2 ค่ายรถญี่ปุ่นหยุดผลิตในไทย ซัพพลายเชนดิ้นพึ่งลูกค้าค่ายใหญ่
"ส.อ.ท." ประเมิน 2 ค่ายรถญี่ปุ่น “ซูซูกิ-ซูบารุ” ถอนการผลิตรถในไทย ไม่กระทบซัพพลายเชนในไทย ย้ำยังเหลือค่ายใหญ่รองรับสายพานการผลิตอีกมาก
อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเมื่อ “ซูซูกิ ประเทศไทย” เตรียมยุติการผลิตรถยนต์จากโรงงานในไทยภายช่วงสิ้นปี 2568 โดยยังคงเดินหน้าจำหน่ายรถยนต์และให้บริการหลังการขาย แต่จะเปลี่ยนไปนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน รวมถึงญี่ปุ่นและอินเดียแทน
ซูซูกิได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 ระบุว่า ซูซูกิร่วมโครงการและก่อตั้ง SMT ในปี 2554 และเริ่มการผลิตปี 2555 ซึ่งผลิตและส่งออกได้ 60,000 คันต่อปี
ทั้งนี้ ด้วยการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ของทั่วโลก ซูซูกิพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับโลกจึงยุติการดำเนินการของโรงงาน SMT ภายในช่วงสิ้นปี 2568
รวมทั้งแม้จะยุติโรงงานในไทย แต่ยังดำเนินจำหน่ายและให้บริการหลังการขายผ่านศูนบริการ 24 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปรับแผนธุรกิจเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน ญี่ปุ่นและอินเดีย
ทั้งนี้ โรงงานซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เริ่มการผลิตตั้งแต่เดือน มี.ค.2555 ตั้งอยู่ที่ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง โดยทำการผลิตรถยนต์ซูซูกิจำนวน 3 รุ่น คือ Swift, Ciaz และ Celerio สำหรับปีงบประมาณ 2566 มียอดผลิต 7,579 คัน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 พ.ค.2567 ซูบารุ ได้ประกาศยุติสายการผลิตรถยนต์ซูบารุทุกรุ่นในโรงงงานลาดกระบัง หลังวันที่ 30 ธ.ค.2567 ซึ่งโรงงานยังไม่ยืนยันว่าจะขายให้ค่ายรถยนต์อื่นหรือไม่
สำหรับการยุติการผลิตครั้งนี้จะเป็นเพียงหยุดผลิตเท่านั้น แต่ยังคงวางจำหน่ายในไทย แต่จะนำเข้ามาจากญี่ปุ่นแบบทั้งคันเหมือนตลาดเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ที่จะเปลี่ยนไปจำหน่ายรถนำเข้าเช่นกัน
ทั้งนี้ ซูบารุยังมีรถวางจำหน่ายและจะขายจนรถสต๊อกจะหมด จากนั้นจะนำเข้ามาขายทั้งคัน ส่วนบริการหลังการขายยังดำเนินการต่อเนื่องผ่านศูนย์บริการ 24 แห่งทั่วประเทศ และดีเลอร์ยังคงให้บริการดูแลลูกค้า
สำหรับโรงงานในไทยเป็นความร่วมมือของกลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) และซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ประเทศญี่ปุ่น ในชื่อบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (TCSAT) เปิดโรงงานวันที่ 23 เม.ย.2562 ถือว่าเป็นโรงงานแห่งที่ 3 นอกญี่ปุ่น โดยแห่งแรกอยู่ที่สหรัฐ ส่วนแห่งที่ 2 อยู่ในมาเลเซียและได้ปิดไปก่อนหน้านี้
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัญหาหลักของการเลิกผลิตของทั้ง 2 ค่ายนี้ อาจคงมาจากยอดขายที่ไม่ได้ขนาด การผลิตก็น้อยลง และจริงๆ ก็มีการส่งออกด้วย ดังนั้น ก็คงเป็นไปตามข่าวที่แบรนด์รถออกแถลงการ
"ผลกระทบของซัพพลายเชนของทั้ง 2 แบรนด์นี้ เป็นซัพพลายเชนในไทยที่ต้องผลิตชิ้นส่วนในประเทศตามสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งอาจกระทบบ้างช่วงปีหน้า เพราะตอนนี้ยังมีการผลิตตามปกติ พร้อมศูนย์ต่างๆ ยังอยู่ และยังผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ส่งออกนอกประเทศด้วย"
ทั้งนี้ เอกชนจะยังคงรอดูว่าเศรษฐกิจของไทยจะดีขึ้นหรือไม่ ตอนนี้เป้าการผลิตรถยนต์ทั้งปีแม้จะคิดว่าจะมีการลดเป้าการผลิตแต่ก็จะขอดูก่อนว่าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ รวมถึงเอกชนที่ยื่นขอสิทธิประโยชน์จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเป็นอย่างไรบ้าง
“มองว่าซัพพลายเชนจะไม่ถึงกับปิดกิจการ เพราะยังมีค่ายรถรายใหญ่อีกเยอะ โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้วก็ยังอยู่กันครบ อีกทั้ง กลุ่มผู้รับสิทธิประโยชน์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.0 ที่นำรถอีวีเข้ามาเมื่อปี 2565-2566 ราว 8-9 หมื่นคัน จะต้องรีบผลิตชดเชย”
นอกจากนี้ ยังไม่รวมที่ต้องผลิตชดเชยที่นำเข้าตามยอด อาจจะผลิตมากกว่าก็ได้ เพราะยังได้รับเงินอุดหนุนหากผลิตปีนี้กับปีหน้าตามโครงการอีวี 3.0 ดังนั้น จะต้องหาพาร์ทเนอร์เหมือนกับบริษัทญี่ปุ่นสมัยก่อนที่ร่วมพาร์ทเนอร์นกับไทยในการผลิตชิ้นส่วนในไทยในราคาที่แข่งขันได้
อีกทั้ง จะเห็นว่ายอดรถยนต์ไฮบริดเติบโตทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก โดยมียอดขายมากกว่ารถ BEV ด้วยซ้ำ จากการผลิตเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันร่วมกับแบตเตอรี่เพราะไม่ต้องกังวลในเรื่องของการหาสถานีชาร์จ
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยหดตัวต่อเนื่อง โดย ส.อ.ท.รายงานว่าการผลิตรถยนต์ทั้งหมดเดือน เม.ย.2567 มีทั้งสิ้น 104,667 คัน ลดลงจากเดือน เม.ย.2566 ที่ 11.02% จากการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อขายในประเทศที่ลดลง 5.03% และ 45.94% ตามลำดับ
รวมแล้วจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 518,790 คัน ลดลงจากเดือน ม.ค.-เม.ย.2566 ที่ 17.05%
สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลมมาหลายเดือน กำลังซื้อยังเปราะบาง และลดลงจากเดือน มี.ค.2567 ที่ 24.34%
สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน เม.ย.2567 ส่งออกได้ 70,160 คัน ลดลงจากเดือน เม.ย.2566 ที่ 12.23% เพราะผลิตเพื่อส่งออกได้น้อยจากจำนวนวันทำงานน้อยในเดือน เม.ย.
โดยรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือน เม.ย.2567 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 69,274.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.2566 ที่ 5.79%