การทูตแพนด้าคัมแบค? จีนเตรียมส่งแพนด้า 2 ตัว ให้สวนสัตว์สหรัฐปลายปีนี้
จีนเตรียมส่งแพนด้า 2 ตัว ได้แก่ เปาลี่ และชิงเปา ให้กับสวนสัตว์แห่งชาติสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญชี้ เป็นสัญญาณของความพยายามใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ขณะที่ทั้งสองประเทศกำลังร่วมกันฟื้นความสัมพันธ์
สวนสัตว์แห่งชาติ Smithsonian ในกรุงวอชิงตันดีซี ประกาศ จีนเตรียมส่งแพนด้า 2 ตัวให้กับสวนสัตว์ปลายปีนี้ ได้แก่ น้องเปาลี่ เพศผู้วัย 2 ปี และน้องชิงเปาเพศเมียวัย 2 ปี
การประกาศดังกล่าวเป็นความเคลื่อนไหวด้านการทูตแพนด้าของจีนกับสหรัฐครั้งล่าสุด แม้ขณะนี้ทั้งสองประเทศจะมีความตึงเครียดอยู่ก็ตาม และมีขึ้นหลังจากครอบครัวแพนด้า 3 ตัวที่เคยอยู่ในสวนสัตว์แห่งนี้ ถูกส่งกลับไปจีนแล้ว 6 เดือน
“แบรนดี สมิท” ผู้อำนวยการสวนสัตว์ กล่าวว่า “โมเมนต์แห่งประวัติศาสตร์นี้ ถือเป็นข้อพิสูจน์ในเชิงบวกที่ความร่วมมือของเราและเพื่อนร่วมงานชาวจีนส่งผลให้เกิดผลดีอย่างไม่มีอะไรมาลบล้างได้”
การส่งแพนด้ามายังสวนสัตว์ในสหรัฐ เป็นผลมาจากข้อตกลงใหม่ที่สวนสัตว์ลงนามร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าของจีน (CWSA)
ข้อตกลงนี้รวมถึงการส่งมอบแพนด้าทั้งสองเพื่อการขยายพันธุ์ภายใต้การดูแลของสวนสัตว์แห่งชาติเป็นเวลา 10 ปีด้วย ซึ่งสวนสัตว์แห่งชาติจะต้องจ่าย 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีให้กับ CWSA เพื่อสนับสนุนการวิจัยและความพยายามอนุรักษ์สัตว์ป่าของหน่วยงาน
แพนด้าทั้งสองตัว ทั้งเปาลี่ และชิงเปา และลูกหลานของพวกเขาจะยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจีน และลูกแพนด้าที่เกิดมาจะต้องส่งกลับไปจีนเมื่อมีอายุ 4 ปี
ทั้งนี้ สวนสัตว์จะประกาศอีกครั้งเมื่อแพนด้าทั้งสองตัวพร้อมเปิดตัวให้สาธารณชนรับชม
ที่ผ่านมาสวนสัตว์ในกรุงวอชิงตันดีซีมีแพนด้าจากจีนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาอยู่ที่นี่นานกว่า 50 ปี และดึงดูดนักท่องเที่ยวได้หลายล้านคน รวมถึงมีแฟน ๆ จากทั่วโลกที่ดูแพนด้าผ่านกล้องในสวนสัตว์ทางออนไลน์ได้
‘แพนด้า’ สัญลักษณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
แพนด้ากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสัมพันธ์อันอบอุ่นของจีนมายาวนาน ซึ่งจีนเคยส่งแพนด้ายักษ์คู่แรกให้สหรัฐ หลังประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เยือนกรุงปักกิ่งในปี 2515
แต่ในปี 2566 จีนได้เรียกคืนแพนด้า 4 ตัวจากสหรัฐ รวมถึงแพนด้า 3 ตัวที่อยู่ในสวนสัตว์แห่งชาติสหรัฐ และอีก 2 ตัวจากสวนสัตว์ในเอดินบะระ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและชาติตะวันตกสั่นคลอนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า การทูตแพนด้าของจีนที่กลับมาใช้อีกครั้งอาจเป็นสัญญาณของความพยายามใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ขณะที่ทั้งสองประเทศกำลังร่วมกันฟื้นความสัมพันธ์ แม้มีข้อขัดแย้งทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกัน