรับมือโควิดของรัฐบาล ตอบคำถามสื่อต่างชาติออกโทรทัศน์อย่างแคล่วคล่อง งานแบบนี้หาได้ยากในประเทศอย่างสิงคโปร์ที่ปีนี้มีเสรีภาพสื่อในอันดับ 126 จาก 180 ประเทศและดินแดนทั่วโลก
“คุณหว่องถูกมองว่าเป็นเทคโนแครตที่เป็นมิตร เข้าถึงง่าย เขาทำผลงานช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้ดี จึงถูกมองว่ามีศักยภาพ” อินทรจิต ซิงห์ อดีต ส.ส.พรรคพีเอพีร่วมเขตอังมอเคียวกับนายกฯ ลีมาร่วม 20 ปีให้ความเห็น พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หว่องได้รับเลือกมาเมื่อสองปีก่อนเท่านั้นหลังช่วงการเมืองไม่แน่นอน
“ใครก็ตามที่อยู่ในตำแหน่งของเขาต้องแสดงให้เห็นว่า เขานี่แหละเป็นผู้นำตัวจริง เขามีงานใหญ่ที่ต้องแสดงให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าเขาคือผู้นำคนนั้นที่สามารถทำงานได้”
- กระบวนการปั้นผู้นำ
ที่ผ่านมาการสืบทอดตำแหน่งผู้นำสิงคโปร์ต้องผ่านการเตรียมการอย่างดี มีการประกาศทายาททางการเมืองล่วงหน้าแล้วใช้เวลากล่อมเกลาอีกหลายปี กระบวนการนี้เป็นไปได้ด้วยการปกครองที่มั่นคง พรรคพีเอพีครองเสียงข้างมากในสภามาตลอด ช่วงสูงสุดไม่มี ส.ส.ฝ่ายค้านเลยสักคน ไม่เพียงเท่านั้นพรรคยังควบคุมสถาบันหลักของประเทศด้วย
แต่การที่จู่ๆ เฮงลาออกกะทันหันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครตั้งตัว หว่องจึงมีเวลาเตรียมตัวสั้นมาก เขาเป็นรองนายกฯ เพียงสองเดือนหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นทายาททางการเมือง เทียบกับลี ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีถึง 14 ปีก่อนเป็นนายกฯ
แม้ว่าหว่องจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตามากขึ้นช่วงโควิดระบาด แต่มือกีตาร์ผู้รักสุนัขและชอบเล่นโซเชียลมีเดียรายนี้ยังเป็นคนที่ชาวสิงคโปร์ไม่รู้จัก
ผลสำรวจล่าสุดจากยูกัฟชี้ว่า ผู้ให้ข้อมูลกว่าครึ่งเล็กน้อยมองว่าหว่องมีความสามารถ ไม่ถึงหนึ่งในสามเห็นด้วยว่าเขาเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง ราว 40% มองว่า เขาควรค่าแก่การไว้วางใจ ตัวเลขแข็งแกร่งกว่าในหมู่เจนซี หนึ่งในห้ารู้สึกมีความหวังที่ได้หว่องเป็นนายกฯ ขณะที่ 36% มองต่าง
หลายคนยังระบุถึงความคาดหวังที่สูงมากในตัวนายกฯ คนใหม่ เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้นำรัฐบาลสิงคโปร์ได้รับเงินเดือนสูงที่สุดในโลก นายกฯ สิงคโปร์มีเงินเดือนรวมโบนัสปีละ 2.2 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (59.2 ล้านบาท)
“ความท้าทายใหญ่สุดในระยะสั้นของหว่องคือการกำหนดวิสัยทัศน์ทางการเมืองที่เข้าใจง่าย ครอบคลุม และก้าวหน้า ช่วยดึงเสียงสนับสนุนในวงกว้างต่อรัฐบาลในการเลือกตั้งที่จะมาถึง” เอลวิน อ่อง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าว
นักสังเกตการณ์กล่าวว่า สิงคโปร์ที่มีประชากร 6 ล้านคนอาจมีการเลือกตั้งเร็วสุดในปีนี้ แม้ว่าวาระของรัฐบาลปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในปี 2568
ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดปี 2563 พรรคพีเอพีได้คะแนนเสียงกว่า 61% สูญเสียที่นั่งในสภาให้ฝ่ายค้าน 10 ที่นั่งจากทั้งหมด 98 ที่นั่ง แต่ยังถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานของรัฐบาลเพราะการเลือกตั้งก่อนหน้านั้นฝ่ายค้านได้ไปเพียง 6 ที่นั่ง
ตอนนี้เดิมพันเลือกตั้งถือว่าสูงมาก ตามธรรมเนียมแล้วผู้นำใหม่จะต้องได้รับอาณัติอันแข็งแกร่งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หว่องมีหน้าที่รักษาอำนาจนำของพรรคพีเอพีเอาไว้ให้ได้ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่ถูกกดดันมากที่สุดคือ การแก้ปัญหาค่าครองชีพสูง ประชากรสูงอายุ เศรษฐกิจชะลอตัว และการย้ายถิ่น แถมพรรคพีเอพียังมีปัญหาคอร์รัปชันฉาวที่ไม่ค่อยมีให้เห็นบ่อยนัก นอกจากนี้หว่องจะต้องฟันฝ่าความเป็นอริระหว่างจีนกับสหรัฐ ในฐานะที่สิงคโปร์เป็นพันธมิตรหลักของทั้งสองประเทศ
- ส่อง ครม.ลอว์เรนซ์ หว่อง
นายกฯ หว่องยังคงตำแหน่งรัฐมนตรีชุดเดิมไว้เป็นส่วนใหญ่ เจ้าตัวเผยว่า การปรับ ครม.ครั้งใหญ่จะมีขึ้นหลังเลือกตั้ง
ทั้งนี้ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันจันทร์ (13 พ.ค.) หว่องเลือกกัน คิมยง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าควบตำแหน่งรองนายกฯ ขณะที่หว่องยังคงควบตำแหน่ง รมว.คลังที่เขารับหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2564 ลี เซียนหลุงก็เคยควบ รมว.คลังตั้งแต่เริ่มเป็นนายกฯ ใหม่ๆ ในปี 2547 แล้วค่อยสละตำแหน่งขุนคลังในปี 2550
“ความต่อเนื่องและเสถียรภาพเป็นเหตุผลสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลกำลังสิ้นสุดวาระ” หว่องกล่าวในการแถลงข่าว
กัน วัย 65 ปี เป็นอดีตข้าราชการพลเรือนก่อนเล่นการเมืองในปี 2544 เคยเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เช่น สาธารณสุข แรงงาน และศึกษาธิการ กันและหว่องเคยทำงานใกล้ชิดกันหลายด้าน และเป็นประธานร่วมคณะทำงานรับมือโควิดของสิงคโปร์
นอกจากนี้ กันยังรับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสิงคโปร์จากหว่องด้วย ปัจจุบันทั้งคู่เป็นคณะกรรมการสำนักงานการเงินสิงคโปร์ ที่เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินและช่วยดูแลทุนสำรองจำนวนมหาศาลของประเทศ
ส่วนเฮง สวีเกียต ที่เคยเป็นทายาททางการเมืองของลีก่อนประกาศสละตำแหน่งในปี 2564 ยังคงเป็นรองนายกฯ ต่อไป