ปี 66 ทั่วโลกใช้จ่ายกลาโหมเพิ่มขึ้น 6.8% แตะ 2.44 ล้านล้านดอลล์ สหรัฐที่ 1 จีนที่ 2

ปี 66 ทั่วโลกใช้จ่ายกลาโหมเพิ่มขึ้น 6.8% แตะ 2.44 ล้านล้านดอลล์ สหรัฐที่ 1 จีนที่ 2

ทั่วโลกใช้จ่ายกลาโหมเพิ่มขึ้นในรอบ 15 ปี แตะ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่เอเชียตะวันออกใช้จ่ายกลาโหมเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 10 ปี แตะ 4.11 แสนล้านดอลลาร์ เนื่องจากความตึงเครียดระหว่างจีน - ไต้หวัน ส่วนไทยใช้จ่ายกลาโหม 5,800 ล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 38 ของโลก

รายงาน Trends in World Military Expenditure, 2023 จากสถาบันวิจัยสันติภาพระหว่างประเทศแห่งสตอกโฮล์ม (Sipri) สถาบันคลังสมองสัญชาติสวีเดน ที่เผยแพร่ในวันนี้ พบว่า การใช้จ่ายด้านกลาโหมทั่วโลก เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 15 ปี ท่ามกลางสงครามในยุโรป และตะวันออกกลาง ขณะที่เอเชียตะวันออกใช้จ่ายด้านกลาโหมมากสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งตรงกับช่วงที่เกิดความตึงเครียดจีน-ไต้หวัน

รายงานระบุว่า สงครามที่ดำเนินอยู่ในกาซาและยูเครน หนุนการใช้จ่ายทางทหารโลกเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน โดยในปี 2566 โลกใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.8% สู่ระดับ 2.443 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นปีที่งบกลาโหมเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 15 ปี และเป็นปีที่ทุกภูมิภาคเพิ่มการใช้จ่ายทางทหารในรอบ 15 ปีเช่นกัน

การใช้จ่ายทางทหารในเอเชียตะวันออกเพิ่มขึ้น 6.2% ในปี 2566 แตะระดับ 411,000 ล้านดอลลาร์

“เพื่อนบ้านจำนวนมาก รับรู้ถึงอำนาจทางทหารของจีนที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้เพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมของตนเอง” รายงาน ระบุ

การใช้จ่ายกลาโหมของจีน

รัฐบาลปักกิ่งยังคงเป็นผู้ใช้จ่ายด้านกลาโหมมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐ ซึ่ง Sipri คาดว่าจีนมีการใช้จ่ายประมาณ 296,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2566 ขณะที่สหรัฐใช้จ่ายประมาณ 916,000 ล้านดอลลาร์ 

เงินทุนทางทหารดังกล่าวทำให้งบประมาณของกองทัพปลดปล่อยประชาชนเพิ่มขึ้น 6% โดยเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 29 ติดต่อกันแล้ว

Sipri คาดการณ์การใช้จ่ายของจีนสูงกว่าที่กระทรวงการคลังระบุไว้ที่ 224,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากสถาบัน คาดการณ์การใช้จ่ายประเภทอื่นๆ ที่รัฐบาลปักกิ่งไม่ระบุรวมเป็นการใช้จ่ายด้านกลาโหมไปด้วย ซึ่งได้แก่ เงินทุนวิจัย และพัฒนาหน่วยยามฝั่งและการทหาร ซึ่ง Sipri ระบุว่า คิดเป็นค่าใช้จ่ายราว 8% ของงบประมาณทางทหารทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่จีนยังไม่เผยแพร่ตัวเลขเหล่านี้อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ การใช้จ่ายทางทหารของจีนคิดเป็นสัดส่วน 12% ของการใช้จ่ายทางทหารทั่วโลก และการใช้จ่ายกลาโหม 50% ของจีนอยู่ในภูมิภาคเอเชีย และโอเชียเนีย

การใช้จ่ายกลาโหมของไต้หวัน

ไต้หวันใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 11% ในปี 2566 สู่ระดับ 16,600 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากเกาะแห่งนี้ต้องรับมือกับภัยคุกคามจากรัฐบาลปักกิ่ง 

ไต้หวันได้จัดตั้งกองทุนนอกงบประมาณในปี 2563 และในปี 2565 ได้จัดสรรงบสำหรับเครื่องบินรบ และระบบในกองทัพเรือ โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีสัดส่วนเป็น 21% ของการใช้จ่ายทางทหารของไต้หวันในปี 2566

การใช้จ่ายกลาโหมของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นใช้จ่ายทางทหารราว 50,200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11% และถือเป็นงบประมาณที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2515 และยังถือเป็นงบสร้างกองทัพที่มากที่สุดของญี่ปุ่น นับตั้งแต่ช่วงสิ้นสุดสงครามโลก ครั้งที่ 2

งบดังกล่าวมีแผนใช้จ่ายในกองทัพ 310,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2566-2570 โดยมีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการตอบโต้การโจมตี ด้วยการลงทุนสร้างเครื่องบิน เรือ และขีปนาวุธพิสัยไกล

การใช้จ่ายกลาโหมของไทย

ประเทศไทยมีการใช้จ่ายทางทหารอยู่อันดับที่ 38 ในปี 2566 โดยมีงบประมาณใช้จ่ายอยู่ที่ 5,800 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อนหน้า 6.5% และคิดเป็น 1.2% ของผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) 

การใช้จ่ายกลาโหมประเทศอื่นๆ

ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างเกาหลีใต้ ก็ใช้จ่ายทางทหารเพิ่มขึ้น 1.1% สู่ระดับ 47,900 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ออสเตรเลียใช้จ่ายกลาโหมลดลง 1.5% สู่ระดับ 32,300 ล้านดอลลาร์

อ้างอิง: South China Morning Post

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์