เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’ จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

สิงคโปร์ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ไปเรียบร้อยแล้ว เขาผู้นั้นคือ ลอว์เรนซ์ หว่อง ที่ขยับขึ้นมาจากรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับตั้งแต่ได้รับเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์เพิ่งมีนายกรัฐมนตรีเพียงสี่คน แต่ละคนมีสไตล์แตกต่างกันไป

เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียชวนย้อนรอยสไตล์การบริหารของนายกฯ สิงคโปร์ตั้งแต่คนแรกถึงคนล่าสุด ที่สะท้อนถึงบริบทของประเทศ ณ เวลานั้นๆ 

  • ต่อสู้เพื่อความอยู่รอด

ลี กวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกสาบานตนในปี 1959 และต้องรับมือกับปัญหามากมายจากลัทธิอาณานิคมและการแยกตัวออกจากมาเลเซีย เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

“เวลาเป็นตัวกำหนดสไตล์ผู้นำ” เอส วาซู อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวและว่า ลี กวนยู ถูกกดดันให้ต้องอยู่รอด

“เขาไม่เคยถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัว แต่ถูกขับเคลื่อนด้วยเป้าหมาย ซึ่งเน้นการสร้างชีวิตที่ดีขึ้น สร้างที่อยู่อาศัยและการงานที่ดีขึ้นให้กับประชาชนสิงคโปร์”

จากสถานการณ์ อดีตนายกฯ “มุ่งมั่นและตั้งใจทำการงานมาก เน้นทำงานให้สำเร็จเพียงอย่างเดียว” วาซูกล่าว

บิลเวียร์ ซิงห์ นักรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ มองว่าการผงาดขึ้นของลี กวนยู มาจากการชิงอำนาจกับฝ่ายซ้ายจัดในพรรคกิจประชาชน (พีเอพี)

หลังจากนั้นเขานำขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราช “ดังนั้นการขึ้นสู่อำนาจของเขาจึงแตกต่างกับบริบทในวันนี้อย่างสิ้นเชิง”

หลังได้รับเอกราชลี กวนยูต้องเจองานใหญ่ เช่น แก้ปัญหาการว่างงานและจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามเย็น สงครามเวียดนาม และการเผชิญหน้ากันระหว่างอินโดนีเซียกับมาเลเซีย

“ภายใต้สภาพแวดล้อมนั้น รูปแบบการนำต้องควบคุมเรื่องภายในไว้ได้ทั้งหมด เพื่อให้ผู้นำบริหารการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศได้” ซิงห์กล่าวและว่า ลี กวนยู “แข็งกร้าวเกินไป” และ “ไม่ปล่อยมือเลยแม้สังคมเปลี่ยนแปลง”

ไนเดีย เงียว กรรมการผู้จัดการบาวเออร์กรุ๊ปในสิงคโปร์ ชี้ว่า แนวทางของลีจำเป็นในเวลานั้น เมื่อเขาต้องสถาปนาอัตลักษณ์ของชาติและความเป็นเอกภาพในสังคมพหุวัฒนธรรมที่เพิ่งเกิดใหม่

“แนวทางของเขาคือเน้นย้ำระบบคุณธรรม ลัทธิปฏิบัตินิยม และการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงแรกๆ ของเอกราชสิงคโปร์”

แม้นโยบายของเขาเปลี่ยนสิงคโปร์เป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกได้ แต่นักวิจารณ์โต้แย้งว่า นั่นต้องแลกด้วยเสรีภาพทางการเมือง

เทเรนซ์ ลี คณบดีคณะมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา สถาบันการศึกษาชั้นสูงเชอริแดนในเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เรียกรูปแบบการนำของลีว่า “ไม่ค่อยผ่อนปรน” คนไม่ชอบอาจเรียกเขาว่า “ด้านแกร่งของอำนาจนิยม”

กระนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ลีประสบความสำเร็จในสร้างหลักประกันว่า สิงคโปร์ไม่ใช่แค่อยู่รอด แต่ยังเติบโตด้วย

