เลือดใหม่ ‘สิงคโปร์’ กับ 20 ปี ผลงาน ‘ลี เซียนลุง’ | กันต์ เอี่ยมอินทรา
"ลี เซียนลุง" อดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลูกชายอดีตนายกฯลีกวนยู ที่ครองตำแหน่งมานาน 20 ปี มีแต้มต่อในทุกทาง ทั้งด้านการเมืองและสถานะทางสังคม แต่สิ่งที่ทำให้ ลี เซียนลุง และพรรค PAP ครองเสียงข้างมากในสิงคโปร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ คือ “ผลงาน”
ในที่สุด สิงคโปร์ก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ คือ “ลอว์เรนซ์ หว่อง” หลังจาก “ลี เซียนลุง” บริหารประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปีเต็ม
ใช่ครับ 20 ปีเต็ม ที่บริหารประเทศภายใต้ความเห็นชอบของประชาชนผ่านการเลือกตั้ง มิใช่การยึดอำนาจรัฐประหาร หรือใช้วิธีการพิสดารแต่อย่างใด และสิ่งที่ทำให้ ลี เซียนลุง และพรรค PAP ครองเสียงข้างมากในสิงคโปร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ก็คือ “ผลงาน”
ถูกต้องที่ลี เซียนลุง นั้นมีแต้มต่อในทุกทาง ทั้งด้านการเมืองและสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เพราะเป็นถึงลูกชายนายกฯลีกวนยู ผู้นำคนแรกของสิงคโปร์ที่สร้างชาติขึ้นมาด้วยสติปัญญาและความสามารถ แต่ก็แทบจะไม่มีข้อโตเถียงถึงคุณสมบัติ สติปัญญา ความสามารถส่วนตัวที่ด้อย หรือการได้มาอำนาจโดยอาศัยความชื่อเสียงและแต้มต่อที่ได้รับมรดกมาจากพ่อแต่อย่างเดียว
20 ปีที่สิงคโปร์เติบโตอย่างต่อเนื่องและฟันผ่าวิกฤติมากมาย ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การพัฒนาประเทศที่ไม่หยุดนิ่งคือ “ผลงาน” ที่ ลี เซียนลุง ทิ้งไว้ให้กับประเทศและประชาชน หากคุณเคยไปเที่ยวสิงคโปร์และกลับไปอีกครั้งสัก 3-5 ปีต่อมา ก็จะพบว่าสิงคโปร์นั้นมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และนั่นคือ “ผลงาน” ที่ประชาชนชื่นชอบ
เทียบกับนักการเมืองที่สืบต่ออำนาจมาจากพ่อ ซึ่งก็เป็นเทรนด์ที่เห็นกันมากมายทั้งในประเทศตะวันตกและแถบบ้านเรา ไล่มาตั้งแต่สหรัฐ ที่มีอดีตประธานาธิบดีจอร์จ บุช คู่พ่อลูก แคนนาดาที่มีนายกฯสุดหล่ออย่างจัสติน ทรูโด ก็มีพ่อเป็นอดีตนายกฯเช่นกัน ฟิลิปปินส์ที่ประธานาธิบดีมาร์กอสคนปัจจุบันก็คือลูกชายของอดีตผู้นำจอมอื้อฉาวอย่างมาร์กอส (ผู้พ่อ) กับอีเมลดา มาร์กอส ตำนานแห่งความฟุ่มเฟือยด้วยกระเป๋า เครื่องประดับราคาแพง และรองเท้าหรูเป็นพันคู่
ยังมี ฮุน มาเนต ผู้นำกัมพูชา ซึ่งสืบต่ออำนาจมาจากสมเด็จฯ ฮุน เซน ผู้พ่อ หรือแม้กระทั่งไทยเราเอง ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นผู้นำที่มีแต้มต่อทั้งชื่อเสียงและสถานะทางสังคมจากทุนเดิมของครอบครัวทั้งสิ้น แต่ประชาชนก็ให้ความเห็นชอบยินยอม เลือกตั้งเข้ามาด้วยคะแนนเสียง เข้ามาอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยทั้งหมด ถึงแม้บางประเทศจะมีข้อครหาเรื่องประชาธิปไตยที่อ่อนแอ เพราะมีฝ่ายค้านที่อ่อนแอ อาทิ กัมพูชา เช่นเดียวกับสิงคโปร์ก็ตาม
แต่สิ่งที่ทำให้ ลี เซียนลุง ต่างจากผู้นำเหล่านี้ ไม่ใช่การศึกษา เพราะลูกชายอดีตผู้นำเหล่านี้มักได้รับการศึกษาที่ดีเลิศที่สุดตามสติปัญญาที่สามารถจะไปถึงได้ มิใช่ทรัพย์สมบัติหรืออำนาจอันมหาศาล แต่เป็น “ผลงาน” สิงคโปร์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง บางปีโตมาก บางปีโตน้อย แต่ก็มีเทรนด์โดยรวมที่เติบโต นั่นหมายความว่า ประเทศหาเงินได้มากขึ้น ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีกินมีใช้มากขึ้น
สิ่งเหล่านี้คือ เป้าหมายของผู้นำทุกคน และยิ่งเป็นผู้นำที่มีพ่อเป็นอดีตผู้นำ ในเชิงจิตวิทยาคนเหล่านี้มักมีแนวคิดในการสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ มีความต้องการสร้างมรดกเฉพาะตัว คือต้องทำให้ดีกว่าที่พ่อเคยทำ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้เช่นนั้น เพราะมีปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศมากมายมาเป็นตัวกำหนด
เหล่าผู้นำส่วนใหญ่ เมื่อได้มาซึ่งอำนาจไม่ว่าจะด้วยวิธีใด หากสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น ก็มักจะได้คำชมซึ่งคือคะแนนเสียงในกรณีของประเทศประชาธิปไตยเต็มใบหรือความชอบธรรมในกรณีของประเทศประชาธิปไตยครึ่งใบ นี่คือสิ่งที่ ลี เซียนลุง ประสบความสำเร็จ และเป็น “ผลงาน” ที่คนสิงคโปร์ชื่นชอบ แต่ก็เป็นความท้าทายของอีกหลายประเทศที่ผู้นำได้ชื่อว่า “สืบทอดอำนาจ” หรือ “เอาบุญเก่ามาใช้”