'เน้นถูก ผลิตไว ไม่ไฮเทค' กลยุทธ์บ.อาวุธเกาหลีใต้ รายได้พุ่งพันล้าน ในช่วงสงครามโลกเดือด
ฮันฮวา แอโรสเปซ โค (Hanwha Aerospace Co.) บริษัทผลิตอาวุธชั้นนำเกาหลีใต้ ยังไม่หยุดผลิตอาวุธดั้งเดิม แม้คู่แข่งในต่างประเทศเปลี่ยนไปผลิตอาวุธไฮเทคแล้วก็ตาม และด้วยอาวุธที่มีราคาถูก แถมผลิตไวกว่าคู่แข่ง บริษัทจึงมีรายได้พุ่ง 1,100 ล้านดอลลาร์ ในช่วงสงครามโลกเดือด
KEY
POINTS
- นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ฮันฮวามีรายได้จากการส่งออกอาวุธต่อปีเติบโต 11 เท่า สู่ระดับ 1,100 ล้านดอลลาร์ และหุ้นพุ่ง 350%
- เพื่อตอบสนองความต้องการอาวุธที่เพิ่มขึ้น ฮันฮวาได้เพิ่มพนักงานมากถึง 700 คน ในปี 2566 ทำให้บริษัทมีพนักงานรวมมากกว่า 7,000 คน
- อาวุธจากเกาหลีใต้ไม่ได้ล้ำสมัยมากที่สุด แต่เป็นอาวุธที่บริษัทผลิตอาวุธอย่าง ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) และโบอิ้ง (Boeing) ไม่ได้ทำ
- ฮันฮวาสามารถประกอบสินค้าเรือธงอย่างปืนใหญ่ K9 howitzer สำเร็จในเวลาเพียง 180 วัน เร็วกว่าคู่แข่ง 2-3 เท่า และมีราคาเพียงครึ่งหนึ่งของ 1 ใน 3 ของราคาปืนใหญ่คู่แข่ง
เมื่อไม่นานมานี้ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมทางทหารบางคนมองว่า ฮันฮวา แอโรสเปซ โค (Hanwha Aerospace Co.) บริษัทผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นนำของเกาหลีใต้ เหมือน “ของตกรุ่น” เพราะมีสินค้าไม่เพียงพอต่อความความต้องการทำสงครามในยุคศตวรรษที่ 21
แต่การสู้รบในสงครามยูเครนส่วนใหญ่ที่เน้นโจมตีภาคพื้น พิสูจน์แล้วว่า นักวิเคราะห์เหล่านั้นมองฮันฮวาผิดไป
เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ รายงานเมื่อวันพฤหัสบดี (6 มิ.ย.) ว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ฮันฮวามีรายได้จากการส่งออกอาวุธต่อปีเติบโต 11 เท่า สู่ระดับ 1,100 ล้านดอลลาร์ และหุ้นพุ่ง 350%
ตามข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (Stockholm International Peace Research Institute: SIPRI) ระบุว่า การใช้จ่ายทางทหารทั่วโลกเพิ่มขึ้น 6.8% ในปีก่อน ซึ่งถือว่าเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2552
“ซน แจอิล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัทฮันฮวา เผยว่า เพื่อตอบสนองความต้องการอาวุธที่เพิ่มขึ้น ฮันฮวาได้เพิ่มพนักงานมากถึง 700 คน ในปี 2566 ทำให้บริษัทมีพนักงานรวมมากกว่า 7,000 คน และพนักงานมากกว่า 1 ใน 3 หรือมากกว่า 200 คน เน้นทำงานวิจัยและพัฒนา รวมถึงการพัฒนาอาวุธสั่งการระยะทางไกล อาวุธอัตโนมัติ และเครื่องจักรเครื่องบินรบ ซึ่งอาวุธเหล่านี้ ซนเผยว่าจะส่งมอบภายในอีก 10 ปีข้างหน้า
“สหรัฐมี(อาวุธ) 40% ของระบบป้องกันประเทศของโลก แต่ไม่สามารถผลิตได้ทุกอย่างหรอก ... เราเน้นอาวุธหนักขนาดกลาง ปืนใหญ่อัตตาจร รถหุ้มเกราะ รถถัง อาวุธเหล่านี้ ทำให้เราสามารถแข่งขันในระดับโลกได้แล้ว” ซน กล่าว
ด้าน “ชเว กวางชิก” นักวิเคราะห์จาก Daol Investment & Securities Co. บอกว่า หุ้นของฮันฮวากำลังไปได้สวยในขณะนี้ และบริษัทไม่มีอะไรที่ต้องกังวล
เน้นครอง ‘ตลาดอาวุธธรรมดา’ ที่คู่แข่งมองข้าม
การเติบโตของฮันฮวาสะท้อนให้เห็นช่องว่างในอุตสาหกรรมด้านการทหารของโลก โดยผู้ผลิตอาวุธสัญชาติอเมริกันและยุโรป ต่างเปลี่ยนไปผลิตอาวุธเชิงยุทธศาสตร์ อาวุธนำวิถีที่แม่นยำ และเทคโนโลยีล้ำสมัยต่าง ๆ ขณะที่หลายประเทศมองว่าอาวุธเหล่านั้นราคาแพง หรือต้องจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับอุปกรณ์เหล่านั้นเป็นวงกว้าง ปัจจัยดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้กับอาวุธธรรมดา ๆ ของฮันฮวาเป็นที่ต้องการในตลาด
