'ประชุมการค้า - การลงทุน' ไทย-สหรัฐ 2024 ย้ำโอกาสสำคัญระดับทวิภาคี

'ประชุมการค้า - การลงทุน' ไทย-สหรัฐ 2024 ย้ำโอกาสสำคัญระดับทวิภาคี

หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM) และพันธมิตร จัดการประชุมด้านการค้า และการลงทุน ไทย-สหรัฐ 2024 ตอกย้ำโอกาสสำคัญระดับทวิภาคี

หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (AMCHAM), หอการค้าไทย และหอการค้าสหรัฐอเมริกา (U.S. Chamber of Commerce) กรุงเทพมหานคร  ร่วมจัดการประชุมด้านการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา 2024 เมื่อวันที่ 31 พ.ค.67 โดยมีผู้นำ และตัวแทนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และผู้นำในแวดวงธุรกิจจากสหรัฐ และไทย เข้าร่วมงานจำนวนมาก

งานประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ และประเทศไทย “ประเทศไทยเปิดรับ และพร้อมเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือให้กับสหรัฐ” พร้อมกับกล่าวเสริมว่า “รัฐบาลชุดนี้มุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมกับสหรัฐ ทั้งในระดับทวิภาคี และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ และการลงทุนมากยิ่งขึ้น” 

\'ประชุมการค้า - การลงทุน\' ไทย-สหรัฐ 2024 ย้ำโอกาสสำคัญระดับทวิภาคี

นอกจากนี้ เคิร์ต แคมป์เบลล์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ และเกว็น คาร์ดโน อุปทูตจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างสองประเทศ 

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวนำเข้าสู่การประชุมโดยพูดถึงประเด็นปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

ขณะที่ผู้นำของทั้งสามหอการค้า ได้แก่ อรกัญญา (มุก) พิบูลธรรม ประธานหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทย และ John Goyer ผู้อำนวยการบริหารเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของหอการค้าสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศไทยและสหรัฐ

\'ประชุมการค้า - การลงทุน\' ไทย-สหรัฐ 2024 ย้ำโอกาสสำคัญระดับทวิภาคี

“ประเทศไทย และสหรัฐ มีเรื่องราวความสัมพันธ์ และความร่วมมือใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน หากจะกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเรา สามารถมองย้อนกลับได้ไปถึงปี 1833 ด้วยสนธิสัญญามิตรภาพ (Treaty of Amity) และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ทั้งสองประเทศยึดมั่นซึ่งแสดงความร่วมมือที่ยั่งยืนของเราทั้งสองประเทศ”

ในปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศได้รับความสนใจมากขึ้น โดยรัฐบาลทั้งสองฝ่ายยื่นมือให้การสนับสนุน และนายกฯ เศรษฐาได้พบปะกับผู้นำธุรกิจสหรัฐ หลังจากการประชุมผู้นำ APEC ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อปีที่แล้ว ดึงดูดความสนใจใหม่ในการลงทุนในประเทศไทยจากบริษัทสหรัฐ ทั้งในด้านเทคโนโลยี การผลิตขั้นสูง และการดูแลสุขภาพ 

นอกจากนี้ ในเดือนมี.ค. จีนา ไรมอนโด เลขาธิการการค้าของสหรัฐ นำคณะของสภาการส่งออกของประธานาธิบดีสหรัฐ (President's Export Council) มาประเทศไทย เพื่อสำรวจโอกาสในการเป็นพันธมิตรกับไทย ในมิติต่างๆ ทั้งความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain resiliency) เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงานสะอาด

จากแรงผลักดันที่เกิดจากการเยือนครั้งนั้น การประชุมด้านการค้า และการลงทุนระหว่างประเทศไทย-สหรัฐอเมริกา 2024 จึงเกิดขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะนำเสนอโอกาสในการลงทุน และเสนอคำแนะนำเชิงนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง เพื่อความร่วมมือในอนาคตต่อไป

ภายในงาน มีการเสวนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ และการปกป้องข้อมูล รวมถึงความท้าทายด้านกฎระเบียบและกฎหมาย ความร่วมมือระดับโลก และการแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะ โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Microsoft, AIS, The Software Alliance (BSA) และ Cisco ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของมาตรฐานสากลที่ไทยควรพิจารณา และการกำหนดนโยบายที่รอบคอบ

\'ประชุมการค้า - การลงทุน\' ไทย-สหรัฐ 2024 ย้ำโอกาสสำคัญระดับทวิภาคี

ด้านผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA), สำนักงานความมั่นคงไซเบอร์แห่งชาติ (NSCA), Amazon Web Services, True Corporation และ Meta อภิปรายถึงบทบาทของเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และรัฐบาลในการกำหนดภูมิทัศน์ดิจิทัลในอนาคต

ส่วนผู้แทนเข้าร่วมการเสวนาจาก Cheniere Energy, Energy Absolute, Chevron และ Honeywell ให้ข้อมูลเชิงลึก โดยมุ่งเน้นไปที่การรักษาตำแหน่งของประเทศไทยบนเวทีโลกในยุคพลังงานใหม่ และให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีเกิดใหม่ นวัตกรรม และความร่วมมือ ทั้งหมดได้อภิปรายถึงบทบาทของบริษัทสหรัฐ ในการบรรลุเป้าหมายพลังงานร่วมกัน

ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กลุ่มมิตรผล I Squared Capital และ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ได้อภิปรายถึงกลยุทธ์ในการส่งเสริมเร่งรัดนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ของประเทศไทย โดยกล่าวถึงความท้าทายด้านกฎระเบียบ แนวโน้มการลงทุน และวิธีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในภูมิภาคอาเซียน

ผู้ร่วมอภิปรายยังได้อภิปรายถึงอนาคตของการทำงานในประเทศไทย ผลกระทบของสังคมผู้สูงอายุ การบูรณาการ AI และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม ธุรกิจ และการทำงาน และความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCG) บริษัทฟอร์ดมอเตอร์ (Ford Motor) สถานทูตสหรัฐอเมริกา และบริษัทเฮอร์เบิร์ธ สมิธ ฟรีฮิลส์ (Herbert Smith Freehills) ได้ให้คำแนะนำสำหรับบริษัทที่เป็นผู้นำในการพัฒนาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่กำลังเปลี่ยนแปลง

การประชุมนี้ยังก่อให้เกิดการอภิปรายเชิงลึกเกี่ยวกับนโยบาย และโอกาสในการลงทุน โดยเน้นที่นวัตกรรมดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน ความยั่งยืน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บางช่วงของการประชุมผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าร่วมประชุม เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือ และการประสานงานในอนาคต

การประชุมครั้งนี้ยังยืนยันความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างประเทศไทย และสหรัฐ และวางรากฐานสำหรับความร่วมมือ และการลงทุนในอนาคต

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์