‘อินโด-มาเลย์’ แซงไทยลงทุนดิจิทัล - “ไมโครซอฟท์” ลงทุนรวม 2 ประเทศ ‘แสนล้าน’

‘อินโด-มาเลย์’ แซงไทยลงทุนดิจิทัล - “ไมโครซอฟท์” ลงทุนรวม 2 ประเทศ ‘แสนล้าน’

“อินโด-มาเลย์” แซงไทยดึงเงินลงทุนดิจิทัลระดับโลก หลัง “ซีอีโอ ไมโครซอฟท์” ทัวร์อาเซียน เยือน “มาเลเซีย” ลงทุนคลาวด์-เอไอ 8.1 หมื่นล้านบาท ลงทุนอินโดฯ 6.3 หมื่นล้านบาท ส่วนไทยตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ แต่อุบเม็ดเงินลงทุน คาดดีลยังไม่จบ “บีโอไอ” เผยบิ๊กเทคร้องหาไฟสะอาด 100%

KEY

POINTS

  • ‘อินโด-มาเลย์’ วิ่งแซงไทยดึงเม็ดเงินลงทุนดิจิทัล
  • “ไมโครซอฟท์” ลงทุนรวม ‘แสนล้าน’ ยกเว้น ‘ไทย’ ยังอุบแผนลงทุน
  • รัฐบาลชี้ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ไทยอยู่เฟส 1 พร้อมเร่งหาไฟฟ้าสะอาดจูงใจ

การเดินสายทัวร์อาเซียน 3 ประเทศของ นายสัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ไมโครซอฟท์ ยังอยู่ในความสนใจ “ไทย” เป็นหนึ่งในแผนทัวร์ของไมโครซอฟท์ และได้ประกาศตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในไทย หากไม่บอกเม็ดเงินลงทุน

ขณะที่อีก 2 ประเทศทั้ง “อินโดนีเซีย มาเลเซีย” ไมโครซอฟท์ กลับประกาศเม็ดเงินลงทุน รวมถึงกรอบการทำงานและระยะเวลาลงทุนที่ชัดเจน จึงเกิดคำถามตามมาว่า ดีลการตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตัวแทนรัฐบาลไทยได้ลงนามเอ็มโอยูกับทางไมโครซอฟท์ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานเฟสแรก และยังไม่สรุปตัวเลขการลงทุน

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า วันที่ 2 พ.ค.2567 นายนาเดลลา แสดงสุนทรพจน์ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ของมาเลเซีย โดยไมโครซอฟท์เตรียมลงทุน 2,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 81,000 ล้านบาท) ตลอด 4 ปีข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของมาเลเซีย ถือเป็นเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่สุดในครั้งเดียวในรอบ 32 ปีของมาเลเซีย

‘อินโด-มาเลย์’ แซงไทยลงทุนดิจิทัล - “ไมโครซอฟท์” ลงทุนรวม 2 ประเทศ ‘แสนล้าน’ ‘อินโด-มาเลย์’ แซงไทยลงทุนดิจิทัล - “ไมโครซอฟท์” ลงทุนรวม 2 ประเทศ ‘แสนล้าน’

เงินลงทุนดังกล่าวจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเอไอและคลาวด์ในมาเลเซีย สร้างศูนย์ความเป็นเลิศด้านเอไอ และฝึกการใช้เอไอให้ชาวมาเลเซีย 200,000 คน

“เรามุ่งมั่นสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของมาเลเซีย และเพื่อให้มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมาเลเซียทุกคน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและพัฒนาทักษะ (แรงงาน) จะช่วยธุรกิจมาเลเซียชุมชนและผู้พัฒนา นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดไปใช้ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ”

นายนาเดลลา กล่าวว่า บริษัทต้องการสร้างความมั่นใจว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกในมาเลเซียทำให้ทุกองค์กร นักพัฒนาซอฟต์แวร์ทุกคนและสตาร์ตอัปทุกแห่งใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ไม่ใช่แค่พัฒนาประเทศ แต่เพื่อพัฒนาโลกและภูมิภาค

แถลงการณ์จากไมโครซอฟท์อ้างอิงผลวิจัยจากเคียร์นีย์ (Kearney) ธุรกิจที่ปรึกษาระดับโลก ว่า เอไอช่วยหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 และคาดว่ามาเลเซียจะมีสัดส่วนจีดีพี 10% จากจีดีพีภูมิภาค

ทั้งนี้ ไมโครซอฟท์เริ่มดำเนินธุรกิจในมาเลเซียเมื่อปี 2535 และขณะนี้มีพนักงานในกัวลาลัมเปอร์และรัฐปีนังมากกว่า 200 คน

นายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ยินดีกับคำมั่นจากไมโครซอฟท์ ระบุว่านี่คือเครื่องพิสูจน์ความเชื่อมั่นต่อ “ความเป็นมิตรกับนักลงทุนและเสถียรภาพทางการเมือง” ของประเทศ

