บลูมเบิร์กวิเคราะห์ 'เศรษฐกิจไทยน่าห่วง' หลังการเมืองระส่ำ เพราะ 'ผู้นำมีคดี'
บลูมเบิร์กเปิดบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ห่วงเศรษฐกิจไทย หลังส่อแววประเทศไม่มีความมั่นคงทางการเมืองอีกครั้ง เพราะผู้นำอย่างนายกฯเศรษฐา ทวีสิน กำลังเผชิญคดีความ ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร และพรรคก้าวไกล ต่างก็เผชิญกับการดำเนินคดีที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ความไม่แน่นอนทางการเมืองเฟสใหม่ ชี้เป็นภัยคุกคาม สร้างความเสียหายต่อตลาดเงินที่เปราะบางของประเทศ
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ ศาลรัฐธรรมนูญของไทยจะมีคำพิพากษาตัดสินชะตากรรมของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน, อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และพรรคก้าวไกล ซึ่งแม้จะยังคาดเดาทิศทางผลลัพธ์ได้ยาก แต่คดีนี้อาจส่งผลให้นายกฯ เศรษฐาต้องพ้นจากตำแหน่ง พรรครัฐบาลผสมที่นำโดยฝ่ายของทักษิณต้องสะเทือน และอาจมีการชุมนุมประท้วงบนถนนของผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้านอีกครั้ง
การเมืองสั่น หวั่นกระทบงบประมาณ
สิ่งที่น่าห่วงคือ สถานการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางตลาดหุ้นที่มีผลประกอบการณ์ย่ำแย่ เงินบาทอ่อนค่า เงินทุนไหลออก และมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่ลงรอยกันเรื่องนโยบายดอกเบี้ยระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่นักลงทุนกำลังจะต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ใหม่ที่การเมืองไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อการผ่านกฎหมายสำคัญ ๆ ทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568
“รศ. ดร. พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์” จากภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับบลูมเบิร์กว่า ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่วิกฤติ แต่มีความปั่นป่วนทางการเมืองอย่างแน่นอน
“เหตุการณ์เหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในขณะที่งบประมาณประจำปี 2568 กำลังได้รับการพิจารณา และต้องได้รับการจัดการให้ดีเพื่อไม่ให้ทุกอย่างเสียหาย”
นักลงทุนกังวลจ่อเผ่นหนี
บลูมเบิร์กระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีราคาที่ต้องจ่ายไปแล้วก่อนหน้านี้หลังงบประมาณปี 2567 ล่าช้า เนื่องจากเผชิญกับทางตันหลังการเลือกตั้งเมื่อปีก่อน โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 1.5% ในไตรมาสเดือนม.ค. - มี.ค. ซึ่งขยายตัวต่ำสุดในบรรดาเพื่อนบ้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และความไม่มั่นคงทางการเมืองอาจส่งผลให้การอนุมัติงบประมาณปี 2568 ในรัฐสภาล่าช้าได้
บริษัทบริหารสินทรัพย์ซัมซุง แอสเซท แมนแนจเมนท์ เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทและหุ้นไทยอยู่ในกลุ่มที่แย่ที่สุดในเอเชียปีนี้ โดยเงินบาทร่วงลงมากกว่า 7% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ แย่ที่สุดในภูมิภาครองจากค่าเงินเยน ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปแล้วมากกว่า 4% และด้วยสถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด นักลงทุนต่างชาติอาจหันไปหาโอกาสที่อื่นแทน