“ยุน ซุกจุน” อดีตกัปตันที่เกษียณจากกองทัพเรือเกาหลีใต้ และนักวิชาการอาวุโสจากสถาบันกิจการทหารแห่งเกาหลี (Korea Institute for Military Affairs) บอกว่า ธุรกิจเกี่ยวกับการป้องกันประเทศในสหรัฐหรือยุโรป ไม่ต้องการผลิตอาวุธเหล่านี้ และว่า อาวุธจากเกาหลีใต้ไม่ได้ล้ำสมัยมากที่สุด แต่เป็นอาวุธที่บริษัทผลิตอาวุธอย่าง ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) และโบอิ้ง (Boeing) ไม่ได้ทำ
อาวุธฮันฮวา เป็นที่ต้องการในหลายประเทศ
โปแลนด์เป็นผู้ซื้อที่มีความต้องการอาวุธธรรมดาอย่างมาก ได้สั่งปืนใหญ่อัตตาจร K9 howitzers อย่างน้อย 670 คัน และสั่งเครื่องยิงจรวด 290 เครื่อง จากฮันฮวาตั้งแต่ปี 2565 และฮันฮวาได้จัดส่งปืนใหญ่ howitzers ให้แก่อียิปต์ รวมถึงจัดส่งกระสุนให้แก่อังกฤษด้วย และหากบริษัทบรรลุข้อตกลงกับประเทศโรมาเนีย โรมาเนียอาจกลายเป็นประเทศที่ 10 ที่เลือกซื้อปืนใหญ่ K9s จากฮันฮวา
เมื่อปี 2566 ฮันฮวายังสามารถเอาชนะคู่แข่งอย่าง Rheinmetall AG จากเยอรมนี ได้ทำข้อตกลงจัดส่งรถถัง 129 คันให้กับออสเตรเลีย ซึ่งข้อตกลงซื้ออาวุธชขนิดนี้มีมูลค่าอย่างน้อย 5,000 ล้านดอลลาร์ และเป็นหนึ่งในโครงการทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย
“แพต คอนรอย” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมออสเตรเลีย เผยว่า ฮันฮวาอาจผลิตรถถังในออสเตรเลีย และคาดว่าจะส่งมอบสินค้าภายใน 5 ปี ซึ่งการตัดสินใจสั่งซื้ออาวุธกับฮันฮวานั้น พิจารณาจากยานพาหนะที่นำเสนอและความคุ้มค่าของเงิน
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีมาหลายปี แต่สงครามยังไม่ได้จบลงอย่างเป็นทางการ เกาหลีเหนือยังคงทดสอบขีปนาวุธต่อเนื่อง และ “คิม จองอึน” ผู้นำเกาหลีเหนือกล่าวไว้เมื่อต้นปีว่า ตนมีสิทธิตามกฎหมายในการทำลายล้างเกาหลีใต้ และสัปดาห์นี้ก็ได้ส่งบอลลูนขยะหลายร้อยลูกข้ามพรมแดนไปยังเกาหลีใต้
สำหรับบริษัทฮันฮวาและบริษัทผลิตอาวุธอื่น ๆ ในประเทศ ภัยคุกคามดังกล่าวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกระตุ้นให้ความต้องการในประเทศแข็งแกร่งเช่นกัน
ถูกกว่า ผลิตไวกว่าคู่แข่ง
ปัจจัยที่เป็นข้อได้เปรียบหนุนให้ฮันฮวาเป็นที่สนใจ ได้แก่ ไลน์ผลิตที่ราบรื่น ห่วงโซ่อุปทานที่สมบูรณ์ และสามารถส่งมอบสินค้าได้อย่างรวดเร็ว โดยบริษัทสามารถประกอบสินค้าเรือธงอย่างปืนใหญ่ K9 howitzer สำเร็จในเวลาเพียง 180 วันเท่านั้น ซึ่งเร็วกว่าคู่แข่ง 2-3 เท่า
และด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า อาวุธของฮันอวาจึงมีราคาถูกกว่า ซึ่งปืนใหญ่ K9 มีต้นทุนประมาณ 3.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 128 ล้านบาท) หรือมีราคาเพียงครึ่งหนึ่งของ 1 ใน 3 ของราคาปืนใหญ่คู่แข่ง
ขณะที่บริษัทอาวุธอื่น ๆ ในเกาหลีใต้ก็มีข้อดีในด้านเดียวกับฮันฮวาเช่นกัน
“ลามิ คิม” อาจารย์ประจำสาขาวิชาความมั่นคงศึกษา จาก Daniel K. Inouye Asia-Pacific Centre for Security Studies ในฮาวาย บอกว่า “อาวุธในเกาหลีใต้โดดเด่นในด้านคุณภาพ และราคาถูก เมื่อเทียบกับบริษัทตัวเลือกอื่นอย่างอเมริกันและตะวันตก และมีประสิทธิภาพในด้านการจัดส่ง”
อ้างอิง: South China Morning Post