“การลงทุนเหล่านี้จะเป็นแกนหลักในความมุ่งมั่นพัฒนาขีดความสามารถด้านเอไอของรัฐบาล” นายกฯ มาเลเซียกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก

ลงทุนคลาวด์เอไอ“อินโดฯ”6.3หมื่นล้าน

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายนาเดลลา ประกาศการลงทุนในอินโดนีเซีย 1,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 63,000 ล้านบาท) ในอีก 4 ปีข้างหน้า เพื่อขยายบริการคลาวด์ และเอไอ ในอินโดนีเซีย รวมทั้งการก่อสร้างศูนย์ข้อมูล โดยระบุว่า การลงทุนของไมโครซอฟท์จะนำ “โครงสร้างพื้นฐานเอไอที่ใหญ่ที่สุด และใหม่ที่สุดมาสู่อินโดนีเซีย”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กรุงจาการ์ตาเป็นสถานที่แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นาเดลลาเดินทางไปเยือน โดยมีเป้าหมายเพื่อโปรโมตเทคโนโลยีเอไอเชิงรู้สร้าง (generative AI)

ก่อนหน้านี้ ไมโครซอฟท์เผยว่าบริษัทจะฝึกผู้คน 2.5 ล้านคน ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการใช้เอไอ ภายในปี 2568 ซึ่งรวมถึงผู้คนในอินโดนีเซีย 840,000 คน

นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์พยายามขยายการสนับสนุนด้านการพัฒนาเอไอไปทั่วโลก รวมถึงลงทุน 2,900 ล้านดอลลาร์ในธุรกิจคลาวด์ และโครงสร้างพื้นฐานเอไอในญี่ปุ่น และลงทุนทำธุรกิจเอไอ G42 มูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

‘ไทย’ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์แต่อุบเงินลงทุน

ขณะที่ในไทย ​นายนาเดลลา ประกาศแผนตั้งศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้น พร้อมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน “คลาวด์ -AI” รวมทั้งเสริมสร้างทักษะด้าน AI ให้บุคลากรไทย 100,000 คน แต่ไม่บอกเม็ดเงินลงทุนที่ชัดเจนเหมือนในมาเลเซียและอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และไมโครซอฟท์ ครั้งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ชวนไมโครซอฟท์มาลงทุนในไทย โดยเป็นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับไทยสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI)

ย้อน ‘เอ็มโอยู’ ไทยไมโครซอฟท์

ก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการพูดคุยและสัญญาระหว่างผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่าจะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ไทย ซึ่งการทำงานร่วมกันจากนี้มีหลายเรื่องรวมถึงการนำคลาวด์และเอไอมายกระดับประสิทธิภาพระบบงานภาครัฐ เดินหน้าสู่อีกอฟเวอร์เมนท์ และพัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์

รวมถึงผลักดันให้เกิดการใช้งานเอไอเป็นรูปธรรมในหน่วยงานต่างๆ และต้องทำควบคู่กันกับการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะด้านเอไอ ทั้งจะแบ่งปันความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกันและต่อยอด

อย่างไรก็ตาม เอ็มโอยูดังกล่าว มีขอบเขตที่กว้างมาก แต่ระยะสั้นที่จะเห็นก่อนเฟสแรก คือ การตั้ง “AI Center of Excellence” ศูนย์กลางในการขับเคลื่อนและประสานงาน เพื่อนำเอไอไปใช้กับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดประโยชน์กับประชาชน และการบริการภาครัฐที่กำลังคัดกรองกรมและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเริ่มต้นทำงานร่วมกันในโครงการต้นแบบ

ส่วนแผนการลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในไทยอยู่ระหว่างนำเสนอและหารือเงื่อนไข ซึ่งไมโครซอฟท์ระบุครั้งนั้นว่าต้องสอดคล้องเป้าหมายความยั่งยืนของไมโครซอฟท์ ที่ตั้งเป้าภายในปี 2025 ดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทต้องดำเนินการด้วยพลังงานหมุนเวียน

รวมถึงข้อเสนอและสิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่ต้องหรือรายละเอียด โดยเฟสแรกจะหารือเงื่อนไขและจัดลำดับความสำคัญของงาน หลังจากนั้นเฟส 2 เดินหน้าสู่การโรลเอาท์ ผลักดันสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม

วงในเผยดีลไมโครซอฟท์ยังอยู่เฟสแรก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เผยว่า การประกาศลงทุนของไมโครซอฟท์ ในประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทั้ง 2 ประเทศได้ประกาศเอาไว้นานมากแล้วว่าจะมี ดาต้าเซ็นเตอร์ แต่ใช้เวลา “หลายปี” กว่าจะประกาศตัวเลขการลงทุน ในขณะที่ ประเทศไทยไมโครซอฟท์ไม่เคยประกาศเลยว่า จะลงทุน แต่วันนี้รัฐบาลใช้เวลาจาก 0 ถึงประกาศว่าจะมีภายในระยะเวลา 8 เดือนของการเจรจา

