‘จีน’ ลงทุน ‘ยุโรป’ ต่ำสุดรอบ 10 ปี หวั่น ‘กำแพงภาษีรถอีวี’ ฉุดสัมพันธ์

‘จีน’ ลงทุน ‘ยุโรป’ ต่ำสุดรอบ 10 ปี  หวั่น ‘กำแพงภาษีรถอีวี’ ฉุดสัมพันธ์

จีนลงทุนยุโรปต่ำสุดในรอบ 10 ปี โครงการใหม่ 70% ที่มีล้วนเป็น ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ พบลุยลงทุน ‘ฮังการี’ มากที่สุด คาดปั้นเป็นฐานอีวีในยุโรปรับมือกำแพงภาษี

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การลงทุนของบริษัทจีนในยุโรปในปี 2566 ที่ผ่านมา ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

‘จีน’ ลงทุน ‘ยุโรป’ ต่ำสุดรอบ 10 ปี  หวั่น ‘กำแพงภาษีรถอีวี’ ฉุดสัมพันธ์ รายงานล่าสุดจากโรเดียมกรุ๊ป และสถาบันจีนศึกษาเมอร์เคเตอร์ในเยอรมนี ระบุว่า บริษัทจีนลงทุน 6.8 พันล้านยูโร หรือราว 2.7 แสนล้านบาท ในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ และสหราชอาณาจักรในปี 2566 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 โดยเงินลงทุนใหม่เกือบ 70% มุ่งไปที่ด้านที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่

การลงทุนที่ชะลอตัวลงนี้ยังเกิดขึ้น “สวนทาง” กับธุรกิจจีนที่เบ่งบานในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากจีนไปยังต่างประเทศนั้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2559

ตัวเลขที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ยุ่งยากมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างยุโรปกับจีน และมีแนวโน้มเลวร้ายลง เนื่องจากสหภาพยุโรปเตรียมที่จะเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าที่ส่งออกจากจีน ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจกระตุ้นให้ปักกิ่งดำเนินมาตรการบางอย่างเพื่อตอบโต้

ฮังการีได้เงินลงทุนมากสุดในยุโรป

เมื่อปีที่ประเทศ “ฮังการี” ได้รับเงินลงทุนจากจีนมากที่สุดในยุโรป โดยมีมูลค่า 3 พันล้านยูโร หรือราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 44% ของเงินลงทุนทั้งหมดที่ไหลเข้าสู่ยุโรปสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ โรงงานผลิตแบตเตอรี่ของบริษัท Contemporary Amperex Technology Co. (CATL) และโรงงานผลิตของบริษัท Zhejiang Huayou Cobalt Co. 

ข้อตกลงที่ประกาศระหว่างการเยือนฮังการีของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง คาดว่าจะดึงดูดการลงทุนจากจีนเพิ่มเติม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฮังการี สร้างงานใหม่ และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี

รายงานของโรเดียมยังระบุถึงโครงการแบตเตอรี่ใหม่หลายโครงการที่เกิดขึ้นจากนักลงทุนจีนทั่วทั้งทวีปยุโรป บ่งชี้ว่าการลงทุนในฮังการี และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าจะยังคงดำเนินต่อไปในยุโรป

เมื่อโครงการเหล่านี้เปิดดำเนินการจะทำให้บริษัทจีนสามารถเลี่ยงภาษีนำเข้าได้โดยการผลิตในยุโรป และลดต้นทุนโดยการอยู่ใกล้กับซัพพลายเออร์ และลูกค้ามากขึ้น ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง

อ้างอิง Bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์