วิจัย 14 ปีคุ้ม! จีนเพาะพันธุ์หมูโปรตีนสูง-ไขมันต่ำสำเร็จ หวังลดพึ่งพาพันธุ์หมูตะวันตก
นักวิจัยจีนเพาะพันธุ์หมูสายพันธุ์ใหม่สำเร็จ ให้โปรตีนสูงและมีไขมันต่ำ หวังลดการพึ่งพาสายพันธุ์หมูจากชาติตะวันตก พร้อมตั้งเป้ามีส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมฟาร์มหมูเพิ่มขึ้นในอนาคต
นักวิจัยจีน ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์สุกรที่สามารถให้โปรตีนสูง-ไขมันต่ำ การเพาะพันธุ์นี้ได้รับการยกย่องจากสื่อที่รายงานว่า เป็นประโยชน์ต่อความพยายามพึ่งพาตนเองในด้านเกษตรกรรม และการทดแทนการนำเข้าสินค้าจากตะวันตก ซึ่งปัจจุบันสุกร 90% ที่นำไปใช้เพาะพันธุ์ในจีนเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ
นักพันธุศาสตร์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรของจีน เผยว่า หมูหลานซี (Lansi) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใหม่ เติบโตได้เร็วกว่า ให้เนื้อที่มีไขมันต่ำกว่า และมีความต้านทานโรคได้ดีกว่าสายพันธุ์นำเข้า
ทั้งนี้ หมูหลานซี เป็นสายพันธุ์ที่มีการทดลองมานาน 14 ปี ซึ่งการวิจัยได้ใช้หมูจากสายพันธุ์หลักที่มีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐและอังกฤษมากกว่า 2,000 ตัว และสายพันธุ์ใหม่นี้เพิ่งได้รับการอนุมัติจากกระทรวงเกษตรและกิจการชนชท เพื่อนำไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้
ด้วยการทดลองและวิจัยเป็นเวลานาน นักวิจัยจึงได้พัฒนาซอฟต์แวร์และฐานข้อมูลร่วมด้วย เพื่อเป็นตัวช่วยเร่งกระบวนการเพาะพันธุ์ในอนาคต
หลี่ กุย หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า “ (เราจะ) เพาะพันธุ์อย่างต่อเนื่อง พัฒนาคุณสมบัติอื่น ๆ อย่าง คุณภาพเนื้อ การขยายการใช้พันธุ์หมู และการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสุกรพันธุ์จีน”
ด้านหนังสือพิมพ์อย่างเป็นทางการของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน ระบุว่า หมูสายพันธุ์หลานซี มีศักยภาพเติบโตจนสามารถมีส่วนแบ่งตลาดปศุสัตว์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ในจีนได้
โดยปกติแล้วหมูที่เลี้ยงในจีนจะอ้วนท้วนกว่าหมูของชาติตะวันตก ซึ่งจะให้เนื้อน้อยกว่า และมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า เกษตรกรจีน จึงเริ่มเพาะพันธุ์หมูสายพันธุ์ต่างประเทศมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980
เฟิง นักวิเคราะห์เผยว่า นับแต่นั้นมาอุตสาหกรรมฟาร์มหมูจีน ก็ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์แห่งการพึ่งพาสายพันธุ์ต่างประเทศ และอุตสาหกรรมเสื่อมลง เนื่องจากเกษตรที่เป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นฟาร์มขนาดเล็กนั้น ไม่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและเทคนิคการพัฒนาพันธุ์สัตว์ต่าง ๆ
ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรสหรัฐ ระบุว่า เมื่อปีก่อนจีนผลิตผลิตหมูได้เกือบ 58 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของผลผลิตหมูทั่วโลก
แต่เฟิงบอกว่า แม้หมูปริมาณหมูลดลงในรอบหลายสิบปี แต่สัดส่วนการบริโภคหมูในจีนยังคงสูงกว่า 50%
“นี่เป็นอาหารหลักที่เราต้องเก็บไว้ในมือเราเอง การเพาะพันธุ์สุกรเสมือนเป็นชิปในการผลิตหมู และเป็นหัวใจสำคัญของระบบการผลิต” เฟิง กล่าว
ทั้งนี้ จีนให้คำมั่นในแผนปศุสัตว์และสัตว์ปีกที่ครอบคลุมระหว่างปี 2564-2578 ว่า ประเทศจะบรรลุการพึ่งพาฟาร์มสัตว์ของตนเองเป็นหลักให้ได้ 95% ภายในปี 2578 โดยวัดจากสัดส่วนของลำดับพันธุกรรมที่เพาะเลี้ยงในประเทศ และปี 2566 กระทรวงเกษตรเผยว่าอัตราการพึ่งพาตนเองอยู่ที่ระดับ 75% แล้ว