คำพูดอันโด่งดังของนายกฯ ผู้ก่อตั้งประเทศ ว่าไว้ในปี 1965

“เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ที่ตรงนี้เป็นบึงโคลน วันนี้ ที่นี่คือเมืองทันสมัย สิบปีนับจากนี้ ตรงนี้จะเป็นมหานคร ไม่ต้องกลัว” เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

  • รัฐบาลนุ่มนวลขึ้น เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

ตอนที่โก๊ะ จ๊กตง รับตำแหน่งนายกฯ ในปี 1990 ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า เป็นช่วงที่เศรษฐกิจสิงคโปร์เติบโต ชาวสิงคโปร์มั่งคั่ง ปลอดภัยและมั่นคง

“ทุกอย่างเจริญรุ่งเรือง ราคาอสังหาริมทรัพย์และค่าจ้างเพิ่มขึ้นสองเท่าในช่วงเวลานั้น จริงๆ แล้ว (คุณโก๊ะ) ดูแลสิงคโปร์ให้กลายเป็นเมืองของโลกในทุกวันนี้ เกิดกระแสโลกาภิวัตน์ในทศวรรษ 1990 และเขาเป็นผู้ดูแลช่วงนั้น” นักวิชาการจากเพิร์ธกล่าวและว่า

โก๊ะตั้งใจจะทำให้สิงคโปร์ “นุ่มนวลอ่อนโยนขึ้น” ตั้งแต่ก่อนเป็นนายกฯ เขาย้ำเรื่องการสร้างฉันทามติ และจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม เช่น ตั้งคณะกรรมการเสริมสร้าง “ค่านิยม” สิงคโปร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม โก๊ะได้นำพาสิงคโปร์ผ่านช่วงเวลาท้าทายของโลกด้วย เช่นวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1997, ลัทธิก่อการร้ายผงาดขึ้นมาเป็นภัยคุกคามสำคัญ หลังการโจมตี 9/11 ในปี 2001และกลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ วางแผนโจมตีสิงคโปร์ในปีเดียวกัน รวมถึงการระบาดของกลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงในปี 2003

ซิงห์กล่าวว่า ด้วยภูมิหลังการเป็นข้าราชการของโก๊ะเท่ากับว่าเขาไม่ได้เป็นผู้นำมากบารมีเหมือนลี กวนยู แต่ “สุดท้ายแล้วความเชื่อมโยงกับผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ” ชาวสิงคโปร์เชื่อมั่นในสิ่งที่โก๊ะพูด

กระนั้นช่วงเวลาส่วนใหญ่ของนายกฯ โก๊ะ ถูกลีบดบังในฐานะรัฐมนตรีอาวุโส ตั้งแต่ปี 1990-2004 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลี เซียนหลุง ผู้นำคนต่อไปดำรงตำแหน่งรองนายกฯ

  • เน้นประเด็นสังคม เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

การเป็นบุตรชายของนายกรัฐมนตรีคนแรก ลี เซียนหลุง มีโอกาสสัมผัสกิจการบ้านเมืองมาตั้งแต่อายุยังน้อย “และมีรันเวย์ทางการเมืองยาวมากๆ” ในทัศนะของนักวิชาการอย่างซิงห์ ด้วยเซนส์ทางการเมืองสูงเช่นนี้ นายกฯ ลีจึงสื่อสารนโยบายกับประชาชนได้ชัดเจน ทั้งนโยบายในประเทศและต่างประเทศ

ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่รับตำแหน่งในปี 2004 ลีต้องรับมือกับความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีมากอย่างต่อเนื่องและเริ่มบานปลายมาตั้งแต่ราวปี 2012

“สิ่งที่ลี เซียนหลุงทำต่างจากผู้นำคนก่อนๆ คือ เขาตระหนักมากว่าจำเป็นต้องสื่อสารต่อสาธารณะให้มากขึ้นว่า เราจะไม่เข้าข้างใคร” ซิงห์ให้ความเห็น

ผู้เชี่ยวชาญระบุด้วยว่า การที่ลีตั้งใจเล่นโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงประชาชนให้มากขึ้น เขามีผู้ติดตาม 1.7 ล้านคนบนเฟซบุ๊คและราว 730,000 บนอินสตาแกรม

