เปิดปมฉาว ‘Family Office’ ในสิงคโปร์ ถูกใช้ฟอกเงินให้อาชญากรอย่างไร

เปิดปมฉาว ‘Family Office’ ในสิงคโปร์ ถูกใช้ฟอกเงินให้อาชญากรอย่างไร

เปิดเบื้องหลังภาพลักษณ์อันหรูหราของ “Family Office” ที่ดูแลสินทรัพย์เหล่าเศรษฐีในสิงคโปร์ กลับแฝงเงาฉาวฟอกเงิน ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนความลับและไม่ต้องเผยข้อมูลต่อสาธารณะ จนบ่อนทำลายชื่อเสียงศูนย์กลางการเงินเอเชียนี้จนด่างพร้อย

KEY

POINTS

  • “Family Office” หรือสำนักงานครอบครัว เป็นบริษัทที่ให้บริการ “ดูแลสินทรัพย์” ครอบครัวเศรษฐี ตั้งแต่ปัญหาการแบ่งสมบัติ วางแผนภาษี การลงทุนสินทรัพย์ ฯลฯ
  • การตั้ง Family Office เริ่มต้นไม่ยาก ความมั่งคั่งของผู้ก่อตั้งมักเป็นข้อมูลส่วนตัว อีกทั้งการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ก็ทำได้ยาก
  • “ทวีปเอเชีย” กลายเป็นแหล่งกำเนิด “Family Office ปลอม” มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยถูกใช้ซ่อนเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย ไม่ให้ถูกตรวจสอบและถูกยึด

ชื่อเสียงทางการเงิน “สิงคโปร์” สะเทือน เมื่อมีการเปิดโปง “คดีฟอกเงิน” สุดอื้อฉาวขึ้น มูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มอาชญากรจีนใช้ "Family Office" เป็นเครื่องมือฟอกเงินจากธุรกิจการพนันออนไลน์ผ่านสถาบันการเงินในสิงคโปร์ถึง 16 แห่ง นานหลายปีก่อนที่จะถูกจับกุม จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า Family Office คืออะไร และถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินได้อย่างไร

สำหรับ “Family Office” หรือสำนักงานครอบครัว เป็นบริษัทที่ให้บริการ “ดูแลสินทรัพย์” ของครอบครัวเศรษฐี ตั้งแต่ปัญหาไม่รู้ว่าจะแบ่งสมบัติให้ทายาทอย่างไร แยกสินทรัพย์บริษัทกับสินทรัพย์ส่วนตัวลำบาก มีปัญหาในการวางแผนภาษี สินทรัพย์มหาศาลนี้ควรนำไปลงทุนที่ไหน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้ Family Office ช่วยดำเนินการแทนได้ คล้ายกับเลขาส่วนตัวทางการเงิน

ด้วยการที่ Family Offices เป็นหน่วยงานส่วนบุคคลที่ดำเนินธุรกรรมโดยไม่ต้องถูกตรวจสอบมากนักจากรัฐบาล เมื่อเทียบกับธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ความเป็นส่วนตัวนี้เอง จึงดึงดูดอาชญากรที่ต้องการซ่อนแหล่งที่มาของเงิน

อีกทั้ง Family Offices ยังบริหารสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับกองทรัสต์ มูลนิธิต่าง ๆ และมีเครื่องมือการลงทุนมากมาย ความซับซ้อนเหล่านี้อาจบดบังแหล่งที่มาและเจ้าของเงินทุน ทำให้การติดตามกิจกรรมผิดกฎหมายกลายเป็นเรื่องยาก

เปิดปมฉาว ‘Family Office’ ในสิงคโปร์ ถูกใช้ฟอกเงินให้อาชญากรอย่างไร - เงินสกปรกที่ถูกฟอกในสิงคโปร์ (เครดิต: Singapore Police Force) -

Family Office เถื่อนระบาดในเอเชีย แหล่งฟอกเงินทุนสกปรก

ในปัจจุบัน "ทวีปเอเชีย" กลายเป็นแหล่งกำเนิด "Family Office ปลอม" ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ Family Office เหล่านี้ไม่ได้ทำหน้าที่บริหารความมั่งคั่งให้ครอบครัวอย่างถูกต้อง แต่มุ่งมั่นหาวิธีซ่อนเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย ไม่ให้ถูกตรวจสอบและถูกยึด

ปรากฏการณ์นี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เมื่อทางการจีนได้ปราบปราม "ผู้มีอิทธิพล" ในประเทศอย่างจริงจังและจัดระเบียบความรวย เหล่าเศรษฐีทั่วไป และโดยเฉพาะ "ทุนจีนสีเทา" ต่างเร่งรีบขนย้ายสินทรัพย์มหาศาลออกนอกประเทศ หรือแม้แต่ขนไปฮ่องกงซึ่งเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากกว่า

แต่หลังจากที่ฮ่องกงผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา การเข้าออกของทุนก็ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด

ด้วยเหตุนี้ เหล่าทุนจีนสีเทาจึงเบนเข็มไปที่ “สิงคโปร์” แทน ประเทศที่มีเสรีทางการเงินสูงและมีนโยบายปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ฝากเงินอย่างเข้มข้น

