อ่านสัมพันธ์ ‘ปูติน-สี จิ้นผิง’ ใครเหนือใคร? l Leaders' Move

อ่านสัมพันธ์ ‘ปูติน-สี จิ้นผิง’ ใครเหนือใคร? l Leaders' Move

แม้ถูกชาติตะวันตกเรียกร้องให้เลิกสนับสนุนรัฐบาลมอสโกทำสงครามกับยูเครน ด้วยการจำกัดการส่งส่วนประกอบอาวุธและสินค้าที่ใช้ได้สองทางให้กับรัสเซีย แต่ปักกิ่งยังไม่ลดการสนับสนุนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ความสัมพันธ์นี้ใครเหนือใครนับว่าเป็นเรื่องน่าติดตาม

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน แม้จีนไม่ต้องการทำลายความสัมพันธ์ที่มีกับชาติตะวันตก และยืนยันมาตลอดว่าไม่เคยส่งอาวุธร้ายแรงให้กับมอสโก วอชิงตันยังย้ำเสมอว่า การสู้รบของรัสเซียในยูเครนจะไม่มีทางราบรื่นได้เลยถ้าไม่มีปักกิ่ง

ความแนบแน่นระหว่างจีนกับรัสเซียเห็นได้ชัด เมื่อวันพฤหัสบดี (16 พ.ค.) ปูตินมาเยือนจีนเป็นเวลาสองวัน เพื่อขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สำหรับการทำสงครามในยูเครนหลังถูกตะวันตกคว่ำบาตรหลายรอบ นี่เป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกหลังจากปูตินรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 เมื่อไม่กี่วันก่อน 

ส่วนสีนั้นสัปดาห์ที่แล้วเพิ่งหารือกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ฝ่ายหลังยินดีอย่างยิ่งกับ “คำมั่น” ของจีน ว่าจะควบคุมการส่งออกสินค้าที่ใช้ได้สองทาง พร้อมๆ กับยกความกังวลเกี่ยวกับ “ข่าวสารบางอย่างที่เราอาจได้รับเกี่ยวกับการฝ่าฝืนของบริษัทจีนบางราย”

เออร์ซูลา วอน เดอ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ที่ร่วมสนทนาด้วย กล่าวว่า “จำเป็นต้องมีความพยายามให้มากขึ้นเพื่อไม่ให้สินค้าใช้ได้สองทางที่ส่งไปให้รัสเซียเข้าสู่สนามรบได้”

ในมุมมองของแนแธเนียล เชอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากคาร์เนกี ไชนา 

“การจัดหาส่วนประกอบใช้ได้สองทางไปให้รัสเซียแทนการส่งอาวุธ เปิดทางให้จีนปฏิเสธได้ว่าไม่ได้สนับสนุนรัสเซีย แม้ปักกิ่งควบคุมการส่งออกสินค้าสองทางเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติม แต่ผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ในรัสเซียจากการเป็นพันธมิตรเหนียวแน่นยังคงอยู่ต่อไป"

เชอร์อ้างข้อมูลจากศุลกากร ทุกๆ เดือน จีนส่งออกสินค้าสองทางมูลค่ากว่า 300 ล้านดอลลาร์  สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักรนิยามสินค้าสองทางว่า เป็นสินค้า “จำเป็นสูงสุด” 50 ชนิดใช้สำหรับการผลิตอาวุธของรัสเซีย เช่น ไมโครอิเล็กทรอนิกส์, เครื่องกล, เรดาร์ และเซ็นเซอร์ ซึ่งจำเป็นสำหรับการผลิตอาวุธจำพวก ขีปนาวุธ, โดรน และรถถัง

  • สินค้าสองทางขายให้รัสเซีย

ศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา (CSIS) กลุ่มคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ประเมินว่า สัดส่วนการนำเข้าชิ้นส่วนเครื่องกลจีนโดยรัสเซียพุ่งขึ้นสู่ระดับ 80-90% ในปี 2566