“อลัน ริชาร์ดสัน” ผู้จัดการพอร์ตลงทุนของบริษัทบริหารสินทรัพย์ซัมซุง กล่าวว่า
“สัญญาณใด ๆ ที่บ่งบอกถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองจะทำให้นักลงทุนกังวล เพราะแนวโน้มการเติบโตขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล และสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันก็แทบจะช่วยอะไรไม่ได้ เศรษฐกิจมหภาคของไทยในปัจจุบันเติบโตต่ำ หนี้ครัวเรือนก็สูง และมีโอกาสน้อยที่ไทยจะลดอัตราดอกเบี้ย”
คดีคือสัญญาณเตือนถึงผู้นำ
บลูมเบิร์กรายงานว่า คดีที่เกิดขึ้นกับนายกฯ เศรษฐาและทักษิณ เป็นสัญญาณเตือนจากกลุ่มรอยัลลิสต์ในไทยว่าไม่พอใจที่ทั้งสองฝ่ายพยายามกุมอำนาจเหนือประเทศ
หากศาลรัฐธรรมนูญพบว่าเศรษฐามีความผิดในข้อหาฝ่าฝืนจริยธรรมตามคำร้อง อาจถึงขึ้นต้องเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
อย่างไรก็ตาม เศรษฐายังคงเชื่อมั่นว่าตนสามารถรอดจากการไต่สวนของศาล โดยกล่าวว่าการแต่งตั้งอดีตทนายครอบครัวชินวัตรที่มีประวัติจำคุกให้เป็นรัฐมนตรีนั้น เป็นไปตามกฎหมาย
ส่วนทักษิณกำลังเผชิญกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งบ่งบอกว่าชนชั้นสูงของไทยอาจเป็นเพียงความพยายามที่จะปรามอดีตผู้นำ มากกว่าจะหักดีลตัดขาดกัน
ทักษิณและพรรคคือบัฟเฟอร์
การเดินทางกลับไทยของทักษิณ อดีตนายกฯสองสมัย หลังหลบหนีคดีไปต่างประเทศนานถึง 15 ปีนั้น ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงที่ทำร่วมกับกลุ่มทหารที่เคยขับไล่ทักษิณ และเคยกระทำแบบเดียวกันกับรัฐบาลของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2557
ทั้งนี้ ทักษิณ ซึ่งถูกทัณฑ์บนหลังถูกศาลตัดสินในข้อหาคอร์รัปชัน จ่อพ้นโทษ หลังโทษจำคุกที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษสิ้นสุดในเดือน ส.ค.
“ณพล จาตุศรีพิทักษ์” นักวิจัยแลกเปลี่ยน จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) กล่าวว่า ทักษิณและพรรคของเขายังคงเป็นพันธมิตรที่มีประโยชน์ และเป็นบัฟเฟอร์ให้กับกลุ่มอนุรักษนิยม โดยเฉพาะในยามที่ขั้วการเมืองอนุรักษนิยมขาดความเข้มแข็งในสภา และตัวช่วยอื่น ๆ ในการปกป้องผลประโยชน์ของตน
“กลุ่มสนับสนุนสถาบันอาจใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ในปัจจุบัน บีบบังคับเขามากขึ้น รวมทั้งการหาคนอื่นที่ฝ่ายอนุรักษนิยมพอใจ มาแทนที่นายกรัฐมนตรี ... เปรียบเสมือนคู่แต่งงานที่ระหองระแหงกัน แต่ยังไม่ได้หย่าจากกัน”
คดีเศรษฐา อุปสรรคเงินดิจิทัล
ด้าน “ปีเตอร์ มัมฟอร์ด” หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากบริษัทที่ปรึกษา ยูเรเซีย กรุ๊ปกล่าวว่า ด้วยอุปสรรคทางกฎหมายที่เพิ่มขึ้น เศรษฐาอาจไม่สามารถดำเนินนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทยที่ให้คำมั่นว่าจะให้เงินดิจิทัล 10,000 บาท แก่คนไทย 50 ล้านคน
นโยบายดังกล่าวได้รับการผลักดันจากเศรษฐาให้เป็นแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หลังสิบปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโต 2%
“รักพงศ์ ไชยศุภรากุล” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ก็มีมุมมองในเชิงเดียวกันว่า “ความไม่มั่นคงทางการเมืองจะบั่นทอนความสามารถของรัฐบาลในการบริหารจัดการนโยบายเศรษฐกิจที่จำเป็น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจถดถอย”
อ้างอิง: Bloomberg