สิงคโปร์ สวรรค์แห่งการซุกเงินร้อน

ที่ผ่านมา ด้วยความเป็นประเทศที่แทบไม่มีทรัพยากรเป็นของตัวเอง สิงคโปร์จึงพยายามเร่งดึงดูดเงินทุนเศรษฐี ด้วยการยกเว้นภาษี Family Office และทำให้การขอวีซ่าง่ายขึ้น จนทำให้เรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) ผู้ก่อตั้งกองทุน Bridgewater เจมส์ ไดสัน (James Dyson) ผู้ก่อตั้งบริษัทเครื่องดูดฝุ่น Dyson และ เซอร์เกย์ บริน (Sergey Brin) ผู้ร่วมก่อตั้ง Google หันมาเปิด Family Office ในสิงคโปร์ เพื่อใช้ประโยชน์จากนโยบายภาษีที่เป็นมิตร แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นสวรรค์ของอาชญากรที่ฟอกเงินผ่าน Family Office นี้

"การตั้ง Family Office เริ่มต้นไม่ยาก ความมั่งคั่งของผู้ก่อตั้งมักเป็นข้อมูลส่วนตัว อีกทั้งการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) ก็ทำได้ยาก จึงมีโอกาสที่จะเกิดการแสดงข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการหลอกลวงได้" โจ เฉียว (Joe Qiao) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของ Globaltec Capital ซึ่งเป็น Family Office ของครอบครัวตระกูลเย่ แห่งบริษัทออกแบบชิป Realtek ในไต้หวันกล่าว

ในสิงคโปร์ Family Office หลายแห่งที่ได้รับการยกเว้นภาษี มีความพัวพันกับคดีฟอกเงินมูลค่า กว่า 80,000 ล้านบาทดังกล่าว โดยผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการเงินเล่าว่า กลลวงนี้มีรูปแบบมากมาย ในบางกรณี พวกมิจฉาชีพเหล่านี้จะโอ้อวดเกินจริงเกี่ยวกับบทบาทของตัวเองในสำนักงานครอบครัวที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้เข้าถึงง่ายและสร้างความไว้วางใจ และในบางครั้ง พวกเขาก็ตั้งบริษัทใหม่ที่มีเงินทุนสนับสนุนน้อยมาก เรียกได้ว่า เล่นสวมรอยเป็นผู้บริหาร Family Office ซึ่งมีที่มาความมั่งคั่งอันคลุมเครือ

ฟรังคัวซ์ โบธา (Francois Botha) ผู้ก่อตั้งบริษัท Simple ในเดนมาร์ก ซึ่งให้บริการสำนักงานครอบครัว กล่าวว่า "อุตสาหกรรมนี้มีโอกาสเกิดการฉ้อฉล เนื่องจากสร้างขึ้นบนความลับ ที่ไม่มีใครตรวจสอบคุณสมบัติ และค่อนข้างขาดการตรวจสอบความน่าเชื่อถือ"

เปิดปมฉาว ‘Family Office’ ในสิงคโปร์ ถูกใช้ฟอกเงินให้อาชญากรอย่างไร - สินทรัพย์ที่ Family Office เถื่อนใช้ฟอกเงินในสิงคโปร์ (เครดิต: Singapore Police Force) -

ไม่จำเป็นต้องเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

แม้ว่า Family Office ดูแลเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก แต่โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วนี้ไม่มีข้อกำหนดเรื่องใบอนุญาตหรือกฎระเบียบใด ๆ และยังไม่มีการบังคับให้บริษัทเหล่านี้ต้องจดทะเบียนข้อมูลต่อสาธารณะด้วย

โดยทั่วไป ครอบครัวผู้มั่งคั่งส่วนใหญ่ไม่อยากให้ข้อมูลของตนเองถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ยิ่งมีเงินมาก ก็ยิ่งไม่อยากอยู่ในทะเบียน ดังนั้นจึงค่อนข้างยากที่จะระบุจำนวนที่แท้จริงของ Family Office

นอกจากนั้น เหล่าอาชญากรได้ใช้สำนักงานครอบครัวช่วยตั้งบริษัทเปลือกหอย (Shell Company) ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ประกอบธุรกิจจริง แต่ใช้เป็นแหล่งแปลงเงินผิดกฎหมายให้ขาวสะอาดขึ้น

เหล่านี้คือเรื่องราวของ “Family Office” ซึ่งตามหลักแล้วไม่ได้ใช้เพื่อฟอกเงิน โดย Family Office ที่ถูกต้องตามกฎหมายเปรียบเสมือนมือขวาที่คอยบริหารความมั่งคั่งให้กับครอบครัวเศรษฐี วางแผนภาษี ไปจนถึงการดูแลเรื่องมรดก

ทว่า ด้วยความเป็นส่วนตัวสูงและกำกับดูแลน้อยกว่าสถาบันการเงินทั่วไป Family Office จึงกลายเป็นจุดอ่อนที่เหล่ามิจฉาชีพจ้องใช้ มองเห็นโอกาสฟอกเงินผ่านกลไกที่ซับซ้อน ยากต่อการตรวจสอบ

ดังกรณีอื้อฉาวในสิงคโปร์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงอันตรายแฝงเร้นนี้ได้เป็นอย่างดี เครือข่าย Family Office ที่ถูกใช้ฟอกเงินมหาศาล ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ เหตุการณ์นี้จึงเป็น “บทเรียนราคาแพง” ที่ตอกย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มการกำกับดูแล Family Office ให้มากขึ้น

อ้างอิง: nikkeibloombergforbesafr