ทั้งยังเน้นย้ำนโยบายสังคมแบบไม่แบ่งแยก ด้วยมาตรการอย่างเบบี้โบนัส ให้เงินสดเป็นของขวัญเด็กเกิดใหม่ และการเปลี่ยนมาทำงานห้าวันต่อสัปดาห์

ในการแถลงต่อสภาเมื่อปี 2006 ลีพูดเองว่า ก่อนยุคเขาสวัสดิการเป็น “คำสกปรก” ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลของเขา “ต้องสร้างสมดุลที่เอื้อประโยชน์ต่อชาวสิงคโปร์รายได้น้อย”

เพื่อบรรลุความตั้งใจนี้ ลีไม่ได้ให้สวัสดิการโดยตรงแบบยุโรปที่กลายเป็นภาระค่าใช้จ่ายอย่างมาก แต่กลับสร้างแนวทางอันเป็นอัตลักษณ์ของสิงคโปร์เน้นการพึ่งพาตนเอง

กูรูตะวันตกยอมรับสิ่งที่ลีทำ บทความชิ้นหนึ่งเผยแพร่ในนิตยสารฟอร์บส เมื่อปี 2015 ซึ่งครบรอบ 50 ปีสิงคโปร์ เรียกตัวแบบนี้ว่าเป็นความสำเร็จอันโดดเด่นของสิงคโปร์ ที่สามารถสร้าง “สวัสดิการทางเลือกจากสไตล์ยุโรป” ได้

ผู้สังเกตการณ์กล่าวด้วยว่า เมื่อเทียบกับผู้นำคนก่อนๆ ลีมอบหมายภารกิจบริหารประเทศให้กับรัฐมนตรีมากขึ้น เมื่อการบริหารกิจการบ้านเมืองซับซ้อนกว่าเดิมมาก

  • ผู้นำรุ่นที่ 4 เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’

ลอว์เรนซ์ หว่อง ส่งสัญญาณเบื้องต้นเน้น “จุดร่วม” และ “รับฟังมุมมองที่หลากหลายยิ่งขึ้น เปิดกว้างรับแนวคิดที่แตกต่าง”

โครงการสิงคโปร์ก้าวไกล (Forward SG) ของเขาเปิดตัวเมื่อเดือน มิ.ย. 2022 หลังจากหว่องได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองนายกฯ ได้ไม่นาน อาจมองได้ว่า เป็นความพยายามปรับข้อตกลงทางสังคมสิงคโปร์ ตรงข้ามกับโครงการหารือกับสาธารณชนครั้งก่อนๆ ที่ทำขึ้นเพื่อรวบปฏิกริยาตอบรับเพื่อแจ้งนโยบายเท่านั้น

รัฐบาลสิงคโปร์นิยามข้อตกลงทางสังคม หมายถึง ข้อตกลงโดยปริยายระหว่างประชาชนถึงบทบาทความรรับผิดชอบที่แต่ละคนต้องทำ

ข้อตกลงทางสังคมจะสำคัญยิ่งเมื่อหว่องเตรียมรับมือความท้าทายมากมาย ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีตั้งแต่ ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ขยายวงและการดิ้นรนทางชนชั้น, การเคลื่อนย้ายทางสังคมและความครอบคลุม,สิ่งแวดล้อมยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, ประชากรสูงอายุต้องการการดูแลสุขภาพมากขึ้น รวมถึงความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งระดับโลกและภูมิภาค

เงียวกล่าวว่า นายกฯ ใหม่จำเป็นต้องเดินหน้าบ่มเพาะนวัตกรรมและผู้ประกอบการต่อไป พร้อมๆ กับรักษาชื่อเสียงของสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ไม่เช่นนั้นแล้ว “ต้องเสี่ยงเจอความเดือดดาลจากประชาชน” เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’ เปิดเส้นทางสิงคโปร์ ‘สี่แผ่นดิน’  จาก ‘ลี กวนยู’ สู่ ‘ลอว์เรนซ์ หว่อง’