โมเดลเศรษฐกิจ Modinomics มหัศจรรย์แห่งอินเดีย
ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ผลสำรวจ Exit poll บ่งชี้ถึงชัยชนะอย่างถล่มทลายของพรรคภารติยะชนตะ (BJP) ของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) แห่งอินเดีย ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปที่กินเวลานานหลายสัปดาห์
โดยกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลในนามพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) น่าจะคว้าที่นั่งระหว่าง 350 ถึง 400 ที่นั่ง และเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรที่มี 543 ที่นั่ง และสูงกว่าในปี 2019 ที่ NDA ได้ที่นั่ง 352 ที่นั่ง
หากเป็นจริงตามโพลคาด โมดี จะครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินเดียสมัยที่สาม ซึ่งจะตอกย้ำสถานะของเขาในฐานะผู้นำที่สำคัญที่สุดนับตั้งแต่ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru รัฐบุรุษของอินเดีย และนายกรัฐมนตรีคนแรก)
ความสำเร็จของโมดีสะท้อนถึงทักษะทางการเมือง ที่เน้นอุดมการณ์ชาตินิยมฮินดู และการเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง (Strong man Leadership) แต่ยังสะท้อนความรู้สึกในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและประชาชนทั่วไปว่า เขากำลังนำอินเดียไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง อันเป็นผลจากโมเดลเศรษฐกิจของโมดี หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า Modinomics
Modinomics เป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิ จภายใต้ข้อจำกัดหลายประการในปัจจุบัน เช่น
(1) การลดระดับของกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้พึ่งพิงการส่งออกไม่ได้
(2) อินเดียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับรุนแรง (5% GDP) และเสี่ยงต่อวิกฤตค่าเงินรูปีห์ จนสำนักวิจัย Morgan Stanley ขนานนามว่า เป็นหนึ่งใน 5 ตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนแอเมื่อ 10 ปี ก่อน (ที่เหลือได้แก่ ตรุกี บราซิล แอฟริกาใต้ และอินโดนีเซีย)
(3) คนยากจน และการมีเศรษฐกิจนอกระบบในระดับสูง
แต่ Modinomics ก็สามารถทำให้อินเดีย กลายเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก ที่ขยายตัวในอัตรา 6-7% ต่อปี (หลัง Covid เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่้ย 8.2% ต่อปี เทียบกับจีนที่ 5.7%) ขณะที่อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 และกำลังจะขึ้นเป็นอันดับที่ 3 ภายในปี 2027 รองจากอเมริกาและจีน
ความสำคัญของอินเดียในระดับโลกเห็นได้มากขึ้น เช่น (1) บริษัทอเมริกันได้มีพนักงานถึงกว่า 1.5 ล้านคนในอินเดีย มากกว่าในต่างประเทศอื่นๆ และ (2) ตลาดหุ้นมีมูลค่า (Market capitalization) มากเป็นอันดับสี่ของโลก แซงตลาดฮ่องกง เป็นต้น
ในมุมมองผู้เขียน Modinomics ขึ้นอยู่กับ 3 เสาหลัก อันได้แก่
เสาหลักแรก การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจที่กว้างใหญ่เข้าด้วยกัน อินเดียมีสนามบิน 149 แห่ง เพิ่มขึ้นสองเท่าจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว และกำลังตัดถนนเพิ่ม 10,000 กม. ต่อปี รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 15 กิกะวัตต์ต่อปีเช่นกัน
นอกจากนั้น อินเดียยังสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จับต้องไม่ได้ รวมถึงการชำระเงินดิจิทัล ตลาดทุนและธนาคารสมัยใหม่ และระบบภาษีดิจิทัลแบบครบวงจร ทั้งหมดนี้ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถใช้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด (Economies of scale) ได้
การที่อินเดียสามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ได้ เป็นเพราะภาครัฐก่อหนี้มากขึ้น โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้น จาก 66.7% ต่อ GDP ในปี 2012 เป็น 87.2% ในปัจจุบัน แต่เป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดผลผลิต เพราะนำไปสู่การสร้างโครงสร้าง ทำให้ประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้น รายได้ภาครัฐมากขึ้น