“แน่นอน เราอยู่ในเฟสแรก เพื่อนบ้านเขาใช้เวลาช่วงที่ไทยเราแช่แข็งในการคุยเจรจา เหมือนที่นายกฯ กล่าวว่า เราไม่ได้ไปค้าขายมานับสิบปี ที่สำคัญวันนี้นายกฯ เศรษฐาประกาศ Cloud first policy ชัดเจน ภาครัฐจะไม่ซื้อเซิร์ฟเวอร์ แต่ต้องใช้คลาวด์แทนเพื่อลดต้นทุนภาครัฐ และทำให้เรามีบริการดีขึ้น ดังนั้นทั้ง เอดับบลิวเอส ไมโครซอฟท์ รวมถึงรายอื่นต้องแข่งกันมาตั้งศูนย์ในไทย หากจะให้บริการกับไทย อย่ามองว่าไทยไม่มีศักยภาพ ที่ผ่านมาเราอาจจะเริ่มออกเดินช้าเพราะหยุดนิ่งมานาน” แหล่งข่าว กล่าว

บิ๊กเทคร้องขอใช้ไฟสะอาด 100%

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า กลไกการดึงนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญขณะนี้กระทรวงพลังงานร่วมกับสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff: UGT) ซึ่งเป็นอาวุธใหม่ให้ไทยดึงการลงทุน โดยบริษัทชั้นนำที่หารือกับรัฐบาลมีคำถามว่าไทยมีพลังงานสะอาดพอหรือไม่ และต้องเป็นพลังงานสะอาด 100%

ทั้งนี้ บริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์อย่าง อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส, กูเกิล และไมโครซอฟท์ ต่างต้องการพลังงานสะอาด 100% ที่ไม่ใช่แค่จากบริษัทที่ได้รับการการันตีเท่านั้น แต่ต้องยืนยันแหล่งที่มาของพลังงานได้ และต้องเป็นพลังงานใหม่เท่านั้น จึงเป็นที่มาของ UGT ที่รัฐบาลเร่งดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม UGT1 เป็นกลไกที่ค้างอยู่ในปัจจุบัน โดยจะไม่เจาะจงแหล่งที่มา แต่ UGT 2 จะเป็นอาวุธใหม่ดึงการลงทุนจากบริษัทชั้นนำ เป็นกลไกที่ระบุผู้ผลิตได้ เป็นแหล่งใหม่ของพลังงานหมุนเวียน กลไกนี้เตรียมการประกาศราคา โดยราคาที่ประชาพิจารณ์อยู่ที่ 4.55 บาทต่อหน่วย ซึ่งเอกชนบอกว่ายังสูงเกินไป ขณะนี้ กกพ.อยู่ระหว่างพิจารณา โดยจะพร้อมใช้ได้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า

คาด2-3 เดือน พร้อมเปิดขายไฟสะอาด

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า สำนักงาน กกพ.เดินหน้าไฟสะอาดเพื่อกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว UGT ซึ่งผู้ผลิตที่เลือกใช้ไฟฟ้าสีเขียวจะได้ใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC)

ขณะนี้ค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ซื้อที่ไม่เจาะจงโรงไฟฟ้า (UGT1) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมประกาศรับซื้อ โดยกำลังร่างสัญญาซื้อขายไฟเพื่อส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบให้เรียบร้อยก่อนเปิดรับซื้อ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน

สำหรับค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ซื้อที่เจาะจงโรงไฟฟ้า (UGT2) กฟผ.อยู่ระหว่างปรับแรงดัน เพราะต้องแยกแรงดันเดิมทีใช้แรงดันเดียวรวมกันหมด ดังนั้น เมื่อแยกแรงดันเสร็จต้องส่งมาให้ กกพ.เห็นชอบเพื่อทำสัญญาซื้อขายใหม่ตามขั้นตอนเดียวกับ UGT1

ส่วนราคาซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากแยกแรงดันเสร็จราคาอาจขึ้นหรือลงขึ้นกับแรงดันที่แยก ยิ่งแรงดันสูงอาจจะถูกกว่าแรงดันต่ำ ดังนั้น จะต้องรอดูการแยกแรงดันของ กฟผ.อีกครั้ง

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับแหล่งที่มาของไฟฟ้าสีเขียว UGT 2 คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าในโครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 โดยผู้มีสิทธิ์ซื้อไฟฟ้า คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 4 , 5 หรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยสัญญาซื้อไฟฟ้ามีอายุ 10 ปี ซึ่งการซื้อไฟฟ้าสีเขียวดังกล่าวผู้ซื้อจะได้รับใบรับรอง REC ที่ออกโดยการไฟฟ้าที่ลูกค้าไปซื้อ

ปัจจุบัน กกพ.เตรียมความพร้อมจัดหาไฟฟ้าสีเขียว UGT2 โดยกำหนดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ได้รับคัดเลือกจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) เข้าสู่ระบบกว่า 4,800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 และอยู่ระหว่างขั้นตอนการเปิดรับซื้ออีก 3,668.5 เมกะวัตต์