ซัพพลายเออร์อุตฯเทคโนโลยี แข่งเดือดจีนในตลาดอาเซียน

ซัพพลายเออร์อุตฯเทคโนโลยี  แข่งเดือดจีนในตลาดอาเซียน

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ เพราะปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน บวกกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และการแสวงหาต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่า

บรรดาซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีตั้งแต่เวียดนามจนถึงไทยกำลังเจอศึกหนักด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะเมื่อมีผู้ผลิตสัญชาติจีนเข้ามาร่วมในสนามแข่งด้วย  ทำให้ผู้ผลิตจากไต้หวันและบริษัทต่างชาติรายอื่นๆต้องหาทางเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันเพื่อเอาชนะคู่แข่งที่มีเงินทุนหนากว่า

กูเกิล เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำโลกที่ขอให้เหล่าซัพพลายเออร์สร้างฐานการผลิตนอกประเทศจีนเพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานตึงตัวในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลสหรัฐตึงเครียดหนัก 

ส่วนบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ ,คอมพาล อิเล็กทรอนิกส์,ควอนต้า คอมพิวเตอร์,เพกาทรอน และอินเวนเทค ซึ่งเป็นผู้ผลิตไต้หวันเป็นเสาหลักสำคัญที่ช่วยกูเกิลและยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐเลิกพึ่งพาจีนได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่ตอนนี้ ผู้ผลิตเหล่านี้ก็เริ่มมองเห็นแนวโน้มคำสั่งซื้อสินค้าหลั่งไหลไปหาบรรดาผู้ผลิตจีนที่เป็นคู่แข่งที่กำลังเดินพาเหรดเข้ามาลงทุนในภูมิภาค

ซัพพลายเออร์อุตฯเทคโนโลยี  แข่งเดือดจีนในตลาดอาเซียน

นิกเคอิ เอเชีย รายงานโดยอ้างแหล่งข่าววงในว่า กูเกิลขอให้โกเออร์เทค ซัพพลายเออร์จีนผลิตนาฬิกาพิกเซลในเวียดนาม ส่วนคำสั่งผลิตส่วนประกอบอื่นๆในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีตกเป็นของบรรดาบริษัทไต้หวัน แต่โกเออร์เทคก็รับผิดชอบด้านการผลิตนาฬิการุ่นใหม่ในปี 2568 ส่วนนาฬิกาที่ผลิตในปี 2569 ยังไม่มีการเปิดเผยว่าใครเป็นผู้สั่งผลิต   

“การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภคกับโกเออร์เทคตั้งอยู่บนพื้นฐานของธุรกิจล้วนๆ พวกเขามีออปชั่นผลิตนอกประเทศจีน  และสินค้ามีคุณภาพดี ทัศนะคติด้านการบริการของพวกเขาก็ดี และราคาก็สามารถแข่งขันได้”แหล่งข่าววงใน กล่าว                

ขณะที่บีวายดีของจีน กำลังผลิตโทรศัพท์พิกเซลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้กูเกิลยังไม่ตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่บีวายดี ก็เป็นผู้ผลิตไอแพดให้กับแอ๊ปเปิ้ลและมีการผลิตในปริมาณมากๆในภูมิภาค

 ด้านกูเกิล ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้     

 ความทะเยอทะยานของโกเออร์เทคและบีวายดีตอกย้ำว่าการแข่งขันในระบบห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดุเดือดมาก     

 “แน่นอน เรารู้สึกได้ถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เรากำลังแข่งขันโดยตรงกับบีวายดี ,โกเออร์เทค และลักซ์แชร์”ผู้บริหารบริษัทนิว คินโป ของไต้หวัน กล่าว โดยบริษัทคินโปผลิตสินค้าหลากหลายประเทศในไทยมานานกว่า 30 ปี       

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ เพราะผลพวงจากปัญหาความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีน บวกกับความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และการแสวงหาต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าที่เป็นอยู่ ทำให้หลายประเทศอย่างเช่น เวียดนามและไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆในการลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานในจีน ขณะที่บริษัทต่างๆสามารถย้ายฐานการผลิตชิ้นส่วนที่จีนผลิตไปยังตลาดต่างๆเพื่อประกอบหรือผลิตในท้องถิ่นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก      

รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลของนิกเคอิ เอเชีย ระบุว่า ซัพพลายเออร์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจีนเดินเกมรุกมากที่สุด ด้วยการสร้างโรงงานนอกจีน ตัวอย่างเช่น ในรายชื่อซัพพลายเออร์อันดับต้นๆของแอ๊ปเปิ้ลนั้น 37% จากซัพพลายเออร์ 35 แห่งในเวียดนามเป็นบริษัทจีน

ทีซีแอล เทคโนโลยี หนึ่งในผู้ผลิตทีวีชั้นนำของจีน ขยายโรงงานผลิตในเวียดนามในเดือนก.พ.ปี 2562 พร้อมระบุในเว็บไซต์ว่าการเติบโตเชิงกลยุทธในเวียดนามเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อรับมือกับโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง(บีอาร์ไอ)ที่เน้นสร้างโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศของรัฐบาลปักกิ่ง

"ไล่ หมิง-กวน" ผู้จัดการทั่วไปจากแอคเตอร์ กล่าวว่า ความตีงเครียดทางการเมือง ไม่ได้เป็นตัวแปรเดียวที่ทำให้ซัพพลายเออร์จีนออกไปลงทุนทำธุรกิจนอกประเทศ เศรษฐกิจจีนที่ชลอตัวก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้บริษัทจีนออกไปแสวงหาโอกาสการเติบโตทางธุรกิจในพื้นที่อื่นๆทั่วโลก

แอคเตอร์ เป็นผู้ผลิตไต้หวันที่ผลิตสินค้าที่ใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หลากหลายประเภท รวมถึง จอแสดงผลและชิป บริษัทเข้าไปลงทุนในเวียดนามในปี 2552 และเมื่อเร็วๆนี้เพิ่งจะลงทุนในมาเลเซียและในไทย 

“เพราะเศรษฐกิจจีนอยู่ในช่วงขาลง เราจึงได้เห็นบริษัทจีนจำนวนมากแข่งกันเข้ามาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดและแสวงหาการเติบโตทางธุรกิจนอกเหนือจากการทำธุรกิจในบ้านตัวเอง ในจำนวนนี้มีบริษัทหลายแห่งที่เดินตามรอยลูกค้าของตัวเองอย่างบีวายดีและลักซ์แชร์”ไล่ กล่าว

ผู้จัดการทั่วไปของแอคเตอร์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า บรรดาซัพพลายเออร์เหล่านี้มีจุดแข็งที่มากกว่าข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ โดยหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสายสัมพันธ์ทางการทูตที่ค่อนข้างดีกับรัฐบาลท้องถิ่น และช่วยให้บริษัทเหล่านี้ได้ประโยชน์มากขึ้นในการทำธุรกิจ"

ขณะที่เจฟฟ์ หลิน นักวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากออมเดีย ให้ความเห็นว่า แรงกดดันทางการเมืองก็มีแนวโน้มที่จะทำให้การแข่งขันที่ดำเนินอยู่รุนแรงมากยิ่งขึ้น

“ในตลาดโลก เราได้เห็นและคาดว่าจะได้เห็นบริษัทชั้นนำของจีนขยายการลงทุนในต่างประเทศมากกว่านี้ การออกไปลงทุนนอกประเทศถูกผลักดันโดยเป้าหมายเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศและนำรายได้เปล่านั้นกลับเข้ามายังจีน”หลิน กล่าว

ส่วนวินเซนต์ จาง กรรมการผู้จัดการแอดแวนเทคประจำภูมิภาคเอเชียซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดในโลก กล่าวว่า “บรรดาซัพพลายเออร์จีนกำลังลบภาพไม่ดีในเรื่องต้นทุนต่ำและสินค้าไม่ได้คุณภาพให้หมดไป คุณภาพสินค้าจากจีนเริ่มดีขึ้นและมีคุณภาพสูง พวกเขาไม่ใช่ซัพพลายเออร์เทียร์ 2 อีกต่อไป ถ้าคุณยังมีภาพจำแบบนี้ คุณจะสูญเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย ”

สำหรับซัพพลายเออร์สัญชาติอื่นก็เผชิญหน้ากับการแข่งขันที่คาดไม่ถึงในทุกด้านทั้งแต่ ด้านแรงงาน,ที่ดินไปจนถึงคำสั่งซื้อของลูกค้า 

“การแข่งขันกับซัพพลายเออร์จีนที่อยู่ในจีนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ตอนนี้เรากำลังเจอการแข่งขันรุนแรงกับบรรดาคู่แข่งในท้องถิ่น(ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) พวกเขามีทุนมากกว่าและสินค้าที่พวกเขาผลิตก็มีคุณภาพดี ข้อได้เปรียบของเราคือเรามีประสบการณ์ที่จะผลิตสินค้านอกบ้านเร็วกว่าพวกเขา”จาง กล่าว

แผ่นวงจรพิมพ์(พีซีบี)ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนภาพการแข่งขันกับบรรดาซัพพลายเออร์จีนว่าเข้มข้นแค่ไหน

ข้อมูลจากไต้หวัน พรินต์เท็ด เซอร์กิต แอสโซซิเอชัน ระบุว่า ผู้ผลิตพีซีบีเกือบ 55 รายและซัพพลายเออร์ของพวกเขาประกาศแผนลงทุนในประเทศไทยในช่วงปี 2566 และเดือนเม.ย.ปีนี้ ในจำนวนนี้ 33 บริษัทเป็นบริษัทจีนและอย่างน้อย 13 รายเริ่มก่อนสร้างโรงงานในไทยแล้ว

“เราได้เห็นการต่อสู้อย่างขับเคี่ยวเกี่ยวกับสิทธิบัตร ,ที่ดิน และคำสั่งผลิตสินค้า และเราจะได้เห็นการเริ่มผลิตพีซีบีใหม่ๆประมาณปลายปีหน้าอย่างแน่นอน”มอริซ ลี ประธานทีพีซีเอ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของยูนิไมครอน ผู้ผลิตพีซีบีชั้นนำของไต้หวัน ให้ความเห็นกับนิกเคอิ เอเชีย 

ซัพพลายเออร์อุตฯเทคโนโลยี  แข่งเดือดจีนในตลาดอาเซียน