และทำให้อินเดียขาดดุลงบประมาณลดลงจาก 9.2% GDP ในปี 2021 เป็น 5.8% ในปัจจุบัน และน่าจะเข้าสู่ 4.5% ในปี 2026
ภาพดังกล่าว ทำให้ S&P ปรับมุมมองเครดิตของประเทศขึ้น ขณะที่ JP Morgan นำพันธบัตรอินเดียเข้าคำนวณในดัชนีพันธบัตรตลาดเกิดใหม่ แต่ลดน้ำหนักของพันธบัตรไทยลง
เสาหลักที่สอง คือการเน้นการส่งออกด้านบริการ ซึ่งสูงถึง 10% ของ GDP โดยอินเดียได้ประโยชน์จากกระแสการค้าบริการทั่วโลกที่เติบโต โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่อินเดียเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในเมือง Bangalore ที่ถือว่าเป็น Silicon Valley of India
นอกจากนั้น อินเดียยังพัฒนา "ศูนย์พัฒนาความสามารถระดับโลก (global capability centers)" ซึ่งเป็นสำนักวิจัยและพัฒนาระหว่างประเทศและเน้นขายบริการต่างๆ เช่น กฎหมายและการบัญชี
เสาหลักที่สาม ของ Modinomics ซึ่งเป็นระบบสวัสดิการรูปแบบใหม่ที่ชาวอินเดียที่ยากจนหลายร้อยล้านคนได้รับ คือการโอนเงินทางดิจิทัล
ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปฏิรูประบบการเงินที่เริ่มต้นตั้งแต่สมัย Raghuram Rajan อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ผู้ทำการปฏิรูประบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการเงินดิจิทัล ปฏิรูประบบธนาคาร และนโยบายการเงินจนเข้มแข็ง ทำให้คนยากจนได้ลดลงต่ำกว่า 5% ของประชากร จาก 12% ในปี 2011
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของ Modinomics มาจากการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในอินเดียในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 ขณะที่โมดีก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปให้ก้าวหน้าขึ้น โดยเร่งรัดในจุดที่ล่าช้าและเปลี่ยนตัวผู้บริหารไปเป็นผู้ที่มีหัวก้าวหน้า
ทำให้อาจมีบางคนมองว่าโมดิส่งเสริมระบบทุนนิยมพวกพ้อง และแม้ว่าบริษัทใหญ่ๆ บางแห่งจะได้รับประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ แต่ความเข้มข้นในธุรกิจกำลังลดลง การคอร์รัปชันลดน้อยลง และธุรกิจมีความหลากหลายมากขึ้น
ภาพเหล่านี้ทำให้สำนักวิจัยของธนาคาร Goldman Sachs (ซึ่งเป็นธนาคารที่ปัจจุบันมีพนักงาน 20% ในอินเดีย) คาดการณ์ว่า ชนชั้นกลางในอินเดียจะมีมากขึ้น ผู้คน 60 ล้านคนจะมีรายได้มากกว่า 10,000 ดอลลาร์ต่อปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านคนภายในปี 2027
อย่างไรก็ตาม อินเดียเผชิญกับความท้าทายสำคัญ จากประชากรวัยทำงานจำนวน 1 พันล้านคน มีเพียง 100 ล้านคนเท่านั้นที่มีงานทำอย่างเป็นทางการ ที่เหลือส่วนใหญ่ติดอยู่กับงานอิสระหรือการว่างงาน ซึ่งโมดีมีโครงการจูงใจที่ดำเนินการโดยรัฐเพื่อส่งเสริมการจ้างงานภาคการผลิต
แต่แม้ว่าโครงการจะบรรลุเป้าหมาย แต่ก็จะสร้างงานได้เพียง 7 ล้านตำแหน่ง นอกจากนั้น แผนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงในการเพิ่มผลักดันการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของจีน จะทำให้การสนับสนุนภาคการผลิตอินเดียยากลำบากขึ้น
ดังนั้น อินเดียจะต้องจ้างงานเป็นจำนวนมากเพื่อรักษาการเติบโตเอาไว้ ด้วยการผลักดันอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (IT) ให้ใหญ่ขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับโลกดิจิทัล และกลุ่มอุตสาหกรรมการส่งออก รวมถึงด้าน Fintech อาหาร และอุตสาหกรรมด้านการป้องกันประเทศ
อุตสาหกรรมเหล่านี้จะสร้างงานในภาคอื่นๆ มากขึ้น ตั้งแต่การก่อสร้างไปจนถึงโรงแรม เศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มผลผลิต (Productivity) โดยรวม และสวัสดิการที่กำหนดเป้าหมายไว้อย่างดีสามารถช่วยเหลือผู้ที่ตามหลังได้
ด้วยเหตุนี้ อินเดียจะต้องปรับปรุงด้านการศึกษาและการเกษตร และช่วยให้มีการอพยพจากทางตอนเหนือที่มีประชากรหนาแน่นไปยังเมืองใหญ่ทางตอนใต้และทางตะวันตกได้มากขึ้น
แม้ยุคต่อไปของโมดิจะไม่ง่าย แต่ Modinomics ทำให้อินเดียพัฒนาขึ้นได้อย่างก้าวกระโดดในปัจจุบัน คำถามคือ ดินแดนสารขัณฑ์ จะนำบทเรียนจาก Modinomics มาใช้พัฒนาประเทศได้อย่างไร
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่