151 คนไทย ถูกปล่อยตัวจากเมียนมา ขยายผลจับกุมพนันออนไลน์ – แก๊งคอลเซ็นเตอร์

151 คนไทย ถูกปล่อยตัวจากเมียนมา ขยายผลจับกุมพนันออนไลน์ – แก๊งคอลเซ็นเตอร์

จเรตำรวจแห่งชาติ ประสานเมียนมา รับ 151 คนไทยกลับประเทศ เนื่องจากทางการเมียนมาปล่อยตัว ในโอกาสวันชาติของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา วันที่ 4 มกราคม 2568 พร้อมเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เป็นเหยื่อ และขยายผลเพื่อจับกุมแก๊งพนันออนไลน์ – แก๊งคอลเซ็นเตอร์

จเรตำรวจแห่งชาติ ประสาน เมียนมา บินด่วนรับ 151 คนไทยกลับประเทศ เนื่องจากทางการเมียนมาปล่อยตัว ในโอกาสวันชาติของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา (วันชาติเมียนมา) วันที่ 4 มกราคม 2568 พร้อมเพื่อช่วยเหลือบุคคลที่เป็นเหยื่อ และขยายผลเพื่อจับกุมแก๊งพนันออนไลน์ – แก๊งคอลเซ็นเตอร์

151 คนไทย ถูกปล่อยตัวจากเมียนมา ขยายผลจับกุมพนันออนไลน์ – แก๊งคอลเซ็นเตอร์

พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จเรตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( ศปอส.ตร. ) นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ไปรอรับการปล่อยตัวคนไทยจากทางการเมียนมาจำนวน 151 คน เป็นชาย 74 คน และหญิง 77 คน ณ ด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย จว.เชียงราย เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2568
 

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้มาติดตามและดำเนินการจากกรณีที่ทางการไทยได้มีความร่วมมือกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา กระทรวงมหาดไทย และกองบัญชาการตำรวจเมียนมา ในการปราบปรามและจับกุมแก๊งพนันออนไลน์

ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้ถูกจับกุมใน จังหวัด ท่าขี้เหล็ก ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ข้อหาเรื่องการพนันออนไลน์ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่ว่าในส่วนของไทยนั้นมีข้อมูลเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็จะมีการขยายผลเรื่องนี้ด้วย ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมจำนวน 154 คน ถูกส่งตัวไปยังสถานีตำรวจท่าขี้เหล็ก และศาลเมียนมาได้ตัดสินจำคุกทั้งหมดเป็นเวลา 2 ปี ได้รับการลดโทษ คงเหลือจำคุก 10 เดือน แต่ในจำนวนนี้มีเยาวชน 2 คนถูกส่งกลับก่อนหน้านี้แล้ว และมีผู้เสียชีวิต 1 คน จึงเหลือ 151 คน

151 คนไทย ถูกปล่อยตัวจากเมียนมา ขยายผลจับกุมพนันออนไลน์ – แก๊งคอลเซ็นเตอร์

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้นำหน่วยงานต่าง ๆ คือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงราย , ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง จ.เชียงราย และทีมสหวิชาชีพ เตรียมรับตัวเพื่อคัดกรองตามกลไก NRM ว่าเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์หรือไม่ โดยเปิดศูนย์บูรณาการคัดแยกเอาไว้ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย ที่ 1 , มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ และมูลนิธิ Destiny Rescue ใช้เวลาคัดแยกไม่เกิน 15 วัน

โดยเมื่อคนไทยทั้ง 151 คนกลับถึงประเทศไทยแล้วจะเข้าสู่กระบวนการคัดแยก จะต้องมีการคัดกรองว่าใครตกเป็นเหยื่อ หลังจากนั้นจะเป็นการสืบสวนขยายผล ซึ่งข้อมูลพยานหลักฐานที่เป็นเครื่องบ่งชี้ต่าง ๆ จะเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญที่จะใช้ประกอบในการดำเนินคดี 
 

อย่างไรก็ตามหากคัดกรองแล้วพบว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ก็จะให้การช่วยเหลือตามขั้นตอน แต่หากใครที่คัดกรองแล้วเป็นกระทำความผิดใด ๆ ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งได้สั่งการให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองตรวจสอบว่าใครที่มีการเดินทางเข้าออกไปประเทศเพื่อนบ้านบ่อยครั้ง ซึ่งเบื้องต้นในเรื่องของการข้ามแดน จาการตรวจสอบพบว่ามี 4 คน เดินทางโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง เป็นการเข้าออกช่องทางธรรมชาติ ซึ่งทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองก็จะมีการดำเนินคดี 4 คนนี้เมื่อกลับมาถึงไทยด้วย

พล.ต.อ.ธัชชัยฯ กล่าวว่า ได้มีโอกาสคุยกับ พล.ต.ท.วิน ส่อ โม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมียนมา ขณะเดินทางไปประชุมที่กรุงเนปิดอร์ เมื่อต้นปี 2567 ได้มีการพูดคุยในเรื่องของคนไทยทั้ง 151 คนที่ถูกจับกุมและควบคุมตัว รวมทั้งการรวบรวมพยานหลักฐาน การช่วยเหลือในเรื่องการส่งกลับ ประกอบกับเนื่องในโอกาสวันชาติของสาธารณรัฐสหภาพเมียนมา หรือวันประกาศอิสรภาพ ซึ่งตรงกับวันที่ 4 มกราคม 2568 จนเป็นที่มาในการส่งตัวคนไทยทั้งหมดกลับประเทศไทยในวันนี้

และในส่วนของปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องหลักที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ ได้มีการพูดคุยกันและจะได้มีการร่วมมือกันต่อไป