ค่าเงินบาทวันนี้ 7 ม.ค.68 ‘ทรงตัว‘ หลังเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัว

ค่าเงินบาทวันนี้ 7 ม.ค.68 ‘ทรงตัว‘ หลังเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัว

ค่าเงินบาทวันนี้ 7 ม.ค. 68 เปิดตลาด “ทรงตัว“ ที่ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัว แม้นโยบายกีดกันทางการค้าทรัมป์ไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาด ดอลลาร์รีบาวด์ขึ้น ราคาทองคำพลิกปรับตัวลดลง กดดันเงินบาท มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.63 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.80 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนหนัก (แกว่งตัวในกรอบ 34.36-34.68 บาทต่อดอลลาร์)  โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง อย่างรวดเร็วในช่วง 18.00 น. หลังสำนักข่าว Washington Post ได้รายงานว่า มาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวล (เน้นขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ หรือความมั่นคงต่อเศรษฐกิจ) ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงหนัก พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 7 ม.ค.68 ‘ทรงตัว‘ หลังเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัว

อย่างไรก็ดี การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทก็อยู่ได้ไม่นาน หลังว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าว อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อสู่ระดับ 4.63% หลังผู้เล่นในตลาดต่างคงกังวลว่า เฟดยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดี ส่วนอัตราเงินเฟ้ออาจชะลอลงช้า แม้นโยบายกีดกันทางการค้าอาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่คาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์รีบาวด์ขึ้นบ้าง

ขณะที่ราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลง กดดันให้เงินบาททยอยกลับมาอ่อนค่ากลับสู่ระดับก่อนที่ตลาดจะรับรู้รายงานข่าวดังกล่าว 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายอมรับว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทมีกำลังมากขึ้นชัดเจน แม้ว่าในช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทจะมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงก็ตาม ทำให้ในระยะสั้น เมื่อประเมินด้วย ตามกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทมีโอกาสทยอยอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 34.80 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านสำคัญถัดไป 35.00 บาทต่อดอลลาร์) ได้ อย่างไรก็ดี เงินบาทจะสามารถอ่อนค่าถึงโซนดังกล่าวได้หรือไม่นั้น อาจจะขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในคืนนี้ 

โดยในกรณีที่ ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด หรือปรับตัวสูงขึ้นตามที่ตลาดคาด พร้อมกับยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ดีกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งมั่นใจว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด ตามภาพเศรษฐกิจที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ เงินดอลลาร์มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง (ดัชนี DXY อาจสูงขึ้นแตะโซน 109 จุด ได้) ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจสูงขึ้นเข้าใกล้โซน 4.70% กดดันราคาทองคำและเงินบาท โดยเงินบาทอาจอ่อนค่าลงทดสอบโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ไม่ยาก

ในทางกลับกัน หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาผสมผสาน หรือออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน (กรณีออกมาแย่กว่าคาด อาจเกิดขึ้นยาก) ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงบ้าง หนุนราคาทองคำและเงินบาท โดยเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นกลับมาทดสอบโซนแนวรับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้

อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างวัน ยังคงต้องติดตามแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบและทองคำ เนื่องจากในช่วงนี้ โฟลว์ธุรกรรมซื้อน้ำมันดิบและซื้อทองคำ ก็มีส่วนกดดันไม่ให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ชัดเจน

ทั้งนี้ เราขอย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ช่วงราว 22.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) อาจเคลื่อนไหว +/-0.2% ได้ในช่วงหลังรับรู้ข้อมูลดังกล่าว 30 นาที

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor นำโดย Nvidia +3.4% หลัง Microsoft +1.1% เตรียมลงทุนขนานใหญ่ใน Data Center เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากความหวังว่า รัฐบาล Trump 2.0 อาจไม่ได้ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรง อย่างที่ตลาดกังวล ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.24% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.55%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้น +0.95% หนุนโดยความหวังว่ามาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวล ส่งผลให้บรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและยานยนต์ต่างปรับตัวขึ้นแรง อาทิ Hermes +4.5%, BMW +4.4% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นธีม AI/Semiconductor อย่าง ASML +8.7% ตามข่าว Microsoft เตรียมลงทุนขนานใหญ่เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวน ตามข่าวมาตรการกีดกันทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นของรัฐบาลทรัมป์ 2.0 โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะย่อตัวลงในช่วงแรกสู่โซน 4.57% จากรายงานข่าวว่ามาตรการกีดกันทางการค้าอาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวล ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เป็น 70% ก่อนที่ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะปฏิเสธข่าวดังกล่าว ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลว่า หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใส (รอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้) เฟดก็อาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง เหลือ ราว 55% ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับ 4.63% อีกครั้ง อนึ่ง เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวได้ หากบอนด์ยีลด์มีการปรับตัวสูงขึ้นบ้าง เนื่องจากผลตอบแทนรวม (Total Return) ของการถือบอนด์ระยะยาวนั้น ยังมีความน่าสนใจอยู่ ตราบใดที่เฟดไม่ได้กลับมาขึ้นดอกเบี้ย และคาดการณ์ของเราที่มองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ นั้นถูกต้อง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงหนัก จากรายงานข่าวว่ามาตรการกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 อาจไม่ได้รุนแรงอย่างที่ตลาดกังวล ทว่า เงินดอลลาร์ก็รีบาวด์ขึ้นบ้าง หลังว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว อีกทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวสูงขึ้น กดดันให้สกุลเงินหลัก อย่าง เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่าลงสู่โซน 158 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงโซน 108.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.7-108.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวผันผวนของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ส่งผลให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) เคลื่อนไหวผันผวนด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดการเงิน ก็เพิ่มแรงกดดันต่อราคาทองคำ ทำให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงสู่โซน 2,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวลงของราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลง 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งจะมีทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการของสหรัฐฯ  โดย ISM (ISM Services PMI) ในเดือนธันวาคม และยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) เดือนพฤศจิกายน รวมถึง ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด (Thomas Barkin) ซึ่งผู้เล่นในตลาดจะใช้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ในการประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ที่ปัจจุบัน ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่เชื่อว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้ง ตามที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ในเดือนธันวาคม ซึ่งอาจสะท้อนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงต่อเนื่อง หรือ ออกมาต่ำกว่าคาด ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดมั่นใจว่า ECB จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้เร็วและมากกว่าเฟด (อาจลดดอกเบี้ยติดต่อกัน 4 ครั้ง หรือ 100bps)