“ตลอดสงคราม จีนขายเซมิคอนดักเตอร์ ชิป ตลับลูกปืน อุปกรณ์นำทาง ชิ้นส่วนเครื่องบินรบ และส่วนประกอบอื่นๆ ให้รัสเซียนับล้านๆ ดอลลาร์ ทั้งหมดนี้ทำให้ทำเนียบเครมลินเร่งการผลิตอาวุธได้ในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นชุดเกราะ ปืนใหญ่ ขีปนาวุธ และโดรน ต้านทานการรุกรบเอาคืนของยูเครนในปี 2566 ได้”

ที่ผ่านมาชาติตะวันตกแสดงความกังวลเสมอเรื่องที่ธุรกิจจีนส่งสินค้าใช้ได้สองทางไปให้รัสเซีย

ตอนที่เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐไปเยือนจีนในเดือน เม.ย. ได้เตือนทางการจีนถึงผลที่จะตามมาจากการช่วยรัสเซียจัดหาอุปกรณ์ทางทหาร

“อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งป้องกันการทำธุรกรรมดังกล่าวได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากการค้าสินค้าสองทางกับรัสเซียเพิ่มขึ้นมาก ความผูกพันที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นระหว่างรัฐจีนกับบริษัทเอกชนทำให้ยากจะจินตนาการได้ว่าปักกิ่งจะไม่รู้ล่วงหน้าถึงธุรกรรมซื้อขายสินค้าสองทางกับรัสเซีย โดยเฉพาะเป็นสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง” เชอร์อธิบาย

  • พึ่งพาจีนมากเกินไป

นักวิเคราะห์มองด้วยว่า ขนาดความช่วยเหลือของจีนทำให้รัสเซียอยู่ในสถานะเปราะบาง

“การพึ่งพามากเกินไปขนาดนั้นทำให้รัสเซียจำเป็นต้องพึ่งพาการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน” รายงานของ CSIS ระบุ

จะว่าไปแล้วปูติน ผู้แปลกแยกกับชาติตะวันตกมีทางเลือกเพียงไม่กี่ทาง ในกรณีนี้ มาร์ก จูเลียน ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียศึกษา สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศส (IFRI) มองว่า ปักกิ่งจำเป็นต้องสร้างสมดุล ความสัมพันธ์กับมอสโกตอบสนองผลประโยชน์ทางภูมิยุทธศาสตร์ก็จริง แต่การปล่อยให้รัสเซีย “อ่อนแอเกินไป” และพึ่งพาจีนแต่เพียงฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่ผลประโยชน์ของจีน

“ตอนนี้ปักกิ่งได้ประโยชน์อย่างมากจากการอยู่ห่างจากความขัดแย้ง แทนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง” จูเลียนให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม ขณะที่จีนผงาดขึ้นเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดของรัสเซีย มอสโกก็พึ่งพาประเทศอื่นด้วย

ฐานข้อมูลในเว็บไซต์ War & Sanctions ของรัฐบาลยูเครนพบว่า อาวุธของรัสเซียมีที่มาจากกว่า 30 ประเทศ

ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีในกรุงเคียฟเคยเห็น คาร์บูเรตเตอร์โดรนรัสเซียมีข้อความ “ทำในไอร์แลนด์” และพบเลนส์กล้องญี่ปุ่นจากโดรนสอดแนมคาร์โตกราฟของรัสเซียซัพพลายเออร์ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ให้กับรัสเซียเกือบทั้งหมดอยู่ในจีนและฮ่องกง หนึ่งรายอยู่ในตุรกี

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน การที่รัสเซียแปลกแยกจากมหาอำนาจกระตุ้นให้ต้องหันมาทำการค้ากับจีน ปี 2566 ปริมาณการค้าพุ่งขึ้นถึง 26.3% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 2.40 แสนล้านดอลลาร์ รัสเซียแซงหน้าซาอุดีอาระเบียขึ้นเป็นแหล่งน้ำมันดิบรายใหญ่ให้จีน การจัดส่งพุ่งขึ้นกว่า 24% แม้ถูกตะวันตกคว่ำบาตร