‘อินโดฯ’ ตั้งเป้าเพิ่มหนี้ต่อจีดีพีถึง 50% ใน 5 ปี เพื่อแจกสวัสดิการประชาชน

‘อินโดฯ’ ตั้งเป้าเพิ่มหนี้ต่อจีดีพีถึง 50% ใน 5 ปี เพื่อแจกสวัสดิการประชาชน

ประธานาธิบดีคนใหม่ของ “อินโดนีเซีย” เตรียมเพิ่มอัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีของประเทศปีละ 2% ซึ่งจะทำให้หนี้สินใกล้ถึง 50% ของจีดีพีภายในวาระห้าปีของเขา เพื่อดำเนินนโยบายจัดอาหารกลางวันฟรีให้เด็ก และแผนสวัสดิการต่างๆ ตามที่สัญญาไว้กับประชาชน

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “ปราโบโว ซูเบียนโต” ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งอินโดนีเซียเตรียมทำตามคำสัญญาด้านการใช้จ่ายของเขา ด้วยการจะเพิ่ม “อัตราส่วนหนี้สิน” อย่างต่อเนื่องจนถึงระดับสูงสุดในรอบสองทศวรรษ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มอัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขึ้นปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงห้าปีข้างหน้า

แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องรายหนึ่งเปิดเผยว่า “การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะทำให้ทีมเศรษฐกิจของเขามีเวลาปรับตัวต่ออุปสรรคต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับการเพิ่มหนี้สินในคราวเดียว”

นั่นจะทำให้หนี้สินประเทศ จากประมาณ 39% ในปีนี้ ใกล้ถึง 50% ของ GDP ภายในสิ้นสุดวาระห้าปีของเขา ซึ่งอาจเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2547

การดำเนินการเช่นนี้ จะถือเป็น “การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ” สำหรับอินโดนีเซีย ซึ่งเคยพึ่งพานโยบายการคลังแบบอนุรักษนิยมที่ยึดมั่นในการจำกัดการขาดดุลงบประมาณที่ 3% ของ GDP และรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP สูงสุดที่ 60% นับตั้งแต่วิกฤติการเงินเอเชียปี 2540 (ยกเว้นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19) เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน

สำหรับอัตราหนี้สินที่ 50% ถูกมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสมที่สุดในการใช้นโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ขณะที่อัตราที่สูงกว่า 60% อาจสร้างความวิตกต่อตลาดทุนได้

อย่างไรก็ตาม อดีตนายพลปราโบโว เคยกล่าวในการสัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อเดือนที่แล้วว่า “อินโดนีเซียสามารถ ‘กล้าหาญมากขึ้น’ ในการใช้จ่ายของรัฐบาล เรามีอัตราส่วนหนี้สินต่อจีดีพีต่ำที่สุดในโลก ดังนั้นตอนนี้ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องกล้าหาญมากขึ้นภายใต้การบริหารที่ดี”

ทั้งนี้ ปราโบโวเคยให้สัญญากับประชาชนในการหาเสียงว่า จะจัดอาหารกลางวันฟรีให้เด็ก รวมถึงแผนสวัสดิการอื่นที่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 460 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) ต่อปี มากกว่าการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2566 เสียอีก

แม้ว่าเขาจะเพิ่มอัตราส่วนหนี้สินต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของอินโดนีเซียให้ถึง 50% ก็ตาม หนี้ของอินโดนีเซียก็ยังคง “ต่ำกว่า” ของเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ที่สูงกว่า 60%

ทามารา เฮนเดอร์สัน นักเศรษฐศาสตร์ประจำ Bloomberg Economics ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนหนี้สินอย่างช้าๆ จะดีกว่าการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะคุณคงไม่อยากทำให้บรรดานักลงทุนหรือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือตกใจ

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ และคุณภาพของการใช้จ่าย ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้ตลาด การเพิ่มอัตราส่วนหนี้สินนั้นจะสมเหตุสมผล ก็ต่อเมื่อใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาด ไม่ว่าการปิดช่องโหว่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเสริมสร้างทุนมนุษย์”
 

 

 

 

อ้างอิง: bloomberg

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์