2 แบงก์ยักษ์ญี่ปุ่นจ่อขายหุ้นบิ๊กล็อต 'โตโยต้า' 1 ล้านล้านเยน ท่ามกลางมรสุม
สื่อนอกเผย 2 แบงก์ใหญ่ญี่ปุ่น 'มิตซูบิชิ-ซูมิโตโม มิตซุย' เตรียมเทขายหุ้น 'โตโยต้า' ครั้งใหญ่กว่า 1.3 ล้านล้านเยน ตอกย้ำข่าวร้ายหลังค่ายรถญี่ปุ่นร่วมชาติเจอข่าวอื้อฉาวรอบใหม่กรณีตบแต่งข้อมูลผลทดสอบรถยนต์
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องว่า ธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) และธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กำลังพิจารณาจะขายหุ้นไขว้ (Cross holding) ที่ถืออยู่ในบริษัท "โตโยต้า มอเตอร์" (Toyota) มูลค่าถึง 1.32 ล้านล้านเยน (กว่า 3 แสนล้านบาท)
รายงานระบุว่า 2 แบงก์ยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นจะพิจารณาขายหุ้นเชิงกลยุทธ์ที่ถือรวมกัน โดยจะพยายามขายหุ้นให้กับโตโยต้าในจังหวะที่โตโยต้าเพิ่งประกาศแผนซื้อหุ้นคืน 1 ล้านล้านเยนเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา หรือคิดเป็นสัดส่วน 3% ของหุ้นทั้งหมด และสูงกว่าที่เคยมีการซื้อหุ้นคืนก่อนหน้านี้ โดยการซื้อหุ้นคืนจะมีไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย.ปีหน้า
แหล่งข่าวระบุว่าปัจจุบัน มิตซูบิชิถือหุ้นโตโยต้าอยู่ทั้งหมดเป็นมูลค่าราว 7 แสนล้านเยน และซูมิโตโม มิตซุย ถืออยู่ประมาณ 6.2 แสนล้านเยน แผนการขายหุ้นครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี และอาจเป็นการขายส่วนหนึ่งหรืออาจขายทั้งหมดก็เป็นได้
ทั้งนี้ บริษัทต่าง ๆ ในญี่ปุ่นใช้วิธีการการถือหุ้นไขว้เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางธุรกิจ และป้องกันความผันผวนของราคาหุ้นมานานแล้ว แต่การปฏิบัติเช่นนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นหนทางในการปกป้องฝ่ายบริหารจากผู้ถือหุ้นที่เป็นนักเคลื่อนไหวหรือเป็นผู้เห็นต่าง แม้ทางการญี่ปุ่นจะพยายามผลักดันให้มีการลดการถือหุ้นไขว้เช่นนี้ลง แต่บรรดาธนาคารและธุรกิจขนาดใหญ่ก็ปฏิบัติตามอย่างล่าช้า
ทว่าในกรณีของการขายหุ้นโตโยต้าของ 2 แบงก์ใหญ่ล่าสุดนี้ เมื่อพิจารณาทั้งในแง่ของขนาดกิจการและความสำคัญของบริษัททำให้เป็นที่คาดว่า อาจจุดชนวนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงการถือหุ้นไขว้ในญี่ปุ่นเป็นวงกว้างตามมามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารทั้ง 2 แห่งยังปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับรายงานข่าวนี้ เช่นเดียวกับทางโตโยต้าที่ยังไม่ได้ตอบกลับการขอความเห็นเกี่ยวกับข่าวนี้
ค่ายรถญี่ปุ่นเจอข่าวฉาวรอบใหม่
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้ตรวจพบปัญหาด้านความปลอดภัยในรถยนต์ 5 ยี่ห้อดัง ได้แก่ โตโยต้า, มาสด้า, ฮอนด้า, ซูซูกิ และยามาฮ่า โดยบริษัทเหล่านี้มีการรายงานข้อมูลความปลอดภัยที่เป็นเท็จหรือบิดเบือนระหว่างกระบวนการทดสอบความปลอดภัยทางถนน ส่งผลให้รัฐบาลมีคำสั่งให้ระงับการขายและส่งมอบรถยนต์ 6 รุ่นที่พบปัญหา
ในจำนวนนี้เป็นรถของโตโยต้าถึง 3 รุ่น คือ โคโรลลา ฟีลเดอร์ (Corolla Fielder), โคโรลลา อาซิโอ (Corolla Axio) และ ยาริส ครอส (Yaris Cross) และยังพบด้วยว่าโตโยต้ามีการใช้รถทดสอบที่ได้รับการดัดแปลง ในระหว่างการทดสอบความปลอดภัยในการชนสำหรับรถรุ่นที่ผ่านมา 4 รุ่น รวมถึงรุ่น Crown ด้วย
เหตุการณ์ล่าสุดนี้ส่งผลให้ "อาคิโอะ โทโยดะ" ประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เปิดแถลงข่าวทันทีภายในวันเดียวกันเพื่อกล่าวขอโทษและชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า"เราละเลยต่อกระบวนการขอใบรับรองและการผลิตรถยนต์จำนวนมาก โดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนป้องกันที่เหมาะสมก่อน เราต้องขออภัยต่อลูกค้าของเราและผู้ที่ติดตามวงการยานยนต์ทุกท่าน"
ทั้งนี้โตโยต้าระบุว่า การระงับการส่งมอบรถยนต์ 3 รุ่นดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อไลน์การผลิต 2 แห่ง ที่รับผิดชอบการผลิตรถจำนวน 1.3 แสนคันต่อปี ขณะที่โตโยต้าเพิ่งรายงานการจำหน่ายรถยนต์ได้สูงสุดทุบสถิติใหม่ที่กว่า 11 ล้านคันทั่วโลกในปีที่แล้ว
ทางด้านบริษัท "มาสด้า มอเตอร์" แถลงยอมรับว่า บริษัทมีการแจ้งข้อมูลผิดพลาดและแทรกแซงในฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบการชนในรถยนต์ 5 รุ่น ซึ่งรวมถึงรุ่น "มาสด้า 2" (Mazda2) และ "โรดสเตอร์ RF" (Roadster RF) ขณะที่ทางการตรวจพบความผิดปกติในรถยนต์มากกว่า 1.5 แสนคัน ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2014 และจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น