โกตาบารู : เมืองใหม่อันเก่าแก่ | World Wide View
รู้จัก "โกตาบารู" เมืองหลวงของรัฐกลันตันในมาเลเซีย เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ และมีเรื่องราวสอดรับกับการดำเนินไปของประวัติศาสตร์ของไทย แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แต่ความเชื่อมโยงของวัฒนธรรม ความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโก-ลก ยังคงอยู่
โกตาบารู (Kota Bharu) เป็นเมืองหลวงของรัฐกลันตันในมาเลเซีย ติดกับจ.นราธิวาสของไทย โกตาแปลว่าเมือง บารูแปลว่าใหม่ แปลตรง ๆ ก็คือเมืองใหม่ แต่ประวัติศาสตร์ของโกตาบารูและรัฐกลันตันนั้นไม่ใหม่เลย โดยหลายช่วงมีเรื่องราวสอดรับกับการดำเนินไปของประวัติศาสตร์ของไทยเรา
การจะข้ามไปโกตาบารูทำได้โดยอาศัยเรือข้ามแม่น้ำโก-ลกที่อ.ตากใบ ซึ่งมีเรือเฟอร์รี่ให้บริการ สามารถนำรถลงไปได้ หรือหากไม่มีรถก็มีเรือข้ามฟากสำหรับบุคคลทั่วไป เรือเฟอร์รี่จะมีผู้ให้บริการ 2 เจ้า โดยมาเลเซียเจ้าหนึ่งและ อบจ. นราธิวาสอีกเจ้าหนึ่ง ระยะเวลาในการข้ามแม่น้ำก็สั้นๆ ประมาณไม่ถึง 10 นาที แต่การรอรถเพื่อนำมาขึ้นเรือหรือกระบวนการผ่านออกเมือง-เข้าเมือง ก็ต้องแล้วแต่คิวว่าคนเยอะหรือไม่ อีกทางในการข้ามไปกลันตันก็คือผ่านการข้ามแดนทางบกที่อ.สุไหงโก-ลก ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่า ทางที่สามคือไปข้ามด่านบูเก๊ะตาที่อ.แว้ง แต่ข้ามไปแล้วจะต้องเดินทางอีกกว่า 1.30 ชม. เพื่อไปถึงเมืองโกตาบารู
แม้จะห่างกันเพียงแค่แม่น้ำสายแค ๆ กั้นไว้ แต่ก็มีความแตกต่างจากบ้านเราที่น่าสนใจ ความต่างกันอย่างแรกเลยคือเวลา ที่พอข้ามไปฝั่งมาเลย์ปุ๊บ ก็ต้องปรับเวลาเพิ่มขึ้นไป 1 ชม. ปั๊บ จากชายแดนถ้าจะเข้าไปที่เมืองโกตาบารู หากไปจากตากใบจะใช้เวลาอีกประมาณ 30-40 นาที แต่หากไปจากสุไหงโก-ลก จะใช้เวลาอีกราว 1 ชม. บรรยากาศสองข้างทางก่อนเข้าเมืองเป็นธรรมชาติมาก ถนนหนทางแม้จะลาดยางแต่ก็เห็นชัดว่าห่างการบำรุงรักษามานาน บางเขตยังมีต้นมะพร้าวชุกชุม จึงมีลิงทั้งที่ชาวบ้านใช้เก็บมะพร้าว และลิงป่าวิ่งข้ามถนนให้เห็นบ้าง แต่พอถึงตัวเมืองจะสัมผัสได้ว่าโกตาบารูเป็นเมืองขนาดไม่เล็ก และมีความเจริญพอสมควร มีตึกรามบ้านช่องใหม่ๆ แทรกด้วยบ้านเรือนที่มีอายุปะปนกันไป ให้ไม่หลงลืมประวัติศาสตร์ของเส้นทางการพัฒนาเมือง
