ค่าเงินบาทวันนี้ 2 ม.ค.68 ‘อ่อนค่าหนัก‘ ดอลลาร์พลิกแข็งค่า ตลาดรอปัจจัยใหม่
ค่าเงินบาทวันนี้ 2 ม.ค. 68 เปิดตลาด “อ่อนค่าหนัก“ ที่ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังตลาดการเงินสหรัฐฯ บรรยากาศระมัดระวังตัวหนุนดอลลาร์กลับมาพลิกแข็งค่า และตลาดรอรับรู้ปัจจัยใหม่เพิ่มเติม มองกรอบเงินบาทวันนี้ 34.10-34.40 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้"เปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.31 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงหนัก”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.07 บาทต่อดอลลาร์ (ระดับปิด ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567) มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.40บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ 30 ธันวาคมที่ผ่านมา เงินบาท(USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงทะลุโซนแนวต้าน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์ ตามการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันหยุดทำการของตลาดการเงินไทย โดยบรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงหนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่
อย่างไรก็ดี แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น ทว่าเงินบาทก็ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถกลับมาแกว่งตัวแถวโซน 2,620-2,630 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้อีกครั้ง ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้อย่างชัดเจน
แม้ว่าตลาดการเงินจะปิดทำการเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม ทว่าหากประเมินจากสัญญาฟิวเจอร์สของดัชนีตลาดหุ้น อย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเห็นได้ว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่กลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงอย่างเต็มที่ โดยล่าสุด สัญญาฟิวเจอร์สดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงราว -0.31% เช่นเดียวกันกับสัญญาฟิวเจอร์สดัชนีหุ้นเทคฯ และ สัญญาฟิวเจอร์สหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ ที่ต่างปรับตัวลงราว -0.3%
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงวันหยุดตลาดการเงินไทย ท่ามกลางภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดช่วงท้ายปี หนุนความต้องการถือเงินดอลลาร์ ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์สามารถปรับตัวขึ้นสู่โซน 108.5 จุด ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี ได้ (แกว่งตัวในกรอบ 107.8-108.6 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้น แต่ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด รวมถึงจังหวะการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็พอช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถปรับตัวขึ้นสู่โซน 2,630-2,640 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็สามารถช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ในช่วงที่ผ่านมา
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัว Sideways โดยมีโซน 34.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวต้านแรกในช่วงนี้ ขณะที่โซนแนวรับอาจอยู่ในช่วง 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ถึงจะเริ่มเห็นการเลือกทิศทางการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนของเงินบาทในระยะข้างหน้า โดยเราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทก็อาจยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามกลยุทธ์ Trend-Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านทั้ง 34.30 บาทต่อดอลลาร์ และโซน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ อย่างชัดเจน
อนึ่ง ในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทก็อาจขึ้นอยู่กับ แนวโน้มราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ ก็อาจช่วยลดทอนแรงกดดันเงินบาทจากการทยอยแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในช่วงระยะสั้น นอกจากนี้ ควรจับตาการเคลื่อนไหวของเงินหยวนจีน (CNY) หลังตลาดรับรู้รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตด้วยเช่นกัน เพราะหากผู้เล่นในตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ในกรณีที่รายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตออกมาตามคาด หรือ ดีกว่าคาด ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวนจีนได้ หรือช่วยหนุนให้เงินหยวนจีนกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ควรติดตามฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติเช่นกัน หลังหลายตลาดการเงินจะเริ่มกลับมาทำการตามปกติ ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อ ขาย สินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติอาจคึกคักมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ โดยสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัว +/-0.20% ได้ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก โดยบรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ หลังในรายงานล่าสุด รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) กลับปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับการปรับตัวลดลงของยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนประเมินว่า ภาพดังกล่าวอาจสะท้อนแนวโน้มการชะลอตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมของจีน (Caixin Manufacturing PMI) ในเดือนธันวาคม ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง มากกว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตโดยทางการจีน ที่ได้รายงานในวันที่ 31 ธันวาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิตมีแนวโน้มทรงตัวแถวระดับ 51.5 จุด สะท้อนว่า ภาคการผลิตของจีนยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หนุนภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
และในฝั่งไทย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) ในเดือนธันวาคม