'UAE' เทจีน เลือก 'สหรัฐ' ร่วมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ในยุคสมรภูมิแข่ง AI เดือด

'UAE' เทจีน เลือก 'สหรัฐ' ร่วมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ในยุคสมรภูมิแข่ง AI เดือด

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เททุนจีน เลือกเงินทุนสหรัฐ หวังพัฒนาอุตสาหกรรมเอไอ เพื่อขึ้นเป็น "ผู้เล่นระดับโลก"

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ประเทศกำลังทำงานร่วมกับสหรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาเอไอ บ่งชี้ว่ายูเออีเริ่มปลีกตัวห่างจากจีน

โอมาร์ อัล โอลามา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปัญญาประดิษฐ์ยูเออี ออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการลงทุนด้านเอไอเมื่อวันอังคาร (11 มิ.ย.67 ) หลังบริษัทรัฐวิสาหกิจ Emirati AI ได้รับเงินลงทุนก้อนใหญ่จากไมโครซอฟท์ โดยมีเงื่อนไขเสนอว่าบริษัทจะยกเลิกข้อตกลงเงินลงทุนจากจีน

“ผมคิดว่าความเป็นจริงในโลกเอไอทุกวันนี้ เราจำเป็นต้องเลือกคนที่เราจะทำงานด้วย” โอลามา ตอบ เมื่อเอเอฟพีถามถึงข้อตกลงของยูเออีกับธุรกิจเอไอจีน

“มีเรื่องต้องหารือมากมายระหว่างยูเออี และสหรัฐ เกี่ยวกับความพึงพอใจของเขาต่อสิ่งที่เราทำกับผู้เล่นอื่นๆ ทั่วโลก และสิ่งที่พวกเขาไม่สบายใจ ... แต่ในเรื่องเอไอ ผมคิดว่าจะเกิดความร่วมมืออย่างเต็มที่ระหว่างยูเออี และสหรัฐ”

เอเอฟพีรายงานว่า G42 บริษัทด้านเอไอในกรุงอาบูดาบี ที่มีชีค ทาห์นูน บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน น้องชายของประธานาธิบดียูเออี และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงนั่งประธานบริษัท ได้รับเงินลงทุนเชิงยุทธศาสตร์มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ จากไมโครซอฟท์ บริษัทเทคยักษ์สัญชาติสหรัฐ เมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา

ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส และบลูมเบิร์ก ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการหารือระหว่างรัฐบาลสหรัฐ และยูเออี ซึ่ง G42 เห็นด้วยเกี่ยวกับการยกเลิกข้อตกลงกับพันธมิตรจีน และหันไปสนับสนุนเทคโนโลยีจากสหรัฐ

‘เอไอ’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เอไอ กลายเป็นสมรภูมิรบขนาดใหญ่ระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ และจีน ขณะนี้สหรัฐกำลังเคลื่อนไหวเพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในด้านการเปลี่ยนแปลง และยับยั้งจีนไม่ให้เข้าถึงข้อมูลที่อ่อนไหว

โอลามา รัฐมนตรีวัย 34 ปี ผู้ได้เป็นรัฐมนตรีเอไอคนแรกของโลกในปี 2560 เผยว่า ยูเออี ประเทศที่กำลังลดพึ่งพาน้ำมันอย่างแข็งขัน มีความมุ่งมั่นด้านเอไอเป็นอย่างมาก

“เอไอน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในแง่ของการลงทุนของยูเออี และความมุ่งมั่นของยูเออี”

เมื่อเดือนก่อน บริษัท G42 ที่ขับเคลื่อนด้วยซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เปิดตัวฟอลคอน 2 (Falcon 2) ซึ่งเป็นโมเดลเอไอโอเพนซอร์ส เพื่อพยายามแข่งขันกับเอไอของอเมริกันอย่าง ChatGPT ของบริษัทโอเพนเอไอ

Inception บริษัทในเครือ G42 และมหาวิทยาลัยเอไอโมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด (Mohamed bin Zayed University of Artificial Intelligence) ในกรุงอาบูดาบี ยังได้ผลิต Jais โมเดลภาษาอารบิกขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพสูงที่สุดในโลกอีกด้วย

ด้านโอลามาเชื่อมั่นว่า โมเดลเอไอเหล่านั้นจะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคด้านกฎระเบียบจากสหประชาชาติ (อียู) ได้ ซึ่งอียูเพิ่งผ่านร่างกฎหมายเอไอ และมีมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลที่เข้มงวด รวมทั้งข้อมูลจากรัฐบาล และแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพ

“กฎหมายเอไอของอียูเป็นเรื่องที่ใหม่มาก เรายังคงศึกษาอยู่ เพื่อให้เข้าใจ และเห็นถึงสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ” โอลามา กล่าว

 

อุปสรรคของอุตฯเอไอยูเออี

งานระดมสมอง AI Retreat ที่จัดขึ้นในพิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต ณ เมืองดูไบ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีผู้เล่นในอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าร่วมหลายราย

โอลามา เผยว่า งานดังกล่าวมีประเด็นสำคัญคือ ยูเออีต้องการเป็นผู้เล่นระดับโลก โดยหวังว่าจะมีบริษัทเอไอหลายแห่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

เมื่อถามถึงประเด็นช่องว่างที่อาจเกิดขึ้นต่อบริษัทที่มีความสามารถในยูเออี โอลามา ตอบว่า หากมองไปที่ความคืบหน้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีบริษัทที่มีความสามารถเหลือล้นเข้ามาในยูเออีแล้ว และตนเชื่อมั่นว่าประเทศสามารถเชื่อมช่องว่างเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยูเออี ยังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อหวังทำกำไรจากดีมานด์ในตลาดชิปเอไอที่เพิ่มขึ้น

“มีการหารืออย่างแน่นอน และเราจะเพิ่มรับพันธมิตรที่คู่ควรไม่ว่าจะมาจากประเทศใด ไม่ว่าจะอยู่ในยุโรปหรือสหรัฐก็ตาม” โอลามา กล่าว

สำหรับการรับมือกับรายงานที่ว่าสหรัฐชะลอการส่งออกชิปเอไอหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย โอลามามีความหวัง และเชื่อว่ายูเออีสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาที่ตรงตามความต้องการของทุกฝ่าย

 

อ้างอิง: AFP

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์