อีกเรื่องที่แปลกตา คือ แม้ต้นหมากรากไม้จะสามารถเติบโตในธรรมชาติในแบบเดียวกัน เพราะภูมิประเทศและภูมิอากาศไม่ต่างกัน แต่มุมมองในการนำทรัพยากรเหล่านั้นมาปรุงอาหารกลับมีบางมุมไม่เหมือนกัน หากได้เดินตลาดสดจะพบมุมมองนี้ เช่น เอาหอยตัวเล็กๆ คล้ายหอยตลับมาผัดเป็นรสต่างๆ ขายใส่กรวยกระดาษเป็นของทานเล่น หรือหากเดินผ่านร้านขายเนื้อวัว นอกจากจะเจอเนื้อวัวเป็นชิ้นแล้ว จะเจอการแขวนขายแบบทั้งขา ให้คนมาเลือกตัดเอาเป็นส่วนๆ อีกเรื่องเล็กน้อยที่แปลกตา คือยังมีแผงขายหนังสือพิมพ์รายวัน ซึ่งแทบจะเป็นสิ่งหายากแล้วในเมืองไทย
สิ่งหนึ่งในรัฐกลันตันรวมถึงรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียที่ติดกับตอนใต้ของไทยที่น่าสนใจมากก็คือ ยังมีชุมชนชาวสยามอาศัยอยู่จำนวนมาก และมีวัดไทยกระจายอยู่ทั่วไป เฉพาะในกลันตันมีวัดไทยมากกว่า 20 วัด ชุมชนสยามเหล่านี้ เป็นคนสัญชาติมาเลย์แต่มีเชื้อสายสยามตั้งแต่สมัยที่กลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และปะลิศ ยังเป็นส่วนหนึ่งของสยาม และถูกยกให้อังกฤษภายใต้สนธิสัญญา ค.ศ. 1909
อย่างไรก็ตาม คนสยามเหล่านี้ไม่เรียกตัวเองว่าคนไทย ภาษาที่พูดกันในบ้านก็เป็นภาษาสยาม ซึ่งมีเสียงพูดแต่ไม่มีตัวอักษรเขียน วัดไทยหลายแห่งในกลันตันและรัฐทางเหนือของมาเลเซีย จึงทำหน้าที่เป็นโรงเรียนสอนภาษาไทยกลางให้แก่ชาวสยามเหล่านี้ ซึ่งผู้ปกครองและเยาวชนที่มาเรียนก็ต้องให้ความสนใจและความสำคัญมาก เนื่องจากในวันอาทิตย์-ศุกร์ จะไปเรียนโรงเรียนมาเลย์ปกติ เวลาเจ็ดโมงครึ่งถึงบ่ายโมงครึ่ง แต่วันศุกร์-เสาร์ ซึ่งโรงเรียนหยุด จะมาเรียนกันที่ รร. ภาษาไทยในวัด ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น ซึ่งหากผู้ปกครองไม่สนับสนุนและเด็กไม่มีใจ คงเรียนกันไม่ไหว และด้วยเวลาที่เรียนกันเข้มข้น เด็กที่ผ่านโรงเรียนเหล่านี้จึงพูดไทยชัด ไหว้สวย เข้าใจศาสนาพุทธ และระบำรำฟ้อนกันได้อย่างดี
ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสยาม/ไทย รัฐปัตตานี (ก่อนจะมาเป็นจ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) และรัฐตอนเหนือของมลายู/มาเลเซีย เป็นเรื่องซับซ้อนและละเอียดอ่อน แถมยังมีชุดคำอธิบายความสัมพันธ์ดังกล่าวหลายชุดตามแต่ผู้อธิบายจะใส่แว่นแบบใดในการมอง .. แต่แม้หน้าประวัติศาสตร์จะพลิกไปอย่างไร ความลึกซึ้งเชื่อมโยงของวัฒนธรรมก็ยังคงอยู่ ความสัมพันธ์และวิถีชีวิตของคนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโก-ลก ได้ถักทอประสานเหมือนเส้นด้ายคนละเส้นคนละสีที่รวมเป็นผ้าผืนเดียวกันจนเกิดเป็นลวดลายอันงดงาม แม้เวลาจะผ่านไปแล้วนับร้อยปีก็ตาม